posttoday

เอกซเรย์ 7 ว่าที่กกต. พิสูจน์ความเป็นกลาง

09 ธันวาคม 2560

กลายเป็นประเด็นให้ถูกจับจ้อง ภายหลังปรากฏ 7 รายชื่อว่าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ชุดใหม่ออกมา

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

กลายเป็นประเด็นให้ถูกจับจ้อง ณ เวลานี้ ภายหลังปรากฏ 7 รายชื่อว่าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ชุดใหม่ออกมา ประกอบด้วย เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ ที่ปรึกษากฎหมาย บริษัท วรวิสิฏฐ์ และหัวหน้าสำนักงานกฎหมายสุธีรชาติ และ ประชา เตรัตน์อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และอดีต ผวจ.นราธิวาส ชลบุรี และสุราษฎร์ธานี

ขณะที่ในส่วนของศาลฎีกา ประกอบด้วย ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และ ปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา เพื่อทำหน้าที่ควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นกลาง

ทว่ากลับถูกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากภาคการเมืองถึงความไม่เหมาะสม

เริ่มจาก วัชระ เพชรทอง อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งออกมาพูดถึงประเด็นดังกล่าว โดยเปรียบเปรยถึงรายชื่อที่ปรากฏ เทียบกับเด็กชงกาแฟหน้าห้องไปอยู่ในองค์กรต่างๆ หรือให้เข้าใจง่ายเสมือนคนสั่งได้ เว้นเสียแต่ศาลยุติธรรมทำให้ภาพรวมไม่ต่างอะไรจากระบอบทักษิณแม้แต่น้อย

"ถ้าเล่นพรรคพวกกันเช่นนี้ ประชาชนเห็นก็เสื่อมศรัทธาแล้ว ผมขอเตือนว่าที่กรรมการ กกต.บางท่านแต่เนิ่นๆ ว่า อย่าคิดว่าทำอะไรไม่มีใครรู้ใครเห็น ถ้าใครรับใบสั่ง คสช. หรือจิตอคติ ไม่ยุติธรรม มีผลประโยชน์แอบแฝง ขอให้ดู กกต.ชุด พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ เป็นตัวอย่าง"

สำทับด้วย วัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวที่ออกมาตั้งข้อสังเกตต่อประเด็นดังกล่าวโดยมีใจความสำคัญ อาทิ คนแรกเป็นอาจารย์ที่เคยขึ้นเวทีกลุ่มพันธมิตรฯ ส่วนอีกคน คสช.เคยแต่งตั้งให้เป็น สปช. ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งทางการเมือง และยังเป็นคณะทำงานของ มท.1

ขณะที่อีกคนหนึ่งเคยเป็นทนายความให้อดีตนายตำรวจใหญ่ที่พี่ชายเป็น คสช. ทั้งหมดคือความเสื่อมที่ คสช.สร้างขึ้น อันจะนำประเทศไปสู่ทางตัน อยากมีอำนาจแต่ขี้ขลาด กล้าเอาเปรียบโดยไม่มีความละอาย แต่กลัวการเลือกตั้ง ไม่อายเครื่องแบบที่สวมใส่กันบ้างหรือ

ทว่า สดศรี สัตยธรรม อดีต กกต. รับผิดชอบงานด้านกิจการพรรคการเมือง ให้มุมมองต่อประเด็นนี้ว่า ยังคงไม่สามารถวิจารณ์หรือตอบไปก่อนล่วงหน้าได้ว่าใครคนไหนไม่เป็นกลาง แต่เรื่องนี้ดูง่ายมากเมื่อตอนทำงานเป็นกลางหรือไม่ ขณะเดียวกันรายชื่อทั้ง 7 คน ก็มีที่มาจากหลากหลายสาขาอาชีพ ดังนั้นส่วนตัวเชื่อมั่นว่าคงไม่เกิดสถานการณ์แบบพวกมากลากไป

"อย่าลืมว่าการลงคะแนนแต่ละครั้ง กกต.ชุดใหม่นี้มีลักษณะการทำงานคล้ายบอร์ด เมื่อลงคะแนนอะไรไปแล้วและหากสามารถอธิบายถึงที่มาที่ไปให้กับประชาชนได้เข้าใจ เชื่อว่าก็จะไม่มีปัญหาอะไร และอย่ากังวลไปก่อนว่ารายชื่อที่ปรากฏเป็นเด็กใคร ขั้วอำนาจเก่าหรือใหม่ ต้องดูตอนทำงานว่าเป็นกลางหรือไม่ตามที่ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน"

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางเสียงวิพากษ์ทั้งมวล และเมื่อส่องโปรไฟล์ผลงานทางการเมืองแต่ละบุคคลที่ปรากฏชื่อ ไล่ตั้งแต่ อาทิ เรืองวิทย์ เคยร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในเวทีสัมมนา "ยามเฝ้าแผ่นดินภาคพิเศษ" ช่วงขับไล่รัฐบาล สมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2551

ถัดมา ฐากร เคยฝากผลงานจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ แบบข้ามวันข้ามคืนจนกลายเป็นประวัติศาสตร์ พร้อมทั้งนำเงินประมูลทั้งหมดส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินเกินกว่า 8 หมื่นล้านบาทเศษ

ต่อมา ชมพรรณ์ มีดีกรีเป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาแนวทางการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้ทางกฎหมายให้แก่ประชาชน ในคณะกรรมาธิการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สนช.

อย่างไรก็ดี ต้องเกาะติดชนิดห้ามกะพริบตา เพราะรายชื่อทั้งหมดจะมีการเสนอต่อที่ประชุม สนช.ในวันที่ 14 ธ.ค.นี้ เพื่อตั้งกรรมาธิการจำนวน 17 คน ขึ้นมาทำหน้าที่สอบประวัติภายใน 45 วัน และส่งให้ที่ประชุม สนช.ลงมติให้ความเห็นชอบ โดยคาดว่าจะสามารถเห็นชอบได้ภายในเดือน ม.ค. 2561

"หาก สนช.มีมติไม่ให้ความเห็นชอบบุคคลใด จะส่งเรื่องกลับมาให้กรรมการสรรหาดำเนินการสรรหาเพิ่มเติมเฉพาะตำแหน่งที่ขาดไป ส่วนกรณีว่าที่ กกต.ที่ยังอยู่ระหว่างการดำรงตำแหน่งอื่นๆ เช่น ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีหรือเลขาธิการ กสทช.นั้น บุคคลดังกล่าวเมื่อ สนช.ให้ความเห็นชอบจะต้องไปลาออกก่อนที่ประธาน สนช.จะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ" เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิป สนช. ระบุ

ขณะเดียวกัน ก็ต้องรอดูรายชื่อบุคคลซึ่งถูกพาดพิงอาจไม่เป็นกลางต่อการทำหน้าที่ กกต.จากฟากการเมือง หากได้รับการรับรองจาก สนช. เป็นอันเรียบร้อยแล้ว จะออกโรงชี้แจงแถลงไขให้สังคมเกิดความกระจ่างหรือไม่ โดยเรื่องดังกล่าวนับเป็นประเด็นสำคัญ เพราะอาจส่งผลในอนาคตได้