posttoday

สูญญากาศแบงก์ชาติ ท้าทายแก้ค่าบาทแข็ง

04 ตุลาคม 2553

เป็นเรื่องบังเอิญอย่างน่าประหลาด เพราะวันแรกที่ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล เข้าทำงานในตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ธปท. ด้านเสถียรภาพการเงิน หนึ่งในผู้สมัครตำแหน่งผู้ว่าการและเคยเป็นหนึ่งในตัวเก็งก็ประกาศลาออกจาก ธปท. โดยกล่าวว่าอยากไปลองทำงานใหม่ดูบ้าง โดยจะไปสมัครชิงตำแหน่งผู้อำนวยการของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียนบวก 3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้)

เป็นเรื่องบังเอิญอย่างน่าประหลาด เพราะวันแรกที่ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล เข้าทำงานในตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ธปท. ด้านเสถียรภาพการเงิน หนึ่งในผู้สมัครตำแหน่งผู้ว่าการและเคยเป็นหนึ่งในตัวเก็งก็ประกาศลาออกจาก ธปท. โดยกล่าวว่าอยากไปลองทำงานใหม่ดูบ้าง โดยจะไปสมัครชิงตำแหน่งผู้อำนวยการของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียนบวก 3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้)


โดย...ทีมข่าวการเงิน

 

สูญญากาศแบงก์ชาติ ท้าทายแก้ค่าบาทแข็ง

เป็นเรื่องบังเอิญอย่างน่าประหลาด เพราะวันแรกที่ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล เข้าทำงานในตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ธปท. ด้านเสถียรภาพการเงิน หนึ่งในผู้สมัครตำแหน่งผู้ว่าการและเคยเป็นหนึ่งในตัวเก็งก็ประกาศลาออกจาก ธปท. โดยกล่าวว่าอยากไปลองทำงานใหม่ดูบ้าง โดยจะไปสมัครชิงตำแหน่งผู้อำนวยการของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียนบวก 3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้)

การลาออกของนายบัณฑิตดูเหมือนจะเป็นการเปลี่ยนแปลงธรรมดา แต่ไม่ธรรมดา เพราะการลาออกครั้งนี้จะว่าไม่มีอะไรในกอไผ่ก็คงไม่ได้ และไม่มีเหตุผลอื่นใดนอกจากอาการน้อยใจ เพราะหลังจาก นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการ ธปท. หมดวาระไป นายบัณฑิตเป็นรองผู้ว่าการที่โดดเด่นที่สุด เพราะหลังจากเริ่มทำงานในฝ่ายวิชาการก็ย้ายไปอยู่ในหน่วยงานสำคัญของ ธปท. เกือบทุกแผนกและเป็นคนที่มีประสบการณ์ช่วยกันต่อสู้ค่าเงินบาทกับต่างชาติในวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 เป็นอย่างดี แม้ในสมรภูมิค่าเงินครั้งนั้นไทยจะแพ้ แต่คนทำงานก็ได้ประสบการณ์มากโขที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้ในภายหลังว่า อะไรควรทำและอะไรไม่ควรทำ ใครที่คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องความขัดแย้งทางด้านนโยบายการเงินนั้นขอบอกให้ไปคิดใหม่ เนื่องจากนายบัณฑิตและนายประสารพูดไปทางเดียวกันตลอดมาว่าในปีนี้ดอกเบี้ยของประเทศไทยจะเป็นขาขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว สินเชื่อเริ่มเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ความต้องการเงินฝากมีมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่เป็นใจ ทำให้ดอกเบี้ยที่สูงเป็นสิ่งจูงใจล่อให้นักเก็งกำไรแห่นำเงินเข้ามาลงทุนในไทย หลังจากไม่มีทางเลือกในการลงทุน เพราะสหรัฐอเมริกาและยุโรปก็ยังไม่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว ส่วนจะไปลงทุนในจีนก็กลัวนโยบายการเงินที่เปลี่ยนได้รวดเร็วราวพลิกฝ่ามือ เงินจึงไหลบ่าเข้ามาในภูมิภาคนี้รวมทั้งไทยด้วย

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว จากต้นปีแข็งค่าขึ้นประมาณ 10% และเงินไหลเข้ามาในตลาดตราสารหนี้มากถึง 1.2 แสนล้านบาท ที่เหลือก็ไปยังตลาดหุ้นและอื่นๆ เงินไหลเข้าดันบาทแข็งสุดในรอบ 13 ปีครั้งใหม่ แตะที่ระดับ 31.19/21 บาท/เหรียญสหรัฐ คาดสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 30.15/25 บาท/เหรียญสหรัฐ

ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็วนี้ จะเป็นปัญหาแรกที่ท้าทายความสามารถของผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ ที่จะต้องเป็นแม่ทัพในการดูแลเรื่องนี้ แต่รองแม่ทัพเบอร์ 1 อย่างนายบัณฑิตได้ประกาศลาออกไปเสียแล้ว ก็จะสร้างปัญหาในเรื่องการดูแลค่าเงินพอสมควร

ยามนี้ทอดตาไปทั่ว ธปท. จะพบปัญหาการสร้างบุคลากรไม่ทันกับผู้บริหารรุ่นเก่าที่มากประสบการณ์ที่จะทยอยเกษียณอายุงานออกไปในปี 2 ปีข้างหน้า แต่ในเฉพาะหน้านี้คนที่จะมีประสบการณ์ช่วยงานผู้ว่าการคนใหม่ดูแลค่าเงินมีไม่กี่คน อาทิ นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ส่วนในระดับผู้อำนวยการฝ่าย ก็เห็นแค่ นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายความเสี่ยง และ น.ส.วงษ์วธู โพธิรัชต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงินและบริหารเงินสำรอง ส่วนที่เหลือก็เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ยังขาดประสบการณ์

ดังนั้น แผนการตั้งทีมงานดูแลค่าเงินบาทของผู้ว่าการ ธปท. ผู้มีสิทธิเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียวในการดูแลค่าเงินบาท จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ และคาดว่าผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งขึ้นมารับตำแหน่งแทนนายบัณฑิต คือ นางสุชาดา เพราะอาวุโสรองลงมาและเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในยามนี้ ต้องยอมรับความจริงว่า แม้นายประสารจะเคยเป็นลูกหม้อ ธปท.มาก่อน แต่ก็อยู่ ธปท.มาไม่นาน และยังไม่ได้เวียนโยกย้ายงานไปยังส่วนต่างๆ ที่สำคัญของ ธปท. เหมือนคนที่อยู่มานาน และนายประสารลาออกไปนั่งเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแล และเป็นผู้ถือกฎหมายมากกว่าจะเป็นผู้ปฏิบัติการ ดังนั้นความรู้รอบตัวในการแก้ไขปัญหาอาจจะไม่คล่องแคล่วเท่าคนที่อยู่มานานกว่า

ส่วนการไปนั่งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทยก็ไม่ได้ลงลึกไปในรายละเอียด ดูแลงานนโยบาย โดยมี นายบัณฑูร ล่ำซำ ซีอีโอของธนาคาร เป็นพี่เลี้ยง และทีมงานระดับรองลงมาแข็งแกร่ง ทำให้ธนาคารกสิกรไทยในยุคที่นายประสารเป็นกรรมการผู้จัดการก็ยังเดินหน้าต่อไปได้ดี

แต่การเป็นผู้ว่าการ ธปท.นั้น นายประสารจะต้องแสดงภาวะผู้นำที่ชัดเจนและจะต้องเป็นแม่ทัพตัวจริงในสนามรบ แต่ก็ไม่ได้โดดเดี่ยวอย่างสิ้นเชิง เพราะมีคณะกรรมการ ธปท. ที่มี ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และอดีตผู้ว่าการ ธปท. เป็นผู้คอยให้คำแนะนำอีกที ส่วนเรื่องดอกเบี้ยก็มีคณะกรรมการนโยบายการเงินช่วยกันให้ความเห็น

แม้จะมีพี่เลี้ยง แต่ตัวนายประสารเองจะเจอแรงกดดันอย่างหนัก และมีความโปร่งใสตรงไปตรงมาเป็นเครื่องการันตีความเหมาะสมในตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. แต่ก็ต้องใช้ฝีมือในการบริหารมากพอดู และนายแบงก์ต่างๆ ต่างจับตามองดูผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ ว่าจะสามารถต่อสู้กับนักเก็งกำไรค่าเงินอย่างไร นอกเหนือจากมาตรการที่ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบไปแล้ว คือ

1.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเงินบาทไม่ให้เกิดความผันผวนและมีความสอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค ตลอดจนขยายระยะเวลาการถือครองเงินดอลลาร์ 2.การควบคุมการไหลเวียนของเงินทุนต่างประเทศระยะสั้น 3.อนุญาตให้ชำระค่าระวางเรือเป็นสกุลเงินต่างประเทศได้ 4.ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

