posttoday

คะแนนตก-หวงอำนาจ ม็อบต้านเริ่มแรง

16 พฤศจิกายน 2560

หากจะบอกว่าผลงานหนึ่งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถบริหารประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรมน่าจะเป็นเรื่องการจัดความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

หากจะบอกว่าผลงานหนึ่งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถบริหารประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรมน่าจะเป็นเรื่องการจัดความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ

ย้อนกลับไปเมื่อครั้ง คสช.เข้ามาทำการรัฐประหารใหม่ๆ เมื่อปี 2557 ได้ปรากฏการชุมนุมต่อต้าน คสช.อยู่บ้างประปราย ซึ่งมีคนมาร่วมเป็นจำนวนไม่น้อย แต่ คสช.ก็สามารถใช้กลไกอำนาจรัฐในมือจัดการได้อย่าง อยู่หมัด

นับจากนั้นม็อบการเมืองก็ไม่ปรากฏความเคลื่อนไหวตามท้องถนนมากนัก จะมีเพียงแต่การแสดงความคิดเห็นผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่เหนือการควบคุมของ คสช. และถ้าจะทุ่มกำลังไปไล่ล่านักเลงคีย์บอร์ด ก็ไม่ต่างอะไรกับการขี่ช้างจับตั๊กแตนเป็นการลงทุน ที่ไม่คุ้มค่าเท่าไหร่นัก

ด้วยเหตุนี้ คสช.จึงเลือกที่จะจัดการเฉพาะกลุ่มหัวโจกเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากการเชิญกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นต่างมาปรับทัศนคติ

คสช.ทราบดีว่าเพียงแค่การใช้อำนาจรัฐอย่างเดียวย่อมไม่อาจทำให้ม็อบสงบได้ จึงได้พยายามสร้างผลงานเพื่อหาแนวร่วมทางสังคมเพื่อกดดันกลุ่มบุคคลที่ออกมาสร้างเงื่อนไขความขัดแย้ง

แต่มาถึง ณ ตอนนี้ ดูเหมือนว่าการบริหารราชการแผ่นดินของ คสช.กลับไม่ช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับ คสช.เท่าไรนัก

ยกตัวอย่างในเรื่องการปฏิรูปประเทศ คสช.ลงทุนสร้างสภาเพื่อมาทำหน้าที่ดังกล่าวถึงสองครั้ง ได้แก่ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

ทั้งสองสภาได้เวลาทำงานรวมกันประมาณ 3 ปี แต่อย่างที่เห็นไม่มีผลงานอะไรนอกจากการทยอยส่งรายงานให้กับรัฐบาลไปดำเนินการต่อ อันมีคำถามตามมาว่าเวลานี้รัฐบาลได้หยิบจับไปทำให้เป็นรูปธรรมแล้วบ้างหรือไม่

กลับกัน คสช.กลับถูกมองว่าการตั้งสภาทั้งสองไม่ต่างอะไรกับการต่างตอบแทน จึงเป็นเหตุผลหลักที่ คสช.ยังไม่ค่อยได้รับการยอมรับในเรื่องการปฏิรูปประเทศ ทั้งๆ ที่การเข้ามาบริหารประเทศของ คสช.มีเรื่องการปฏิรูปประเทศเป็นธงนำ

ยิ่งนานวัน คะแนนนิยมเริ่มลดลงจากเดิมที่มีคะแนนอยู่ในระดับที่ดีมาตลอด

อย่างกรณีของสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เมื่อวันที่ 5 พ.ย.ได้ทำการเปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง "โพลปลดล็อกหรือปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.)" พบว่า แม้ในมุมของประชาชนยังคงให้ความสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. แต่มีคะแนนอยู่ระดับ 52% ลดลงจากเดือน ก.ค.ที่มีความนิยม 78.4%

