posttoday

สูตรคำนวณสส. ปูทาง ‘ซูเปอร์รัฐบาลผสม’

21 พฤศจิกายน 2560

ในสัปดาห์หน้าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสส. และการได้มาซึ่ง สว.

ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ในสัปดาห์หน้าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และการได้มาซึ่ง สว. ให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเป็นร่างกฎหมายลูกสองฉบับที่ กรธ.จะส่งให้กับ สนช.

จากนั้น กรธ.จะเสร็จสิ้นภารกิจอย่างเป็นทางการ โดยเหลือเพียงแค่การทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการวิสามัญร่วมกับ สนช.ในการพิจารณาร่างกฎหมายในรายละเอียด และจะยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งและมีรัฐสภาชุดใหม่

ภาพรวมในงานของ กรธ.นั้น ถือว่ามีเสียงชื่นชมและเสียงท้วงติง โดยเฉพาะการออกแบบเลือกตั้ง สส.ด้วยการใช้ระบบที่ไม่ค่อยคุ้นหู คนไทยมากนักว่า "ระบบจัดสรร ปันส่วนผสม"

ระบบการเลือกตั้งที่ว่านี้มีหลักสำคัญอยู่ที่การให้ทุกคะแนนของประชาชนที่ลงให้กับพรรคการเมืองทุกพรรคการเมืองมีความหมาย ไม่เหมือนกับระบบการเลือกตั้งแบบเดิมที่คะแนนของผู้แพ้จะถูกทิ้งทันที แต่ระบบของ "มีชัย ฤชุพันธุ์" ประธาน กรธ. จะเปิดโอกาสให้นำคะแนนของผู้สมัคร สส.ในเขตเลือกตั้งนั้นมาคำนวณเพื่อหาจำนวน สส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองดังกล่าวด้วย

เรียกได้ว่า ไม่มีคะแนนของใครถูกทิ้งลงแม่น้ำ

ที่สำคัญล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพิ่งได้เปิดวิธีคำนวณหาจำนวน สส.บัญชีรายชื่อไว้อย่างน่าสนใจ

1.นำคะแนนเฉพาะของพรรคที่ส่งแบบบัญชีรายชื่อเท่านั้นมาใช้ในการคำนวณ พรรคใดที่ไม่ส่ง สส.ระบบบัญชีรายชื่อจะไม่นำมาคำนวณหาคะแนน สส.ระบบบัญชีรายชื่อ

2.นำผลรวมคะแนนของทุกพรรคการเมืองมาหารด้วย 500 ซึ่งเป็นจำนวน สส.ทั้งหมดเพื่อให้ค่าเฉลี่ยต่อ สส. 1 คน

3.จะเป็นการหาจำนวน สส.ที่แต่ละพรรคจะพึงมี โดยนำค่าเฉลี่ยต่อ สส. 1 คน ไปหารคะแนนของพรรคการเมืองแต่ละพรรค จะทำให้ได้จำนวน สส.ที่แต่ละพรรคจะได้

ยกตัวอย่าง คะแนนรวมทั้งประเทศมีทั้งสิ้น 29,571,126 คะแนน นำตัวเลข 500 มาหารจะได้คะแนนเฉลี่ยต่อ สส. 1 คน จำนวน 59,142 คะแนน จากนั้นจะเป็นหาจำนวน สส.ที่พึงมีของพรรคการเมืองนั้น

สมมติ พรรค ก. ได้คะแนนรวมทั้งประเทศ 13,132,563 คะแนน ก็นำตัวเลข 59,142 คะแนนมาหาร พอหารออกมาได้ประมาณ 222 ซึ่งเป็นจำนวน สส.ที่แต่ละพรรคจะพึงมี ถ้าพรรค ก.ได้ สส.แบบแบ่งเขต 187 คน ก็จะได้ สส.ระบบบัญชีรายชื่ออีก 35 คน ครบจำนวน 222 คน

นอกจากนี้ กกต.ยังยอมรับด้วยว่าระบบการเลือกตั้ง สส.และคำนวณ สส.บัญชีรายชื่อเช่นนี้ มีความเป็นไปได้ยากที่จะมีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากเกิน 50%

