posttoday

เลือกตั้งท้องถิ่น เช็กพลังพรรคการเมือง

14 พฤศจิกายน 2560

แม้ความชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้งระดับชาติจะมีไม่มากนัก แต่เริ่มเห็นแสงรำไรเมื่อคสช. เตรียมเปิดทางให้เกิดการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในเร็วๆ นี้

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

แม้ความชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้งระดับชาติจะมีไม่มากนัก แต่เริ่มเห็นแสงรำไรเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมเปิดทางให้เกิดการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในเร็วๆ นี้

"คสช.กำลังพิจารณาถึงการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยมีทั้งระดับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล กรุงเทพมหานคร (กทม.) เมืองพัทยา โดย คสช.ดูมาเป็นระยะๆ และได้หารือกับกระทรวงมหาดไทย ว่าอาจจะต้องปลดล็อกให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่เป็นแค่บางระดับ ไม่ใช่ทั้งหมด...

แต่ไม่ใช่ว่าจะนึกปลดล็อกแล้วทำได้ทันที เพราะคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งท้องถิ่นเหล่านี้ จะ ไม่เหมือนคุณสมบัติเก่า รัฐธรรมนูญใหม่ได้เขียนไว้อีกแบบหนึ่งแล้ว ดังนั้นต้องแก้กฎหมายก่อน" วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุเมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา

ปัจจุบันการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นปัญหาคาราคาซังที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานนับตั้งแต่ คสช.เข้ามาทำการรัฐประหารเมื่อปี 2557 เพราะมีปัญหาผู้บริหารในหลายพื้นที่หมดวาระแต่ คสช.ไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งใหม่ เนื่องจากมองว่าจะสร้างความวุ่นวายทางการเมือง จึงได้ออกประกาศ คสช.ที่ 85/2557 เพื่องดจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นออกไปก่อน

ด้วยเหตุผลทางการเมืองทำให้ประเทศว่างผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากประชาชนพอสมควร ส่งผลถึงการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่ก็ไม่อาจทำได้เต็มที่เท่าที่ควร ยิ่งนานวันเข้ากระแสความไม่พอใจลามมาถึง คสช. เพราะโดยสภาพแล้ว คสช.แต่เพียงลำพังก็ไม่อาจดูแลครอบคลุมได้ทั่วถึง

อีกทั้งจากการที่ คสช.เริ่มส่งสัญญาณถึงการชะลอการเลือกตั้งระดับชาติผ่านการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ตั้งคำถามเพื่อให้ประชาชนช่วยกันส่งคำตอบมาให้รัฐบาลสองช่วง แบ่งเป็น ช่วงแรก 4 คำถาม ช่วงที่สอง 6 คำถาม

คำถามที่ออกมานั้นแทนที่ คสช.จะได้ดอกไม้กลับมา ปรากฏว่า คสช.ได้ก้อนอิฐมาแทน เพราะถูกมองเป็น อย่างอื่นไม่ได้นอกจากการพยายามโยนคำถามชี้นำให้ประชาชนเพื่อขอเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากกำหนดการเดิมในปี 2561

ไม่เพียงเท่านั้น การพยายามเลื่อนการเลือกตั้งของ คสช.นั้นเป็นการโยนหินถามทางในลักษณะผิดที่ผิดทางไปพอสมควร โดยหินที่โยนออกมาเกิดขึ้นท่ามกลางคะแนนความนิยมของรัฐบาลไม่ค่อยสู้ดีนัก

หรือแม้แต่การยืนกรานไม่ยอมปลดล็อกให้กับพรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ก็เป็นแรงเหวี่ยงแง่ลบมายัง คสช.อย่างรุนแรง

