posttoday

อาเซม ซัมมิต เขม็งเกลียว ยุโรปวิกฤต-เอเซียร้อน

04 ตุลาคม 2553

การประชุมเอเชียยุโรป หรืออาเซม มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีหารือด้านการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง การศึกษา และวัฒนธรรม ของ 48 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และล่าสุด รวมถึงออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และรัสเซีย

การประชุมเอเชียยุโรป หรืออาเซม มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีหารือด้านการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง การศึกษา และวัฒนธรรม ของ 48 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และล่าสุด รวมถึงออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และรัสเซีย

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

 

อาเซม ซัมมิต เขม็งเกลียว ยุโรปวิกฤต-เอเซียร้อน

การประชุมเอเชียยุโรป หรืออาเซม มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีหารือด้านการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง การศึกษา และวัฒนธรรม ของ 48 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และล่าสุด รวมถึงออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และรัสเซีย

สัปดาห์นี้การประชุมสุดยอดอาเซมครั้งที่ 8 จะเปิดฉากขึ้นที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ในวันที่ 45 ต.ค. อันเป็นศูนย์กลางของสหภาพยุโรป โดยมีผู้นำจากทุกประเทศเข้าร่วมอีกเช่นเคย แต่ด้วยบรรยากาศที่อาจแตกต่างอย่างสิ้นเชิง

เพราะเอเชียและยุโรปอาจไม่รู้สึกชื่นมื่นเหมือนดังเก่า เนื่องด้วยยุโรปกำลังบอบช้ำกับวิกฤตหนี้สาธารณะที่เริ่มสำแดงอาการขั้นตรีทูตอีกครั้งในหลายประเทศ ขณะที่เอเชียกำลังบอบช้ำกับการแข็งค่าของสกุลเงินหลายสกุลทั่วภูมิภาค

วาระการประชุมที่เปิดเผยในวงกว้าง คือ การหารือในประเด็นการค้า สภาวะอากาศโลก และอาจรวมถึงความขัดแย้งเรื่องดินแดนระหว่างจีนกับญี่ปุ่น

ในประเด็นเหล่านี้ การหารือถึงทางออกเรื่องสภาวะอากาศโลก อาจเป็นประเด็นที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด เนื่องจากยังถือเป็นประเด็น “อ่อน” ไม่กระทบต่อผลประโยชน์เฉพาะหน้า อีกทั้งนานาชาติเห็นพ้องต้องกันถึงประเด็นปัญหานี้ จึงปรากฏว่า ที่ประชุมได้มีแถลงการณ์ร่วมกันที่จะผนึกกำลังกันแก้ไขวิกฤตสภาพอากาศของโลกอย่างแข็งขัน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นการค้าและความขัดแย้งทางการเมืองจะทำให้บรรยากาศการประชุมเต็มไปด้วยความตึงเครียด

ในส่วนของยุโรปกับเอเชีย การกระทบกระทั่งทางการค้าถือเป็นเรื่องปกติ ตามวิสัยของการค้าขายที่ย่อมเกิดความไม่ลงรอยเรื่องผลประโยชน์ แต่หากสามารถตกลงกันได้ในระดับหนึ่ง ความเขม็งเกลียวจะคลายตัวลง ลักษณะความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างเอเชียและยุโรปอยู่ในลักษณะที่ว่านี้

ต่างกับรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างเอเชียกับสหรัฐที่หักหาญกันอย่างดุเดือดขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะหลังจากที่เงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าลงต่อเนื่อง

ทว่า การประชุมอาเซมครั้งนี้มีบางประเทศกำลังปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างเอเชียและยุโรปที่มีความยืดหยุ่นให้เกิดความร้าวฉานขึ้นโดยไม่จำเป็น

ประเทศที่ว่านั้นคือ ออสเตรเลียที่เพิ่งเข้าร่วมอาเซมในปีนี้ พร้อมนิวซีแลนด์และรัสเซีย แต่กลับแสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์กับเอเชียและยุโรปเสียแล้ว

เครก อีเมอร์สัน รัฐมนตรีพาณิชย์ออสเตรเลีย ที่เพิ่งรับตำแหน่งหมาดๆ กลับสวมวิญญาณสหรัฐ เตือนให้จีนปรับค่าเงินหยวนให้สอดคล้องกับความเป็นจริง พร้อมกับเตือนยุโรปมิให้ใช้มาตรการกีดกันทางการค้า โดยใช้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมเป็นข้ออ้าง

สัญญาณของความร้าวฉานจากการยั่วยุของออสเตรเลีย ประจวบเหมาะกับที่จีน ซึ่งเป็นหัวหอกของเอเชีย ต้องทนกล้ำกลืนที่ยุโรปประสานเสียงกับสหรัฐกดดันจีนเรื่องค่าเงินหยวน

