posttoday

ม็อบค้านถ่านหินกลับบ้าน กระทรวงพลังงานยันฟังความเห็นครบ

08 ธันวาคม 2560

ม็อบค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพาที่ชุมนุมบริเวณทำเนียบ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการผลักดัน พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้หารือกับ ที่ปรึกษานายกฯ ได้ข้อสรุปเดินทางกลับ

โดย..ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

เครือข่ายประชาชนที่ค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่ชุมนุมบริเวณทำเนียบรัฐบาลเป็นวันที่ 2 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการผลักดัน พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้หารือกับ พล.อ.จีระศักดิ์ ชมประสพ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ได้ข้อสรุปจะเดินทางกลับ และจะล่าชื่อประชาชนให้ได้ 1 หมื่นชื่อ ภายใน 1 เดือน เพื่อยกร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฉบับประชาชนเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา

ประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ กล่าวว่า ข้อเสนอของกลุ่มคือ ขอหลักประกันในการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ว่าผู้ประเมินต้องไม่ใช่ลูกจ้างของเจ้าของโครงการเพื่อความเป็นกลาง และอยากให้หน่วยงานกลาง เช่น มหาวิทยาลัย ทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และก่อนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต้องประเมินความเหมาะสมของพื้นที่ด้วย 

พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน และอดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า ข้อเรียกร้องที่กลุ่มคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ออกมาเรียกร้องค้านรัฐบาลนั้นคือ การทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรืออีเอชไอเอ ที่ไม่มีการรับฟังความเห็นจากชาวบ้านและไม่มีนักวิชาการเข้าร่วม ดังนั้นทางออกควรมีการตั้งคณะทำงานกลางที่มีความน่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับทั้งสองฝ่าย ทั้งฝั่งชาวบ้านและส่วนราชการมาช่วยดูว่าการทำอีเอชไอเอครบถ้วนถูกต้องเพียงใด แล้วนำมาเสนอกับผู้มีอำนาจที่ตัดสินใจในภาครัฐว่าไปดูมาแล้วเป็นอย่างไร ถ้าไม่เหมาะสมก็ต้องทำให้ครบถ้วน แต่ถ้าทำครบถูกต้องตามหลักเกณฑ์ก็ต้องยอมรับผลที่ออกมา มิฉะนั้นก็จะทะเลาะกัน 

รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า การทำรายงานศึกษาอีเอชไอเอโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ทำตามขั้นตอนการรับฟังความเห็นประชาชนอย่างถูกต้องอย่างน้อย 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 ที่องค์การบริหารส่วนตำบลปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2557 โดยมีผู้เข้าร่วม 3,860 คน

ครั้งที่ 2 วันที่ 11-28 ก.พ. 2558 มีผู้เข้าร่วม 708 คน และการสำรวจความคิดเห็นหน่วยงานราชการ ผู้นำชุมชน ครัวเรือน โดยใช้แบบสอบถามระหว่างวันที่ 16 ก.พ.-5 มิ.ย. 2558 จำนวนรวม 1,461 ตัวอย่าง ครั้งที่ 3 การรับฟังความคิดเห็นเพื่อทบทวนร่างรายงาน ที่องค์การบริหารส่วนตำบลปากบาง อ.เทพา เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2558 มีผู้เข้าร่วม 6,498 คน

สำหรับในขั้นตอนการพิจารณารายงานอีเอชไอเอ สผ. ได้เปิดโอกาสให้ทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับโครงการจัดส่งข้อมูลความวิตกกังวลต่อโครงการให้ สผ.นำเสนอ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ คชก. เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณารายงานได้ตลอด และที่ผ่านมา คชก.ยังได้เคยเชิญผู้แทนเครือข่ายผู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเข้าร่วมชี้แจง แต่เครือข่ายผู้คัดค้านโครงการได้มีหนังสือแจ้งไม่เข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าว อย่างไรก็ตาม คชก.ได้นำประเด็นข้อคิดเห็นของเครือข่ายผู้คัดค้านโครงการมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณารายงานด้วย

กรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ถ้าดูกำลังสำรองและข้อจำกัดด้านการส่งผ่านพลังงานภาคใต้จะมีปัญหากำลังสำรองต่ำกว่ามาตรฐานความมั่นคงของระบบไฟฟ้าที่กำหนดไว้ ซึ่งทำให้มีความจำเป็นต้องเพิ่มกำลังผลิตแบบเสถียรในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งนี้ พลังงานทดแทนแม้ว่าปัจจุบันจะมีการพัฒนาจนดีขึ้นมาก แต่ก็ยังคงมีปัญหาเรื่องความเสถียร และยังมีราคาที่สูงอยู่ ดังนั้นยังไม่สามารถทดแทนพลังงานหลัก เช่น ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน หรือน้ำมันได้ จึงจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าหลักดูแลเรื่องความมั่นคงของระบบในภาพรวม โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในช่วงกลางคืน

“ศักยภาพพลังงานหมุนเวียนในภาคใต้หลักๆ มีทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และชีวมวล แต่พลังงานแสงอาทิตย์ยังมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในช่วงเวลากลางคืน ประกอบกับพื้นที่ภาคใต้มีฝนตกเป็นส่วนใหญ่

ดังนั้นปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแสงอาทิตย์จึงมีน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับภาคอื่นๆ” ผู้ว่าการ กฟผ. ระบุ