ทั้งหมดจึงเป็นแรงบวกที่ส่งผลให้ คสช.กลายเป็นหมู่บ้านกระสุนตกไปโดยปริยาย

ตรงนี้อาจเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไม คสช.จำเป็นต้องเปิดทางให้มีการเลือกตั้งเพื่อเป็นการผ่อนกระแสต่อต้านที่เริ่มกลับมารุนแรงอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม การปลดล็อกให้เลือกตั้งท้องถิ่นไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่ดีเพียงอย่างเดียว แต่เหนืออื่นใด คสช.ต้องการหยั่งกระแสประชาชนที่มีต่อพรรคการเมืองในระดับหนึ่งด้วย

ที่ผ่านมา คสช.มักจะอาศัยการโจมตีนักการเมืองผ่านสื่อมวลชนเป็นหลัก เพื่อชี้นำให้เห็นว่านักการเมืองเป็นต้นเหตุของปัญหาของประเทศและทางการเมืองทั้งหมด โดยที่ คสช. ไม่เคยได้รู้เลยว่าประชาชนคิดอย่างไรกับพรรคการเมือง โดยเฉพาะกับ พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์

แน่นอนว่า คสช.ต้องการเห็นตัวเลขในคะแนนความนิยมของทั้งสองพรรคในการเลือกตั้งท้องถิ่นว่าจะมี หน้าตาเป็นอย่างไรในแต่ละพื้นที่ พรรคการเมืองที่อ้างนักอ้างหนาว่าตัวเองเป็นเจ้าของพื้นที่ยังจะสามารถรักษาฐานเสียงของตัวเองไว้ได้หรือไม่ เพื่อเป็นฐานในการวิเคราะห์ว่าหาก ตัวเองจะมาเป็นนายกฯ ในอนาคตผ่านช่องทางลัดจะมีความเป็นไปได้หรือไม่

นอกจากนี้ คสช.ยังต้องการดูความตื่นตัวของประชาชนต่อการเลือกตั้งระดับเล็กด้วย เพราะไม่ว่าตัวเลขของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงจะมีมากหรือน้อยก็ล้วนแต่แสดงถึงนัยทางการเมืองพอสมควร

กล่าวคือ ถ้ามีประชาชนออกมาใช้สิทธิมากกว่า 50% ย่อมอาจหมายความได้ระดับหนึ่งว่าประชาชนแสดงความต้องการให้ คสช.คืนอำนาจให้กับประชาชนเพื่อเลือกรัฐบาลมา บริหารประเทศด้วยตัวเอง แต่หากตัวเลขออกมาไม่เป็นเช่นนั้น ก็ย่อมอาจหมายความในทางกลับกันได้เช่นกันว่าประชาชนยังไม่ต้องการการเลือกตั้งใหญ่เท่าไหร่นัก ซึ่งอาจเป็นช่องโหว่ที่ทำให้ คสช.หาทางอยู่ในอำนาจต่อไป

แต่กระนั้น แม้ คสช.จะยอมให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ แต่ในมุมหนึ่ง คสช.แสดงออกถึงความเขี้ยวทางการเมืองพอสมควรเช่นกัน

ดังจะเห็นได้จากท่าทีของ "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" รอง นายกฯ และ รมว.กลาโหม ที่ระบุว่าการหาเสียงของผู้สมัครห้ามพาดพิง คสช.เด็ดขาด

"คิดว่าจะต้องมีการปลดล็อกระดับหนึ่งก่อน ถ้าจะให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น ส่วนเงื่อนไขการปลดล็อกก็ให้ทำแค่การเลือกตั้งท้องถิ่นเท่านั้น ส่วนการปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น เราจะขอความร่วมมือไม่ให้มีเนื้อหาโจมตี คสช. และสร้างความขัดแย้ง แต่เรื่องนี้เดี๋ยวค่อยว่ากัน" พล.อ.ประวิตร ยืนยันแข็งกร้าว

ดังนั้น ที่สุดแล้วการยอมให้ เลือกตั้งท้องถิ่น คสช.จึงมีแต่ได้กับได้ ได้ลดกระแสต่อต้านและได้เห็นความคิดเห็นของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่มองแค่ลอยๆ เหมือนที่ผ่านมา