posttoday

อียูฟื้นสัมพันธ์ไทย แรงบีบปลดล็อกการเมือง

13 ธันวาคม 2560

กลายเป็นข่าวใหญ่เมื่ออียูประจำประเทศไทยตกลงที่จะปรับความสัมพันธ์ด้านการเมืองกับประเทศไทยรวมไปถึงด้านสิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐานและแผนการดำเนินงานสู่ประชาธิปไตย

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

กลายเป็นข่าวใหญ่เมื่อ European Union in Thailand หรืออียูประจำประเทศไทย เผยแพร่ข่าวสารว่าคณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป (อียู) ตกลงที่จะปรับความสัมพันธ์ด้านการเมืองกับประเทศไทยรวมไปถึงด้านสิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐานและแผนการดำเนินงานสู่ประชาธิปไตย

ด้านหนึ่งย่อมเป็นผลดีกับประเทศไทยในยุคที่บ้านเมืองกำลังเดินหน้ากลับสู่สถานการณ์ปกติ หลังจากรัฐประหารวันที่ 22 พ.ค. 2557 จนทำให้สายสัมพันธ์กับนานาชาติต้อง สั่นคลอนชะงักงันมายาวนาน พานกระทบต่อไปถึงการค้า การลงทุน วกกลับมาซ้ำเติมสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาต่อเนื่อง

การฟื้นคืนความสัมพันธ์กับอียูย่อมทำให้ไทยกลับมามีตัวตนเป็น ที่ยอมรับในเวทีโลก อันจะส่งผลดี ไม่เฉพาะด้านเศรษฐกิจ แต่ยังรวมไปถึงด้านอื่นๆ ทั้งสิทธิ เสรีภาพที่จะได้รับการยอมรับดังเดิม

แต่ทว่ารายละเอียดไปสู่จุดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ดังจะเห็นว่าผลสรุปการประชุมของคณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรปเกี่ยวกับประเทศไทย (Council Conclusions on Thailand) เมื่อวันจันทร์ที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีรายละเอียดที่เป็นเงื่อนไขสำคัญหลายเรื่อง

เริ่มจากคณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป ยังคงยืนยันถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทย คณะรัฐมนตรีฯ เล็งเห็นถึงคุณค่าของบทบาทที่ประเทศไทยมีในฐานะประเทศผู้ประสานการเจรจาและสนับสนุนการขยายความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศ อียู-อาเซียน (EU-ASEAN Dialogue Relations) ในปัจจุบัน

แต่ในข้อ 2 "คณะรัฐมนตรีขอย้ำถึงข้อเรียกร้องให้ประเทศไทยมีการคืนสู่กระบวนการทางด้านประชาธิปไตยอย่างเร่งด่วนที่สุด โดยผ่านการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือและมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย รวมถึงความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน"

3.คณะรัฐมนตรียังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสิทธิทางการเมือง สิทธิพลเมือง และเสรีภาพ ซึ่งได้ถูกลิดรอนไปอย่างรุนแรงในประเทศไทยหลังจากการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2557 เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมยังคงถูกจำกัดอยู่เป็นอย่างมาก ผ่านกฎหมายและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลายฉบับ นอกจากนี้นักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนยังคงเผชิญกับการคุกคามทางกฎหมาย

คณะรัฐมนตรีตอกย้ำถึงความสำคัญของเสรีภาพขั้นพื้นฐานดังกล่าวที่ต้องได้รับการฟื้นฟูขณะที่ประเทศไทยดำเนินการไปสู่ประชาธิปไตย และขอย้ำถึงความสำคัญของเสรีภาพขั้น พื้นฐานดังกล่าว ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับบทบาทของภาคประชาสังคมในระบอบประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้สหภาพยุโรปจะยังคงสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนต่อไป

4.คณะรัฐมนตรีส่งเสริมให้ผู้มีอำนาจของไทยดำเนินการตามข้อเสนอแนะที่ประเทศไทยได้ให้คำมั่นระหว่างการทบทวนรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายใต้กลไก UPR (Universal Periodic Review) ครั้งที่สองของประเทศไทย (พ.ค. 2016)

ประเด็นเหล่านี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่ทางรัฐบาล คสช.ต้องนำไปปรับปรุง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะตลอด 3 ปีที่ผ่านมาประเด็นนี้เป็น "จุดอ่อน" ที่ถูกรุมถล่มอย่างรุนแรง การจะเดินหน้าไปสู่จุดที่ทำให้สหภาพยุโรปยอมรับได้นั้นต้องแก้ไขปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิในหลายพื้นที่

เหล่านี้ล้วนแต่เป็นเงื่อนไขที่รัฐบาล คสช.พยายามปรับแก้ ดังจะเห็นว่าหลายเรื่องที่ไทยมีปัญหา รัฐบาล คสช.ได้ดำเนินการปรับแก้ ผลงานสำคัญ คือ เรื่องการแก้ไขปัญหามาตรฐานด้านการบิน หลังจากหน่วยงานด้านการบินของไทยถูก "องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)" ปลดธงแดงจนพ้นแบล็กลิสต์

ต่อด้วยความพยายามแก้ปัญหามาตรการการจัดระเบียบด้านประมง ที่อียูมองว่าการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ ไอยูยู

แต่อีกเงื่อนไขสำคัญคือการเดินหน้าสู่การเลือกตั้งที่ทางอียูจับตาดูความคืบหน้าหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และจะต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นภายใน 150 วัน หลังจากมีการประกาศใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จำเป็น 4 ฉบับ ซึ่งกำลังเดินหน้าไปตามกระบวนการ

"คณะรัฐมนตรียอมรับแถลงการณ์ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2560 ซึ่งระบุว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะมีขึ้นในเดือน พ.ย. 2561

คณะรัฐมนตรีเรียกร้องให้มีการประกาศใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เหลืออยู่อย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และให้เคารพกำหนดการการจัดการเลือกตั้งตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ"

สอดรับกับกระแสเรียกร้องของฝ่ายการเมืองที่ต้องการให้ คสช.ปลดล็อกคำสั่งเพื่อเปิดทางให้พรรคการเมืองสามารถเดินหน้าจัดกิจกรรมทางการเมือง อันเกี่ยวข้องกับกระบวนการเตรียมความพร้อม ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว

แต่ คสช.ยังไม่มีท่าทีตอบรับยอมผ่อนปรนแต่อย่างไร ทั้งที่พรรคการเมืองต้องดำเนินการหลายเรื่อง เช่น เรื่องการเปลี่ยนแปลงสมาชิกที่มีกรอบที่จะต้องทำให้เสร็จภายในวันที่ 5 ม.ค. จนมีบางฝ่ายเตรียมยื่นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอขยายเวลา หลัง คสช.ยังไม่ปลดล็อก

สุดท้ายแรงบีบจากอียูอาจเป็นปัจจัยที่จะกระตุ้นให้ คสช.ต้องเร่งดำเนินการปลดล็อก n