posttoday

บิ๊กตู่ ตั้ง 6 คำถาม เปิดหน้าสู่เวทีการเมือง

10 พฤศจิกายน 2560

เปิดหน้าเตรียมก้าวสู่สนามการเมืองแบบเต็มตัวกับ 6 คำถาม ที่ พล.อ.ประยุทธ์ส่งไปถึงประชาชนทั่วประเทศผ่านกลไกกระทรวงมหาดไทย ในวันที่กระแสข่าวเรื่อง "พรรคทหาร" กำลังร้อนแรง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เปิดหน้าเตรียมก้าวสู่สนามการเมืองแบบเต็มตัวกับ 6 คำถาม ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่งไปถึงประชาชนทั่วประเทศผ่านกลไกกระทรวงมหาดไทย ในวันที่กระแสข่าวเรื่อง "พรรคทหาร" กำลังร้อนแรง

​"วันนี้เราจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่ๆ หรือนักการเมืองหน้าใหม่ๆ ที่มีคุณภาพให้ประชาชนได้พิจารณาในการเลือกตั้งครั้งต่อไปบ้างหรือไม่ การที่มีแต่พรรคการเมืองเดิม นักการเมืองหน้าเดิมๆ แล้วได้เป็นรัฐบาลจะทำให้ประเทศชาติเกิดการปฏิรูปและทำงานอย่างต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่"

เปิดด้วยคำถามข้อแรกก็คล้ายจะเป็นการสร้างความชอบธรรมด้วยหยิบยกปัญหาในอดีตมาอรรถาธิบายถึงความจำเป็น พร้อมกรุยทางหยั่งเสียงถึงทางเลือกใหม่ ที่ชวนให้คิดว่าเป็นพรรคการเมืองใหม่ที่ คสช.สนับสนุนไม่ว่าจะเบื้องหน้าหรือเบื้องหลังด้วยเหตุผลที่เชื่อมโยงไปถึง "ปฏิรูป" และ "ยุทธศาสตร์ชาติ"

สอดรับไปกับข้อ 2.การที่ คสช.จะสนับสนุนพรรคการเมืองใดก็ถือเป็นสิทธิของ คสช.ใช่หรือไม่ เพราะนายกฯ ก็ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยอยู่แล้ว

ข้อ 3.สิ่งที่ คสช.และรัฐบาลนี้ได้ดำเนินการไปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนมองเห็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติบ้างหรือไม่

ยิ่งหากวิเคราะห์ไล่เรียงไปทีละคำถามจะพบว่ามีกลิ่นอายการชี้นำอยู่ไม่น้อย ​สุดท้ายคำตอบที่คาดหวังจากประชาชน คงออกมาในทำนองการเบื่อหน่ายสิ้นหวังกับการเมืองระบบเก่า นักการเมืองหน้าเดิมๆ

คำตอบที่ออกมามีแต่จะตอกย้ำ​ว่ารัฐบาลและการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยที่ผ่านมา มีประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล และมีการพัฒนาประเทศที่มีความต่อเนื่องชัดเจนเพียงพอหรือไม่

ก่อนจะมาขมวดด้วย​คำถามกึ่งข้อเสนอที่ยากจะปฏิเสธกับแนวทางการแก้ปัญหาหมักหมมด้วยการวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ระยะสั้น-กลาง-ยาว รวมทั้งการทำตามยุทธศาสตร์ชาติให้ต่อเนื่อง

ที่สำคัญหากพิจารณาเนื้อหาคำถามในข้อ 4 "การเอาแนวทางจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอดีตมาเปรียบเทียบกับการจัดตั้งรัฐบาลในวันนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งหมดหรือไม่ เพราะสถานการณ์บ้านเมืองก่อนหน้านี้ คสช.และรัฐบาลนี้จะเข้ามา เราได้พบเห็นแต่ความขัดแย้ง ความรุนแรง การแบ่งแยกประชาชนเป็นกลุ่มๆ เพื่อมาสนับสนุนทางการเมืองใช่หรือไม่"

คล้ายจะเป็นการปูทางเตรียมสร้างความชอบธรรมให้กับทาง คสช. โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ หากจะต้องกลับมาสู่สนามการเมืองรอบใหม่ ที่ดูจะไม่เป็นไปตามกฎ กติกา สากล อย่างที่ควรจะเป็น

ไม่แปลกที่ท่าทีของแต่ละพรรคการเมืองจะประสานเสียงออกมาดักคอว่าเป็นสัญญาณการเตรียมตัวเข้าสู่สนามการเมืองถึงขั้นที่ ถาวร เสนเนียม อดีตรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำ กปปส. ฟันธงว่า คสช.จะเล่นการเมืองพร้อมกล่าวต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ สู่เกมนี้

แน่นอนว่าด้วยกฎกติกาที่กำหนดไว้ให้ คสช.ต้องลาออกภายใน 90 วัน นับจากวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองและลงสนามเลือกตั้งเต็มตัวได้

แต่ทว่าด้วยช่องทางพิเศษที่เปิดประตูไว้รองรับให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯ คนนอก พร้อมกลไกตัวช่วยอย่าง สว. 250 เสียง ยิ่งทำให้ถนนการเมืองดูจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ

อีกทั้งไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายแต่อย่างไร เพราะก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ เคยออกมาตั้ง 4 คำถาม คล้ายกันนี้ ที่ว่ากันว่าเป็นการหยั่งเสียงเช็กกระแสความนิยมไปแล้วก่อนหน้านี้

ในวันที่หลายพรรคการเมืองจึงประสานเสียงแสดงความเป็นห่วงว่าการกระโดดเข้าสู่ถนนการเมืองของ คสช.จะยิ่งซ้ำเติมเป็นปัญหาในอนาคต จากความพยายามสืบทอดอำนาจ

ดังจะเห็นจากการออกมาดักคอว่าการกระโดดสู่สนามการเมืองของ คสช.เป็นการเอาเปรียบพรรคการเมืองในระบบเดิม ทั้งอำนาจในปัจจุบันสืบเนื่องไปจนถึงอนาคต

ยิ่งปัจจุบัน คสช.​ยังไม่ยอมปลดล็อกให้พรรคการเมืองออกมาเคลื่อนไหว ทั้งที่เรียงหน้าออกมาทวงถามหลายรอบ ​​หลัง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้

จำเป็นที่แต่ละพรรคต้องเร่งดำเนินการให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎ กติกาใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร ยิ่งหากเปิดให้พรรคการเมืองเคลื่อนไหวได้ช้าเท่าไหร่ย่อมไม่เป็นผลดีต่อพรรคการเมือง

การยื้อเวลาของ คสช.จึงถูกมองว่าอาจเป็นการดึงเกมเพื่อเปิดช่องให้อดีตนักการเมืองลังเลว่าจะอยู่พรรคเดิมต่อไปหรือไม่ ในวันที่กระแสการตั้งพรรคเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

อีกด้านหนึ่งในแง่การบริหารงานเวลานี้ การเปิดหน้าเตรียมลงสนามการเมือง ยิ่งจะทำให้ข้าราชการ ตลอดจนกลไกต่างๆ เลิกเกียร์ว่าง และเดินหน้าสนองนโยบายของรัฐบาล คสช.นับจากนี้

แต่ทั้งหมดอยู่ที่ว่าสุดท้ายประชาชนทั้งประเทศจะคิดอ่านอย่างไรและยอมรับกับทางเลือกนี้หรือไม่