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีอีก 48% ที่แสดงความคิดเห็นว่าไม่ควรสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งๆ ที่เดิมมีเสียงต่อต้านเพียง 21.6% ในเดือน ก.ค. ก่อนที่ผลโพลจะบ่งชี้ว่าประชาชนต้องการ ให้รัฐบาลปรับคณะรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

เมื่อผลงานไม่เข้าตาประกอบกับคะแนนความนิยมเริ่มลดลง จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้เริ่มมีการรวมตัวเพื่อกดดันเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง โดยเฉพาะปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตร

อย่างในกรณีของเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทยได้เดินทางมายังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อวางพวงหรีดประชดการแก้ไขปัญหาราคายางของรัฐบาลที่ไม่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างชัดเจน

ปัญหาราคายางเป็นปัญหาปวดหัวของรัฐบาลมาเป็นระยะ เพราะรัฐบาลไม่เคยแก้ไขปัญหาและสร้างความพอใจให้กับเกษตรกรได้ หนำซ้ำยังมีกล่าวอ้างว่ามีการเมืองอยู่เบื้องหลัง

ขณะเดียวกัน นอกเหนือไปจากเรื่องราคาที่เป็นปัญหาของเกษตรกร ในยุค คสช.แล้ว ยังต้องเจอกับ ความผิดพลาดเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำอีกด้วย

แม้ปัญหาน้ำท่วมปีนี้จะไม่รุนแรงเท่ากับเมื่อปี 2554 แต่ภาพที่ปรากฏออกมาทำให้ คสช.เสียรังวัดไปไม่น้อย เพราะต้องไม่ลืมมีคนในรัฐบาลและ คสช.เคยโยนบาปให้กับรัฐบาลในอดีต จึงไม่แปลกที่ คสช.ต้องเจอกับแรงเหวี่ยงปะทะเข้าตัวรุนแรง

ด้วยเหตุนี้เองกระแสของการให้คืนอำนาจให้กับประชาชนผ่านการ เลือกตั้งเริ่มกระหึ่มมากขึ้น เพื่อต้องการให้ได้รัฐบาลที่ประชาชนเลือกเข้ามาบริหารประเทศแทนรัฐบาลที่มาจากวิธีการพิเศษอย่าง คสช. เพราะอย่างน้อยรัฐบาลจากการเลือกตั้ง น่าจะเงี่ยหูฟังประชาชนมากกว่าปัจจุบัน

แต่ทว่า คสช.ยังแสดงท่าทีหวงอำนาจออกมาให้เห็นเป็นระยะดังจะเห็นได้จากการตั้งคำถามให้ประชาชนถึง 2 รอบ รอบแรกมีจำนวน 4 คำถาม รอบที่สองมี 6 คำถาม ซึ่งดูจากเนื้อหาของคำถามที่ตั้งแล้วย่อมมองได้ว่าเป็นการชี้นำให้ประชาชนเห็นแง่ลบ ของการมีนักการเมืองเข้ามาบริหาร เพื่อให้หันมาสนับสนุน คสช.ทำหน้าที่ต่อไป

แน่นอนว่าในเชิงอำนาจ คสช.สามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ เพราะ คสช.เป็นผู้ทรงอำนาจมากที่สุดในเวลานี้ พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองอื่นๆ ไม่ได้มีต้นทุนและพลังมากพอที่จะออกมาขับไล่ คสช.ได้ในเวลานี้

แต่การจัดการกลุ่มการเมืองที่ คสช.ใช้อยู่ จะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะใช้ได้กับกลุ่มเกษตรกรที่มีวัตถุประสงค์แตกต่างไปกับกลุ่มการเมือง

เวลานี้เป็นช่วงปลายอำนาจของ คสช. แม้ คสช.จะพยายามใช้คำถาม 6 ข้อหรือ 4 ข้อเพื่อช่วยสร้างความชอบธรรม แต่การหวงอำนาจเช่นนี้ท่ามกลางผลงานที่ยังไม่เข้าตา จะสู้กับกระแสต่อต้านที่เริ่มเปิดตัวไปได้อีก สักกี่น้ำ