posttoday

6 คำถามบิ๊กตู่ ได้ไม่คุ้มเสีย

13 พฤศจิกายน 2560

6 คำถามออกมาหยั่งกระแสสังคม จนถึงขั้นถูกตีความว่าเป็นการเปิดหน้าสู่สนามการเมืองแบบเต็มตัว

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เสียงวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงหนักขึ้นเรื่อยๆ ​หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปล่อย 6 คำถามออกมาหยั่งกระแสสังคม จนถึงขั้นถูกตีความว่าเป็นการเปิดหน้าสู่สนามการเมืองแบบเต็มตัว​

ด้วยเนื้อหาของคำถามทั้ง 6 ข้อ ที่ออกมาสอบถามความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งจะดำเนินผ่านกลไกของกระทรวงมหาดไทยนั้น ถูกมองว่าเป็นเพียงแค่การหยั่งเสียงเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนสถานะ และบทบาทของ คสช.ไปสู่การเมืองเต็มรูปแบบในอนาคตหลังมีการเลือกตั้ง

ไล่มาตั้งแต่ ข้อ 1 วันนี้เราจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่ๆ หรือนักการเมืองหน้าใหม่ๆ ที่มีคุณภาพให้ประชาชนได้พิจารณาในการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือไม่? การที่มีแต่พรรคการเมืองเดิม นักการเมืองหน้าเดิมๆ แล้วได้เป็นรัฐบาล จะทำให้ประเทศชาติเกิดการปฏิรูป และทำงานอย่างต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่?

ข้อ 2 การที่ คสช.จะสนับสนุนพรรคการเมืองใด ก็ถือเป็นสิทธิของ คสช.ใช่หรือไม่ เพราะนายกฯ ก็ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอยู่แล้ว และ ​3.สิ่งที่ คสช.และรัฐบาลนี้ได้ดำเนินการไปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนมองเห็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติบ้างหรือไม่ โดยคำถามย่อยไม่ต่างจาก 4 คำถามของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เคยออกมาสอบถามประชาชนคล้ายกันนี้ ซึ่งถูกมองว่าเป็นการเช็กเรตติ้งปูทางสู่การ “ยื้อเลือกตั้ง”

จนนำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ และแรงเสียดทานอย่างหนัก ถึงขั้นเกิดกระแสเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์​ พูดให้ชัดเจนเรื่องการเลือกตั้งว่าจะมีขึ้นเวลาใดกันแน่ หลังมีสัญญาณเลื่อนมาเรื่อยๆ

ในช่วงที่คนในรัฐบาลและ คสช.ต่างพูดกันไปคนละทิศละทางเรื่องความพร้อมในการเลือกตั้ง ตลอดจนกระแสข่าวเรื่องการคว่ำกฎหมายลูกในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่สร้างความกังขาให้กับพรรคการเมืองจนต้องออกมากระทุ้ง คสช.

เช่นเดียวกับครั้งนี้ที่ 6 คำถามออกมาในจังหวะเวลาเดียวกับกระแสข่าวเรื่องการตั้งพรรคทหาร ที่ถูกมองว่าอาจเป็นนอมินีของ คสช.ในการลงสนามเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น

สอดรับไปกับท่าทีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่แบ่งรับแบ่งสู้ เรื่องการตั้งพรรค หากจำเป็นก็ตั้ง แต่เวลานี้ยังไม่จำเป็น

คล้ายกับ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. ที่ยังเปิดทางเรื่องการตั้งหรือสนับสนุนพรรคการเมืองในอนาคต

สุดท้ายเมื่อนำ “จิ๊กซอว์” แต่ละตัวมาปะติดปะต่อกัน ย่อมจะเห็นภาพที่ชัดเจน และประเมินทิศทางในอนาคตของ คสช.ได้กระจ่างขึ้น

ประเมินผลลัพธ์ที่ได้แล้ว 6 คำถามรอบนี้ คสช.จึงเหมือนจะ “เสีย” มากกว่า “ได้”

เริ่มตั้งแต่น้ำเสียงจากคำถามที่ออกมาถูกมองว่าเป็นการทำเพื่อตัวเอง มากกว่าหวังว่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวม

โดยเฉพาะกับคำถามที่ระบุถึงการสนับสนุนพรรคการเมืองของ คสช. แม้นายกรัฐมนตรีจะไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ด้วยกลไกอำนาจในปัจจุบันที่ยังคงมีต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเปลี่ยนผ่านย่อมทำให้เกิดกความได้เปรียบเสียเปรียบต่อพรรคการเมืองอื่นเป็นอย่างมาก

ยังไม่รวมกับกรณีที่พรรคการเมืองเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่จะทำให้เกิดประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน แถมยังมีตัวช่วยอย่าง สว.​ 250 เสียง

เหล่านี้ล้วนแต่ทำให้ประเด็นเรื่องการสืบทอดอำนาจถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักขึ้น อันจะกลายเป็นแผลให้ถูกโจมตีจากฝ่ายต่างๆ และฉุดความเชื่อมั่นที่มีต่อ คสช.รุนแรง

ยิ่งในวันที่ คสช.ยังไม่พิจารณาปลดล็อกให้พรรคการเมืองออกมาเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมือง หรือเตรียมความพร้อม ทั้งที่การเลือกตั้งใกล้เข้ามาทุกที

ส่วนการหยิบยกเรื่องปัญหาการเมืองในอดีต และโยนให้เป็นเรื่องของนักการเมืองที่ผ่านมา พร้อมเสนอทางเลือกให้เห็นถึงพรรคการเมืองใหม่ นักการเมืองใหม่​นั้น ก็ไม่ได้เป็นเหตุเป็นผล หรือเป็นหลักประกันว่าพรรคการเมืองใหม่ที่เข้ามาจะทำให้สถานการณ์ทุกอย่างดีขึ้นได้

ตรงกันข้าม ท่าทีเหล่านี้เสมือนจะเป็นการยกตน สร้างราคาให้กับฝั่ง คสช.เหนือกลุ่มการเมืองในอดีต จนถูกพรรคการเมืองเรียงหน้าตอกกลับเรื่องหลักการประชาธิปไตย

โดยเฉพาะกับข้อเรียกร้องก่อนหน้านี้ที่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกมาลงสนามการเมือง หากต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย ไม่ใช่รอใช้ช่องทางพิเศษตามที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดไว้

ยิ่งระยะหลังคะแนนนิยมในตัว พล.อ.ประยุทธ์ และความเชื่อมั่นที่มีต่อ คสช. สะท้อนผลโพลหลายสำนักจะลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ แล้ว นั่นย่อมไม่ใช่สัญญาณที่ดีกับช่วงขาลงก่อน คสช.หมดวาระ

อย่าลืมว่าบทเรียนจากการรัฐประหารที่ผ่านๆ มา ล้วนแต่สะท้อนให้เห็นว่า “ประชาชน” ไม่ได้เห็นดีเห็นงามไปกับการสืบทอดอำนาจของคณะปฏิวัติเท่าไรนัก

การตั้งคำถาม 6 ข้อ เพื่อหวังเพียงจะปลุกกระแส ดิสเครดิตกลุ่มการเมืองในอดีต และสร้างความหวังผ่านพรรคการเมืองคนหน้าใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่ จึงอาจไม่ใช่การขยับที่เหมาะสมนักในเวลานี้

โดยเฉพาะกับกลุ่มการเมืองใหม่ที่เต็มไปด้วยข้อกังขาเรื่องการเป็นนอมินีของคณะรัฐประหาร ที่สุดท้ายจะนำไปสู่แรงกดดันย้อนกลับมายัง คสช.อย่างรุนแรง