"ก็คงจะเป็นไปได้ยาก เพราะในการนำคะแนนของ สส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้งมาใช้คำนวณจำนวน สส.บัญชีรายชื่อ จะทำให้เขตเลือกตั้งหนึ่งมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีจำนวนเฉลี่ยประมาณ 1.8 แสนคน ดังนั้น การที่จะมีพรรคการเมืองใดได้คะแนนโดดไปถึง 250 ที่นั่ง ก็คงเป็นเรื่องที่ยาก" สง่า ทาทอง ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ สำนักงาน กกต. ระบุ

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นแบบนี้นับว่าทำให้พรรคการเมืองไม่มีความสุขมากนัก เพราะถูกกดดันจากกติกาแบบรอบทิศทาง

เริ่มตั้งแต่ระบบเลือกตั้ง สส.ที่ไม่เอื้อให้พรรคการเมืองที่จะได้ สส.เกิน 250 ที่นั่ง อีกทั้งการเลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อตั้งรัฐบาลในอนาคตก็ต้องไปหวังพึ่งเสียงจากวุฒิสภาอีกตามที่บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ได้กำหนดเอาไว้

อย่างที่ทราบกันดีว่าการเลือกตั้งครั้งหน้ารัฐสภา ซึ่งหมายถึงทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจะร่วมกันลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี โดยวุฒิสภาชุดหน้าจะมาจากการเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวน 250 คน

เท่ากับว่าใครจะเป็นนายกฯ จำเป็นต้องได้เสียงสนับสนุนจากรัฐสภาเกิน 375 เสียง

ในอดีตมีเพียงพรรคไทยรักไทยเพียงพรรคเดียวที่เคยได้เสียงเกิน 370 เสียง โดยในการเลือกตั้งในปี 2548 พรรคไทยรักไทยได้ สส.ไปถึง 377 คน

ครั้งนั้นทั้งกติกา กระแสความ นิยม ต่างช่วยผลักดันให้พรรคไทยรักไทยสามารถสร้างปรากฏการณ์ดังกล่าวขึ้นมาได้ แต่ปัจจุบันกลับ ไม่เป็นเช่นนั้น

พรรคการเมืองกำลังมีปัญหาเรื่องต้นทุนทางสังคมการเมืองที่ตกต่ำอย่างรุนแรง เพราะเป็นสาเหตุที่เปิดประตูให้เกิดการรัฐประหาร และนำมาซึ่งการจัดทำกฎหมายที่คุมเข้มนักการเมืองและพรรคการเมืองเสมือนเป็นเงาตามด้วย เพื่อไม่ให้พรรคการเมืองมีขนาดใหญ่เกินไป

ด้วยเหตุนี้เอง จึงแทบฟันธงได้เลยว่าการเลือกตั้งในปี 2561 พรรคเสียงข้างมากจะได้ สส.ไม่เกิน 200 คน ทำให้พรรคการเมืองต้องไปหวังพึ่งคะแนนของ สว.โดยปริยาย นอกเหนือไปจากต้องขอเสียงจากพรรคการเมืองในสภาด้วย

วุฒิสภาซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจะเข้ามามีส่วนในการดูตัวผู้ชิงเก้าอี้นายกฯ ตั้งแต่ห้วจรดเท้า หากไม่พอใจก็เป็นไปได้ที่ สว.จะไม่ยกมือให้ และจะนำมาซึ่งสถานการณ์ในลักษณะที่ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ทั้งๆ ที่ประชาชนได้เลือกตั้งมาแล้ว

ดังนั้น ด้วยระบบเลือกตั้ง สส.และกติกาในรัฐธรรมนูญ จะมีผลให้รัฐบาลในอนาคตจะเป็นรัฐบาลที่ไม่เพียงแต่ผสมกับพรรคการเมืองด้วยกันเท่านั้น แต่จะมีลักษณะรัฐบาลที่มีส่วนผสมของวุฒิสภาไปด้วย

แทบไม่ต้องทำนายเลยว่ารัฐบาลชุดแรกที่มาจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จะมีเสถียรภาพไปได้สักกี่น้ำ