5.การลดค่าธรรมเนียมศุลกากรในการส่งออก 6.การช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการทำประกันความเสี่ยง 7.การจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกรายย่อย และ 8.ให้หน่วยงานภาครัฐชี้แจงข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา

ล่าสุดก่อนที่นายบัณฑิตจะยื่นใบลาออก ก็ได้ลงนามในหนังสือเวียนส่งไปยังธนาคารพาณิชย์และบริษัทหลักทรัพย์ทุกแห่ง เพื่อซักซ้อมความเข้าใจการปฏิบัติตามมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทอย่างเคร่งครัด และดูแลการทำธุรกรรมของผู้มีถิ่นที่อยู่อาศัยนอกประเทศ (Nonresident : NR) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติตามมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทมาตรการดูแลบัญชีเงินบาทของ NR ไม่ให้มียอดคงค้างในบัญชีเกินเกณฑ์ที่กำหนด และขอให้ช่วยตรวจสอบการนำเงินเข้าและออกจากบัญชีให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดในระเบียบควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน

และยังได้ขอความร่วมมือให้สถาบันการเงินช่วยสอดส่องดูแลพฤติกรรมของ NR ที่มีลักษณะเข้าข่ายการเก็งกำไรค่าเงินบาท และรายงานให้ ธปท.ทราบโดยทันที

กรณีที่นายบัณฑิตลาออกนั้น สะเทือนการทำงานของแบงก์ชาติในขณะนี้หรือไม่ ก็มีการมองสองมุมว่า มีผลกระทบและไม่มีผลกระทบ คนที่มองว่าไม่มีผลกระทบมากในการต่อสู้การเก็งกำไรค่าเงินบาทจากต่างชาติก็คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีนายบัณฑิตลาออกว่า คงจะไม่กระทบต่อเสถียรภาพค่าเงินบาท ในองค์กรได้มีการหารือกับรัฐบาลในเชิงนโยบายและมีความเข้าใจตรงกันในเรื่องสภาพปัญหาของค่าเงินบาท โดยมีการวิเคราะห์สาเหตุตรงกัน ทั้งการนำตัวเลขและรายละเอียดมาดูว่าเงินที่ไหลเข้าเป็นอย่างไรเข้าไปที่ใด ในช่วงใด เกี่ยวข้องกับปัจจัยหรือตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจใดบ้าง อีกทั้งยังมีการวิเคราะห์ผลกระทบตรงกัน รวมถึงหลักคิดในการจัดการกับปัญหาก็ตรงกัน ซึ่งเป็นแนวทางที่เราเคยชี้แจงแล้ว ดังนั้นแนวทางนี้ยังไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไร จึงไม่เป็นเหตุที่ต้องกังวลว่าจะมีความไม่เข้าใจหรือสุญญากาศว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร

ในฐานะนายกรัฐมนตรีคงไม่สามารถพูดได้ว่าห่วงกังวลอะไร แต่เหล่าบรรดานายแบงก์ พ่อค้า และนักธุรกิจ ต่างเป็นกังวลต่อปัญหานี้ ฉะนั้นใช่ว่าปัญหานี้จะไม่มีทางออก หากนายประสารไม่แน่ใจว่าจะรับมือนักเก็งกำไรได้ดี ก็สามารถเชิญอดีตผู้ว่าการ ธปท.ทั้งหลาย อาทิ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล นางธาริษา วัฒนเกส หรือแม่กระทั่ง นายวีรพงษ์ รามางกูร ผู้ที่ ชอบวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ ธปท. และโจมตีนโยบายการเงินของ ธปท. เป็นขาประจำเข้ามาเป็นคณะที่ปรึกษา เพื่อให้คำแนะนำในช่วงวิกฤตค่าเงินบาทครั้งนี้

หากผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ ไม่หาผู้มากประสบการณ์มาช่วยงาน เชื่อว่าการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วจากเงินไหลเข้าจากต่างชาติคงไม่สามารถทำได้ง่ายๆ และนี่เป็นงานใหญ่งานแรกที่ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ จะต้องรับภาระแม่ทัพในการจัดการไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากจนเป็นปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจ และเป็นการแสดงภาวะผู้นำให้คนใน ธปท. เห็นว่านายประสารเหมาะสมและมีบารมีมากพอในำแหน่งผู้ว่าการ ธปท.