posttoday

คสช.ทุบม็อบ คะแนนหด แนวร่วมหาย

29 พฤศจิกายน 2560

ร้อนจนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกมาแสดงความเสียใจผ่าน เฟซบุ๊กชี้แจงกรณีขึ้นเสียงกับชาวประมงที่มาร้องเรียนในระหว่างนำ ครม.สัญจรปัตตานี-สงขลา

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ร้อนจนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องออกมาแสดงความเสียใจผ่าน เฟซบุ๊กชี้แจงกรณีขึ้นเสียงกับชาวประมงที่มาร้องเรียนในระหว่างนำ ครม.สัญจรปัตตานี-สงขลา เมื่อวันที่ 27 พ.ย.

จากคำพูด "ใจเย็นๆ! อย่ามาทำเสียงกับผม เข้าใจหรือเปล่า ผมฟังคุณเนี่ย พูดดีๆ ก็ได้ ขอบคุณ อะไรมันผ่อนผันจะดูให้ แต่มาพูดอย่างงี้กับผมไม่ได้" จนนำมาสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์รุนแรง

ทั้งนี้ สถานการณ์รุนแรงขึ้น ทั้งด้วยท่าทีและคำพูด เมื่อรวมกับสิ่ง ที่ชาวประมงออกมาเรียกร้องให้นายกฯ แก้ไขปัญหานั้น ถือเป็นเรื่องของความเดือดร้อนกับการดำรงชีวิต และประกอบอาชีพเลี้ยงปากเลี้ยงท้องที่ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก

สิ่งที่ชาวประมงต้องการก็เพียงแค่การแก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับการทำประมงที่กำหนดให้ชาวประมงสามารถออกเรือไปทำประมงได้ 220 วัน/ปี ซึ่งถือว่าน้อยเกินไปทำให้ผู้ประกอบอาชีพประมงประสบกับภาวะขาดทุนเป็นหนี้เป็นสินจากต้นทุนที่สูงขึ้น จึงต้องการให้เพิ่มมากขึ้นจากเดิมเท่านั้น

การระเบิดอารมณ์ใส่ชาวประมงจึงไม่ได้ทำลายความเชื่อมั่นที่มีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล คสช.เท่านั้น ภาพที่ออกไปสู่สายตาประชาชนทั่วประเทศยิ่งมีแต่ฉุดคะแนนนิยมที่กำลังตกต่ำอยู่แล้วในลดน้อยลงไปกว่าเดิม

หากควบคุมอารมณ์และชี้แจงเหมือนกับที่ออกมาชี้แจงในภายหลังทั้ง แนวทางการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เพื่อให้อุตสาหกรรมประมงของไทยสามารถอยู่รอดส่งออกได้สอดคล้องกับพันธสัญญา รวมทั้งเพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติให้การประมงของเราเกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต ย่อมทำให้สถานการณ์ดีขึ้นและได้ใจชาวบ้านกว่าที่เกิดขึ้น

ก่อนที่สถานการณ์จะย่ำแย่กว่าเดิมเมื่อเกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่และกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่นัดหมายจะมายื่นหนังสือคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน และนัดรวมตัวกันที่สี่แยกสำโรง จ.สงขลา แต่ระหว่างรอกลับไม่มีตัวแทนของรัฐบาลมารับเรื่องตามที่ประสานไว้แต่แรก

ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ได้เข้ามาปิดล้อมกันไม่ให้ผู้ชุมนุมฝ่าวงล้อมไปที่โรงแรมบีพี สมิหลา ซึ่งเป็นสถานที่ที่คณะนายกฯ จะร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) แต่ผู้ชุมนุมบางส่วนฝ่าวงล้อมออกไปจนเกิดการปะทะกัน และแกนนำถูกควบคุมตัว

ถึงขั้นที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลใช้สันติวิธีแก้ปัญหาและทบทวนการตั้งข้อหาของแกนนำที่ถูกจับกุม เพราะเห็นว่าการชุมนุมยังเป็นการชุมนุมตามกรอบสิทธิเสรีภาพที่มี

ทำให้สถานการณ์เริ่มกลับตาลปัตรจากที่คาดว่าการลงพื้นที่ ครม.สัญจร ของ พล.อ.ประยุทธ์ รอบนี้จะเป็นการเร่งทำผลงานผ่านสารพัดโครงการ เพื่อโกยคะแนนในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนจะมีการเลือกตั้ง

ดังจะเห็นจากแผนงานที่ ครม.เตรียมพิจารณา 5 โครงการ งบประมาณ 5 แสนล้านบาท ตามที่คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดภาคใต้และจังหวัดชายแดน ภาคใต้เสนอ

โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เช่น โครงการมอเตอร์เวย์จากนิคมอุตสาหกรรมฉลุง จ.สตูล ไปปาดังเบซาร์ และด่านนอก อ.สะเดา จ.สงขลา การเร่งรัดรถไฟทางคู่หาดใหญ่-สุไหงโก-ลก และปาดัง เบเซาร์-หาดใหญ่ เพื่อเชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจพิเศษ โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกสงขลา 1 และ 2

กลายเป็นการต้องมาเสียคะแนนและเสียความเชื่อมั่นแบบเสียของ ที่สำคัญเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจเป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อทิศทางการเมืองในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ

ต้องยอมรับว่าพื้นที่ภาคใต้ถือเป็นฐานเสียงสำคัญของทั้ง กปปส.และพรรคประชาธิปัตย์ อันเคยเป็นมวลชนกลุ่มใหญ่ที่เคยยืนอยู่เคียงข้าง คสช.ในช่วงแรก ด้วยความหวังว่า คสช.จะเป็นที่พึ่งนำประเทศเดินข้ามวังวนปัญหาในอดีต รวมทั้งเร่งดำเนินการ "ปฏิรูป" และ "ปรองดอง" อย่างที่สังคม คาดหวัง

แต่ผ่านมา 3 ปี ผลงานที่ออกมา ดูจะยังไม่เข้าตาประชาชนแถมความเดือดร้อน โดยเฉพาะปัญหาปากท้องที่เคยเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขกลับไร้การเหลียวแล

แม้แต่การออกมารวมตัวเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหายังถูกสกัดกั้น และนำไปสู่การปะทะควบคุมตัว

ทั้งที่มวลชนที่ออกมาเคลื่อนไหวโดยเฉพาะรอบนี้ เป็นการออกมาเคลื่อนไหวด้วยปัญหาความเดือดร้อน ทั้งเรื่องประมงรวมไปถึงกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่ใช่ "ม็อบการเมือง" หรือกลุ่มที่จ้องสร้างความปั่นป่วน

ลำพังแค่สองกลุ่มนี้ก็ถือเป็นฐานมวลชนกลุ่มใหญ่ที่มีแนวร่วมทั้งในและนอกพื้นที่จำนวนมาก

การเลือกปฏิบัติต่อชาวบ้านกลุ่มนี้ด้วยพฤติกรรมที่ไม่เป็นมิตร จึงอาจเป็นการผลักมิตรไปเป็นศัตรู อันจะ ย้อนกลับมาเป็นแรงกัดดันรัฐบาล คสช.ในอนาคต ยิ่งในวันที่ คสช.ตัดสินใจปลดล็อกให้กลุ่มต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหวได้ตามกรอบสิทธิเสรีภาพก่อนมีการเลือกตั้ง

นี่จึงไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล คสช.ในวันที่แนวร่วมเริ่มลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ อันจะมีผลกระทบต่อไปถึงความเชื่อมั่นในภาพรวมและเส้นทางสู่ "นายกฯ คนนอก" n