เคราะห์ดีที่จีนไม่แสดงท่าทีตอบโต้ยุโรปอย่างแข็งกร้าวดังเช่นที่ทำกับสหรัฐ ตรงกันข้าม จีนพยายามพลิกฟื้นบรรยากาศการประชุมให้ชื่นมื่น ด้วยการเยือนนานาประเทศในยุโรป ซึ่งล่าสุดคือการเดินทางเยือนกรีซ และมีข้อเสนอ 5 ประเด็น เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ หนึ่งในนั้นคือ การที่จีนจะมอบเงินทุนให้กรีซถึง 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการขนส่งทางน้ำ

การให้ความช่วยเหลือกรีซครั้งนี้มีนัยที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะธุรกิจสำคัญของกรีซคือการเดินเรือ แต่บัดนี้กำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้สาธารณะจนรัฐบาลต้องรัดเข็มขัดงบประมาณเท่านั้น และภาวะว่างงานยังรุนแรงถึง 11% ช่วงไตรมาส 2

ไม่เพียงเท่านั้น ระหว่างที่นายกรัฐมนตรี เวินเจียเป่า เดินสายกระชับสัมพันธ์กับยุโรป ด้านประธานาธิบดี ดิมิทรี เมดเวเดฟ แห่งรัสเซีย ซึ่งเป็นสมาชิกใหม่แรกเข้าอาเซมในปีนี้ เดินทางเยือนจีนเพื่อกระชับสัมพันธ์ด้านพลังงานและเศรษฐกิจ

ที่สำคัญก็คือ นายกรัฐมนตรี เวิน ประกาศอย่างชัดเจนว่า จีนมุ่งมั่นกับการช่วยเหลือยุโรปให้รอดพ้นจากวิกฤต ด้วยการสนับสนุนเสถียรภาพของค่าเงินยูโร และจะยังเป็นลูกค้าชั้นดีของพันธบัตรยุโรปต่อไป

สิ่งเหล่านี้ นี่คือสัญญาณที่บ่งชี้ว่า จีนในฐานะมหาอำนาจแห่งเอเชียไม่ปรารถนาการเผชิญหน้ากับยุโรป แต่ต้องการรักษาความสัมพันธ์ให้ราบรื่นที่สุด ในช่วงเวลาที่ยุโรปเองก็ยังสลัดไม่พ้นปัญหา ส่วนเศรษฐกิจเอเชียเองก็ถูกโจมตีโดยทางอ้อม โดยเฉพาะ “มือที่สาม” อย่างสหรัฐอยู่ตลอดเวลา

ท่าทีประนีประนอมของจีน และท่าทีแข็งกร้าวของออสเตรเลีย เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ความขัดแย้งใหม่ที่เกิดขึ้นในการประชุมอาเซม ที่ก่อนหน้านี้มักราบรื่นมาโดยตลอด ต้องจับตาว่า เสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมจะเอนเอียงไปทางใด หากโน้มไปทางจีน ก็หมายความว่า อาเซมยังมุ่งมั่นกับการกระชับความร่วมมือ มากกว่าจะเป็นเวทีเพื่อโจมตีคู่ค้าอย่างซึ่งๆ หน้า

อีกประเด็นร้อนที่ได้รับการจับตามากที่สุด คือความขัดแย้งในน่านน้ำหมู่เกาะเตียวหยู/เซนโกกุ ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ซึ่งทวีความรุนแรงจนลุกลามไปถึงความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ

อย่างไรก็ตาม เซอิจิ มาเอฮารา รัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่น ยืนยันว่า จีนมิได้เป็นเพื่อนบ้านแย่ๆ ในสายตาของญี่ปุ่น อีกทั้งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยังส่งสัญญาณ ไม่ต้องการเผชิญหน้ากับจีน ด้วยการปฏิเสธว่าจะไม่มีการเจรจานอกรอบระหว่างการประชุมอาเซม

ท่าทีนี้หมายความว่า อาเซมไม่คิดจะเผชิญหน้ากันเอง และออสเตรเลียอาจต้องทบทวนท่าทีของตนเองในเวทีนี้ เพราะไม่เพียงเป็นความเห็นที่ผิดที่ผิดทาง แต่ยังแสดงความเป็นศัตรูกับเอเชียโดยตรง ทั้งๆ ที่ออสเตรเลียเป็นฝ่ายกระตือรือร้นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของ “ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” และสมาชิกอาเซม

ในขณะที่เอเชียส่งสัญญาณอย่างชัดเจนแล้วว่า ต้องการมุ่งไปข้างหน้าเพื่อผนึกกำลัง ยุโรปก็ควรสงวนท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน เพราะหาไม่แล้ว ยุโรปจะขาดพันธมิตรที่จะช่วยพยุงการฟื้นตัวในทันที ด้วยในเวลานี้ยุโรปสิ้นหวังที่จะให้สหรัฐช่วยเสียแล้ว

การประชุมอาเซมในครั้งนี้ หากจะมีบรรยากาศที่เขม็งเกลียวบ้าง ก็ควรเป็นความเคร่งเครียดจากการหารือเพื่อแสวงหาทางออกร่วมกันในห้วงเวลาคับขัน

มากกว่าการข่มขู่กันและกันด้วยแรงกดดันที่อยู่นอกเหนือการรวมกลุ่มของทั้งสองทวีป