posttoday

บิ๊กตู่ ปรับ ครม. หยิกเล็บเจ็บเนื้อ

15 พฤศจิกายน 2560

กระแสการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่คาดว่าน่าจะเป็นครั้งสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าถูกจับตาเป็นพิเศษ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

กระแสการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่คาดว่าน่าจะเป็นครั้งสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าถูกจับตาเป็นพิเศษ เพราะถือเป็นการปรับกระบวนทัพครั้งใหญ่ที่มีภารกิจสำคัญกับการเร่งเครื่องทำผลงานในช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ทำให้คาดการณ์กันว่าครั้งนี้น่าจะเป็นการปรับใหญ่ นำคนที่มีฝีไม้ลายมือเข้ามาเสริมทีม ครม.ประยุทธ์ 5 แทนตำแหน่งที่ยังไร้ผลงาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์

สอดรับกับผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจากนิด้าโพลที่ประชาชนส่วนใหญ่  68.1% ระบุว่า เห็นด้วยกับการปรับ ครม. คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันยังทำงานและแก้ไขปัญหาได้ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ

“ประชาชนอยากเห็นคนใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับตำแหน่งเข้ามาทำงาน มีวิสัยทัศน์หรือนโยบายใหม่ๆ มาใช้ในการบริหารประเทศ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น”

มีเพียงแค่ 16.7% ที่ระบุว่าไม่เห็นด้วยกับการปรับ ครม. เพราะต้องการให้เกิดความต่อเนื่องในการแก้ไข ปัญหาของประเทศ และ 15.2% ระบุว่าไม่แนใจ

ไม่ต่างจากภาคส่วนต่างๆ ที่ออกมาเรียกร้องให้การปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีครั้งนี้ ดึงเอาคนที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ตรงกับสายงานของแต่ละกระทรวงเข้ามาทำหน้าที่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ

ทดแทนบรรดา “บิ๊กทหาร” ที่ทาง คสช.ไว้เนื้อเชื่อใจให้มารับตำแหน่งสำคัญตั้งแต่หลังรัฐประหารจนถูกถล่มว่าเลือกแต่คนที่ใกล้ชิดสนิทสนมมากกว่าคนที่มีความรู้ความสามารถ

แม้จะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงประสิทธิภาพในการทำงานของบุคลากรจากกองท้พที่ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทมาเป็นกลไกของฝ่ายบริหาร แต่การปรับ ครม. 4 ครั้งที่ผ่านมา หลายคนก็ยังรักษาสถานะความเป็นรัฐมนตรีได้อย่างเหนียวแน่นจนถึงปัจจุบัน

อาจมีเพียงแค่การสลับสับเปลี่ยนเก้าอี้หมุนเวียนตำแหน่งเพื่อลดแรงกดดันจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์

ครั้งนี้ก็เช่นกันจากนิด้าโพล กระทรวงที่ประชาชนต้องการเห็นการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีมากที่สุดก็คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 20.3%  ตรงกับเสียงสะท้อนจากหลายฝ่ายในสังคม

ทำให้รอบนี้เก้าอี้ของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ถูกสั่นคลอนเป็นพิเศษ ทั้งด้วยสถานะหน้าที่และบทบาทรับผิดชอบดูแลงานสำคัญ ในวันที่ราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ

ไม่ต่างจากก่อนหน้านี้เมื่อครั้งรับตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ ซึ่งเคยมีแรงกดดันรุนแรงเรียกร้องให้ปรับออกจากตำแหน่ง แต่สุดท้ายก็เพียงแค่ถูกโยกมานั่งเป็น รมว.เกษตรฯ ตอกย้ำสายสัมพันธ์อันเหนียวแน่น 

การปรับ ครม.ครั้งนี้จึงเข้าทำนอง “หยิกเล็บเจ็บเนื้อ” จนเชื่อว่าสุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ คงไม่ปรับคนใกล้ชิดออกจาก ครม.อันอาจเป็นชนวนสร้างความระหองระแหงต่อไปในอนาคต

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญจำเป็นที่ คสช.ต้องผนึกกำลังรักษาสัมพันธ์ภายในไม่ให้บานปลายไปสู่ความบาดหมางอันจะไม่เป็นผลดีในระยะยาว

ยิ่งในวันที่ คสช.ประกาศท่าทีเตรียมเข้าสู่ถนนการเมืองแบบเต็มตัวในช่วงหลังการเลือกตั้ง จำเป็นจะต้องมีแรงสนับสนุน ช่วยประคับประคองให้เดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ

ดังจะเห็นว่ากองเชียร์และผู้ที่เคยสนับสนุนอันเหนียวแน่นตั้งแต่ช่วงหลังรัฐประหาร เวลานี้หลายรายเริ่มถอยห่างออกมา หลายรายกลายเป็นคู่ขัดแย้ง ยังไม่รวมกับกลุ่มการเมืองที่เริ่มเปิดหน้าออกมาท้าทายอำนาจและการบริหารงานของ คสช.

การรักษาพันธมิตรจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง เพราะการปรับรัฐมนตรีพ้นจากเก้าอี้ ย่อมตอกย้ำว่ามีปัญหาเรื่องการบริหารงานที่ผ่านมา อันอาจบานปลายทำให้ความสัมพันธ์ย่ำแย่ลง

ระหว่างนี้จึงเห็นภาพเกษตรกรแห่ไปให้กำลังใจ พล.อ.ฉัตรชัย  สอดรับกับที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า การแก้ไขปัญหาราคาพืชผลการเกษตรนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย รัฐบาลมีงบประมาณในการแก้ไขปัญหาอยู่จำนวนหนึ่ง

ไม่ต่างจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ถูกกระแสกดดันให้ปรับออกจากตำแหน่งในการปรับ ครม.ครั้งนี้ โดยเจ้าตัวบอกว่าขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี “ส่วนจะอยู่หรือจะไปยังไม่รู้เลย”

ในทางปฏิบัติคงเป็นเรื่องยากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเขี่ยพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ให้พ้น ครม.ในช่วงเวลานี้ เพราะหากจะทำก็คงทำไปนานแล้ว จากที่เคยมีกระแสเรียกร้องให้ปรับออกจากตำแหน่ง และความระหองระแหงที่มีให้ได้ยินมาโดยตลอด

เช่นเดียวกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย  ที่ต่อให้มีแรงกดดันขนาดไหน ก็คงไม่อาจตัดขาดกันได้ง่าย จำเป็นต้องประคับประคองกันต่อไปจนสุดทาง

การปรับ ครม.ที่หลายคนเรียกร้องให้เป็นการปรับใหญ่ จึงไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายในสถานการณ์เช่นนี้