posttoday

ห่วง คสช.สืบทอดอำนาจ หลังเลือกตั้งสังคมไร้สุข

14 ธันวาคม 2560

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ได้จัดรับฟังความคิดเห็นร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ได้จัดรับฟังความคิดเห็นร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ที่สภาพัฒนาการเมือง ศูนย์ราชการถนนแจ้งวัฒนะ กทม. โดยผู้ร่วมอภิปรายได้แสดงความเป็นห่วงว่า ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะแทรกแซงการเลือกตั้งเพื่อหวังสืบทอดอำนาจต่อไป ทำให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นไม่โปร่งใสบริสุทธิ์ยุติธรรม

"สมชัย ศรีสุทธิยากร" กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวแสดงความคิดเห็นตอนหนึ่งว่า ประชาธิปไตยที่ดีต้องมีการเลือกตั้งที่ดี แต่กติกาที่ออกแบบใหม่ยากที่จะทำให้เกิดผลสำเร็จในการเลือกตั้ง และในการเลือกตั้งทุกครั้งมีการใช้อำนาจเงิน อิทธิพลและอำนาจรัฐ แต่ในการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ ขอวิเคราะห์ว่าอำนาจอิทธิพลลดน้อยถอยลง เจ้าพ่อเจ้าแม่ในพื้นที่ วันนี้ลงเลือกตั้งก็แพ้ เพราะเป็นสังคมเมืองเพิ่มขึ้น ส่วนอำนาจเงินไม่ใช่อำนาจชี้ขาดทั้งหมด ไม่มีคนไม่ซื้อเสียง แต่ไม่ได้ชนะเสมอไป

ในขณะที่อำนาจรัฐ เป็นอำนาจที่น่ากลัวที่สุด อาศัยความได้เปรียบในการทำให้ตนเองชนะ ถ้ารัฐบาลชุดนี้ไม่เอาตัวเองไปวางแผนสืบทอดอำนาจ การเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นการเลือกตั้งที่ดี แต่หากเอาตัวไปสนับสนุนพรรคใดพรรคหนึ่ง ต้องจัดตั้งรัฐบาลใหม่ นี่คือสิ่งที่น่ากลัว อำนาจจะถูกถ่ายทอดผ่านข้าราชการ โครงการ การใช้สื่อของรัฐ ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ

"ถ้า กกต.มองว่าเป็นคนของเขา เป็นหน้าห้อง เป็นทนายความของเขา จะน่าห่วงว่า กกต.จะทำงานได้เต็มที่หรือไม่" สมชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม "สมชัย" ออกตัวว่าไม่เคยรังเกียจพรรคทหาร แต่สุดท้ายที่สำคัญคือแฟร์เกมมีหรือไม่ ถ้าไม่แฟร์ปลดล็อกเมื่อไหร่ไม่เคยบอก รอจังหวะที่ตนเองพร้อม ฝ่ายอื่นเตรียมการไม่ทัน ถามว่าแฟร์เกมหรือไม่ ถ้ามีการใช้อำนาจรัฐอย่างไม่เป็นธรรม ก็อย่าหวังว่าสังคมหลังการเลือกตั้งจะสุขสงบได้ และทำให้การปฏิรูปเกิดขึ้นอย่างแท้จริง วันนี้รีบแก้ไขยังทัน

สมชัย ได้สรุปว่าการปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้ คณะกรรมการฯ ควรคิดและทำให้เกิดขึ้นในวันนี้ อะไรที่เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง คณะกรรมการฯ ต้องกล้าที่จะบอกกับสังคม

ทั้งนี้ เห็นว่ามี 6 เรื่องด้วยกัน คือ 1.ต้องกล้าที่จะบอกให้มีการปลดล็อกพรรคการเมือง ไม่ใช่ไปปลดล็อกในช่วงใกล้ 150 วันที่ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ 2.อะไรที่ไม่ถูกต้องในหลักการปฏิบัติของบ้านเมืองต้องชี้ให้สังคมเห็น เช่น การลงคะแนนเลือกบุคคลที่สมควรเป็น กกต.ในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ไม่เป็นไปตามกฎหมายที่ให้ลงคะแนนแบบเปิดเผย

