posttoday

อาเซียนมุ่งสู่อนาคต มุ่งนวัตกรรม-ดันความร่วมมือภายใน

17 พฤศจิกายน 2560

ในปี 2017 นี้ สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ได้เดินทางมาถึงปีที่ 50 แล้ว ท่ามกลางคำถามว่าอีก 50 ปีข้างหน้า อาเซียนจะเป็นอย่างไรต่อไป

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

ในปี 2017 นี้ สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ได้เดินทางมาถึงปีที่ 50 แล้ว ท่ามกลางคำถามว่าอีก 50 ปีข้างหน้า อาเซียนจะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งภายในงานบางกอกโพสต์ ฟอรัม 2017 ASEAN @ 50 : In Retrospect เมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา อดีตผู้นำอาเซียน 3 ราย ได้แสดงความมั่นใจว่าภูมิภาคนี้จะสามารถฝ่าความท้าทายไปสู่อนาคตยุคใหม่ร่วมกันได้

โก๊ะจ๊กตง รัฐมนตรีอาวุโสเกียรติคุณและอดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เปิดเผยว่า ในโอกาสที่สิงคโปร์จะรับตำแหน่งประธานหมุนเวียนของอาเซียนในปีหน้า สิงคโปร์จะผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน โดยเพิ่มความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น เช่นเดียวกับที่สิงคโปร์ร่วมมือกับไทยในการเชื่อมต่อ “เพย์นาว” บริการชำระเงินของสิงคโปร์​ กับ “พร้อมเพย์” ของไทย

โก๊ะจ๊กตง ระบุว่า อาเซียนมีศักยภาพมากเพียงพอที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเอเชียในอนาคต โดยจำเป็นต้องเตรียมพร้อมคนรุ่นใหม่เพื่อรับการเปลี่ยนแปลง พร้อมด้วยการมุ่งสู่การเป็นสมาร์ทอาเซียนคอมมูนิตี้ หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและดิจิทัล ซึ่งการปฏิรูปการศึกษาถือเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการดำเนินการดังกล่าว

อาเซียนยังควรให้ความสำคัญกับภาคส่วนเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ซึ่งจำเป็นต้องผลักดันให้คนรุ่นใหม่ให้เข้าศึกษาในภาคส่วน STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และยา) โดยปัจจุบันอาเซียนยังตามหลังจีนและอินเดียที่สามารถผลิตนักศึกษาในภาคส่วนดังกล่าวได้ 4.7 ล้านคน และ 2.6 ล้านคนตามลำดับคงนโยบายไม่แทรกแซง

อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ตอบคำถามเรื่องความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมาที่มีการใช้ความรุนแรงกับชาวโรฮีนจา หรือในกัมพูชาที่มีการกวาดล้างฝ่ายค้านว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องภายในของแต่ละชาติ

อย่างไรก็ตาม มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย เปิดเผยว่า แม้อาเซียนไม่ควรชี้นิ้วสั่งประเทศใดให้ทำตาม แต่หากเหตุการณ์ความไม่สงบดังกล่าวขยายเป็นวงกว้างขึ้น เช่น การสังหารผู้คนในสมัยเขมรแดง อาเซียนควรมีช่องทางที่จะเข้าไปมีอิทธิพลกดดันประเทศนั้นๆ

อาเซียนเป็นโมเดลให้กับโลกในการอยู่ร่วมกันในภูมิภาคได้อย่างสันติ โดยเฉพาะในยุคที่ความขัดแย้งเกิดขึ้นทั่วโลก เช่น สงครามในเยเมนและอิรัก โดยอาเซียนเกิดขึ้นมาไม่ใช่เพราะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่เพื่อแก้ไขความขัดแย้งและป้องกันการเกิดสงคราม ซึ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ตามมาทีหลัง

อย่างไรก็ตาม หลายชาติไม่ได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจดังกล่าวอย่างเท่าเทียม เนื่องจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจของแต่ละชาติไม่เท่ากัน ดังนั้นควรให้ผลประโยชน์บางอย่างกับชาติที่เล็กกว่า เพื่อให้ชาติกำลังพัฒนาสามารถแข่งขันได้

ขณะเดียวกัน มหาเธร์ ระบุว่า นโยบายบางอย่างของแต่ละชาติ ส่งผลกระทบต่อความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียน เช่น มาเลเซียที่มีข้อพิพาทในพื้นที่ทะเลจีนใต้กับจีน ตรงกันข้ามบางประเทศที่ยอมรับอิทธิพลของจีน

เน้นพึ่งพาภายในมากขึ้น

สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า อาเซียนยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายเพิ่มมากขึ้น โดยในปัจจุบัน อาเซียนพึ่งพาเงินลงทุนจากต่างชาติมากเกินไป ทั้งการลงทุนจากญี่ปุ่นและการลงทุนในโครงการ 1 แถบ 1 เส้นทาง ของจีน

ทั้งนี้ อาเซียนควรหันมาพึ่งพาซึ่งกันและกันให้มากขึ้นในด้านการลงทุน เนื่องจากไม่สามารถคาดหวังการลงทุนจากต่างชาติได้ตลอดไป โดยอาเซียนมีกำลังมากพอในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องการเม็ดเงินจำนวนมหาศาล ซึ่งอาเซียนมีศักยภาพมากพอ เมื่อพิจารณาจากทุนสำรองระหว่างประเทศที่รวมกัน 10 ชาติ เกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 33 ล้านล้านบาท)

“อินโด-แปซิฟิก จะกลายเป็นเสาแห่งการเติบโตโลกในอนาคต” สุรินทร์ กล่าว โดยอินโด-แปซิฟิก ครอบคลุมถึง 10 ชาติอาเซียนรวมถึงอินเดียด้วย

ขณะเดียวกัน อาเซียนยังเผชิญกับความท้าทายอีกอย่างหนึ่งหลังการลดกำแพงภาษีในกลุ่ม 6 ประเทศสมาชิก เนื่องจากแม้ลดกำแพงภาษีลงแล้ว แต่กลับเพิ่มอุปสรรคการค้าที่ไม่ใช่ภาษีขึ้นมา ซึ่งรวมถึงไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

นอกจากนี้ อาเซียนยังขาดกลไกการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างกัน ทำให้ไม่สามารถดึงดูดเงินลงทุนได้มากที่ควรเป็น และเมื่อเกิดความขัดแย้ง ก็มักจะต้องพึ่งศาลระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่นอกอาเซียน ดังนั้น หากต้องการให้การค้าระหว่างกันมีประสิทธิภาพมากขึ้น จำเป็นต้องมีกลไกดังกล่าว

สุรินทร์​ กล่าวด้วยว่า อาเซียนยังเผชิญกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป โดยที่ผ่านมา อาเซียนหรือประเทศอื่นๆ ต่างมีการพูดคุยในระดับพหุภาคี แต่ในปัจจุบัน หลายประเทศเริ่มหันมาให้ ความสำคัญกับชาติตัวเองมากขึ้น จึงทำให้การพูดคุยกลับไปสู่ระดับทวิภาคี ดังนั้น ทางรอดของอาเซียนจึงต้องให้ความสนใจกับอาเซียนด้วยกันเองให้มากขึ้น ซึ่งรวมถึงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ของสมาชิก 16 ชาติด้วย