posttoday

แหวนเพชร ‘ประวิตร’ ชนวนใหม่ ซ้ำเติม คสช.

08 ธันวาคม 2560

กลายเป็นปัญหาซ้ำเติมความเชื่อมั่นฉุดคะแนนนิยมรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รอบใหม่

ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์  

กลายเป็นปัญหาซ้ำเติมความเชื่อมั่นฉุดคะแนนนิยมรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รอบใหม่

​เมื่อนาฬิกาสุดหรูและแหวนเพชรของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.​กลาโหม ที่ถูกแซวในวันถ่ายรูปรวม ครม.ประยุทธ์ 5 บานปลายกลายเป็นระเบิดเวลาที่รอวันปะทุแน่นอนในทางกฎหมายคงต้องใช้เวลาพักใหญ่กับการพิสูจน์ถึงที่มาที่ไปของนาฬิกาและแหวนเพชรของ พล.อ.ประวิตร หลังจากมีผู้ร้องเรียนให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.อ.ประวิตร อันอาจเข้าข่ายขัดต่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 2542 มาตรา 32 มาตรา 33 และมาตรา 34 ประกอบมาตรา 66 ฐานจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. หรือจงใจยื่นบัญชีฯ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ 

ล่าสุด พล.อ.ประวิตร บ่ายเบี่ยงไม่ตอบคำถามถึงที่มาที่ไปของนาฬิกาและแหวนเพชร โดยระบุเพียงแค่จะไปชี้แจงต่อ ป.ป.ช. และมีหลักฐานที่พร้อมชี้แจง 

จากข้อมูลที่ พล.อ.ประวิตร ยื่นบัญชีทรัพย์สินหลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2557 ระบุว่ามีทรัพย์สินรวม 87.37 ล้านบาท ปัญหาอยู่ตรงในส่วนของ “ทรัพย์สินอื่น” พล.อ.ประวิตร ไม่ได้แจ้งต่อ ป.ป.ช. 

ดังนั้นต้องชี้แจงถึงที่มาที่ไปของทรัพย์สินดังกล่าว ทั้ง ได้มาจากไหน เมื่อไหร่ และหากซื้อใช้เงินที่ไหนซื้อ 

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าสุดท้าย ป.ป.ช.คงจะเอาผิดได้ยาก ​ทั้งในแง่ข้อเท็จจริงที่หากมีคำอธิบายจาก พล.อ.ประวิตร ถึงที่มาที่ไป 

ขณะที่บางส่วนมองไปถึงเรื่องสัมพันธ์อันแนบแน่นของ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.​ และ พล.อ.ประวิตร แต่ไม่ว่าผลสรุปจะออกมาอย่างไร เรื่องนี้สั่นคลอนความเชื่อมั่นของ คสช.ไปแล้ว ดังจะเห็นจากความคิดเห็นโดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ ​​ที่ขุดคุ้ยหาข้อมูลของราคานาฬิกาสุดหรู พร้อมคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ดุเดือด 

ที่สำคัญกรณีนี้จะกลายเป็นอีกกรณีตัวอย่างที่ยืนยันว่ารัฐบาลเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามการทุจริตอย่างที่เคยประกาศไว้มากน้อยแค่ไหน เพราะก่อนหน้านี้เคยพยายามพูดถึงมาตรการที่จะออกมาสกัดการทุจริต

ยังไม่รวมกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ก่อนหน้านี้เรื่อง พ.ร.บ. ป.ป.ช. ใหม่ มาตรา 104 กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยข้อมูลรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนักการเมืองต่อสาธารณะได้ โดยสรุปไม่จำเป็นต้องแจกแจงรายละเอียดเหมือนที่ผ่านมา อันจะทำให้การตรวจสอบเป็นไปได้ยากมากขึ้น

ขณะที่ระเบียบ ป.ป.ช.ที่ออกเมื่อกลางปีนี้ กำหนดให้เปิดเผยข้อมูลจะยกเว้นหรือปกปิด 14 รายการ จากเดิม 4 รายการ จนอาจเป็นเหตุให้การตรวจสอบทรัพย์สินมีข้อจำกัด ​

กรณีแหวนเพชรและนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร ไม่ใช่กรณีแรกที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ก่อนหน้านี้เคยมีเรื่องร้อนที่ พล.อ.ประวิตร เข้าไปเกี่ยวข้อง ทั้งเรื่อง ทริปฮาวาย การใช้จ่ายเงินงบประมาณ 20.9 ล้านบาท ในการเดินทางไปประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนและรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 29 ก.ย.-1 ต.ค. 2559

ต่อมา ทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ออกมาระบุว่า จากการตรวจสอบพบว่ายังไม่พบความผิดปกติในการใช้งบประมาณ หรือบ่งชี้ว่ามีการทุจริต ส่วนจะเป็นเรื่องของความเหมาะสมหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องคล้ายกับกรณีเรื่องนโยบายกวดขันห้ามนั่งท้ายรถกระบะ ห้ามนั่งในแค็บ และรวมไปถึงการรัดเข็มขัดนิรภัย ที่ออกมาในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงเพราะกระทบกับวิถีชีวิตและการทำมาหากินของประชาชน ​จน พล.อ.ประวิตร ต้องออกมายอมรับว่าเป็นผู้คิดนโยบายดังกล่าวขึ้นมา ขอให้ประชาชนอย่าไปโจมตีนายกฯ ในเรื่องนี้ และไม่ห่วงว่าคะแนนนิยมของรัฐบาลจะลดลง​

ยังไม่รวมกับกรณีเรือดำน้ำที่ว่ากันว่ามีแรงผลักดันจาก พล.อ.ประวิตร ท่ามกลางเสียงดักคอถึงความเหมาะสมในวันที่ฐานะการเงินของประเทศกำลังง่อนแง่นที่่ผ่านมาจึงมีกระแสเรียกร้องให้ปลด พล.อ.ประวิตร พ้นจาก ครม.​หลายระลอก แต่ทว่าจนถึงรอบล่าสุด​ พล.อ.ประวิตร ก็ยังสามารถรักษาสถานะใน ครม.ได้อย่างเหนียวแน่น 

การตกเป็นเป้าที่ถูกถล่มอย่างต่อเนื่องของ พล.อ.ประวิตร จึงกลายเป็นแรงฉุดที่ซ้ำเติมความเชื่อมั่น คสช.