3.หากประชาชนมีความสงสัยในพฤติกรรมจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องให้บุคคลนั้นชี้แจงต่อประชาชน ไม่ใช่เพิกเฉยแล้วอ้างเพียงแต่ว่าจะไปชี้แจงกับ ป.ป.ช.เอง 4.การโหวตใน สนช.ที่ผ่านมาเป็นการลงมติเป็นเอกฉันท์ ทั้งที่ได้รับข้อมูลใหม่ แสดงให้เห็นว่ามีการล็อกกันไว้ มีการโหวตตามใบสั่ง จึงควรเสนอให้พูดด้วยเหตุผลและลงมติโดยอิสระ

5.กลไกการคัดเลือก สว. 200 คนของ คสช.ในอนาคต ควรจะมีหลักประกันว่าจะได้คนดีมีความรู้ ไม่ใช่การตอบแทนทางการเมือง หรือเป็นขนมหวาน เป็นรางวัล ให้กับคนที่ไม่ออกมาวิจารณ์รัฐบาล หรือคนที่พูดเชียร์รัฐบาล และ 6.ในวันที่ 13 ธ.ค. ทาง สนช.จะมีการพิจารณาให้ความเห็นชอบว่าที่ กกต. 7 คน โดยปกติต้องมีการตั้งกรรมาธิการตรวจสอบประวัติ แต่ถ้ามีการลงมติ 3 วาระรวดนั้น ก็ไม่ใช่การปฏิรูป ดังนั้น เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง ต้องประกาศว่าไม่ถูกต้องและแสดงจุดยืนด้วยการลาออก

ขณะที่ "ศุภชัย ใจสมุทร" รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า การเลือกตั้งในระยะใกล้มีสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือกฎหมายไม่อำนวยความสะดวก ดู กกต.ชุดใหม่แล้วเป็นห่วงเรื่องความเป็นกลาง ทั้งที่มีคนดีๆ จำนวนมากสมัครแล้วขาดคุณสมบัติ เหตุที่เขาเลือกมาน่าห่วงว่าจะมีการสืบทอดอำนาจตั้งพรรคการเมืองเองหรือไม่ ไม่นานก็ได้รู้กัน เพราะที่ผ่านมาก็เห็นการไปทาบทามพรรคการเมือง แล้วก็มีคนมาเป็นรัฐมนตรีจากการปรับ ครม.

"เขาตั้งข้อสงสัยว่าที่ไม่ปลดล็อกการเมืองก็เพราะท่านกำลังเตรียมการรอบางอย่าง ซึ่งทำให้พรรคการเมืองเสียหาย" ศุภชัย กล่าว

ด้าน "สุริยะใส กตะศิลา" แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มองว่าสภาวะเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจะนำประเทศไทยไปสู่ประชาธิปไตยครึ่งใบ โดยมีการใช้ภาวะที่ประชาชนผวากับนักการเมืองมาล้อมกรอบการเคลื่อนไหวของประชาชน และเชื่อว่าในอนาคตจะเกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐที่ลุกลามมากขึ้น

พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก อดีต สปช. แสดงความเห็นว่า ที่กลัวนายกฯ คนนอกไม่ต้องกลัว พรรคการเมืองรวมกันสี่ห้าพรรคก็เลือกนายกฯ กันเองได้แล้ว

"ที่เขาเขียนไว้เพราะกลัวท่านเลือกไม่ได้ เพราะตั้งแต่ปี 2540 มาแล้ว นักการเมืองขัดแย้งมาอย่างหนัก เรื่องบัตรใบเดียวที่กลัวเป็นปัญหาก็อย่าห่วง เพราะมันเป็นข้อดีที่ทำให้ทุกเสียงมีความหมาย แต่ทั้งหมดนี้เกิดจากความล้มเหลวในสิ่งที่ผ่านมา ยังไงท่านก็ต้องทำตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และวิธีที่จะอยู่รอดนั้น ทั้งหมดอยู่ที่ประชาชน" พล.อ.ฐิติวัจน์ ระบุ