posttoday

พลิกปมเดือดกฎหมาย ปปช.

10 พฤศจิกายน 2560

การจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญกำลังเดินทางมาถึงช่วงโค้งสุดท้ายแล้ว ภายหลังกำหนดเวลา 240 วัน จะสิ้นสุดในวันที่ 2 ธ.ค.

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญกำลังเดินทางมาถึงช่วงโค้งสุดท้ายแล้ว ภายหลังกำหนดเวลา 240 วัน จะสิ้นสุดในวันที่ 2 ธ.ค.

โดยขณะนี้มีร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เหลืออยู่ในมือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ 1.การเลือกตั้ง สส. และ 2.การได้มาซึ่ง สว. ซึ่ง กรธ.จะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายในเดือน พ.ย.นี้

ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สนช.เพิ่งมีมติรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พร้อมกับตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 35 คน

ทันทีที่ร่างกฎหมายเริ่มเข้าสู่การพิจารณา ปรากฏว่าเกิดกระแสท้วงติงพอสมควรกับการที่ สนช.แต่งตั้งให้สมาชิก สนช. จำนวน 2 คน ที่กำลังถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบกรณีร่ำรวยผิดปกติ ได้แก่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และ พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพานิชย์

เรียกได้ว่า กฎหมาย ป.ป.ช.เกิดปมเดือดตั้งแต่ยังไม่เริ่มพิจารณามาตราแรกด้วยซ้ำ แต่ถึงกระนั้นใช่ว่าข้อพิพาทเกี่ยวกับกฎหมาย ป.ป.ช.จะมีเฉพาะเรื่องตัวบุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่กรรมาธิการวิสามัญฯเท่านั้น เพราะในแง่ของเนื้อหาของร่างกฎหมายดังกล่าว ก็มีความแตกต่างทางความคิดที่เกิดขึ้นในคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พอสมควร อย่างน้อย 4 ประเด็น

1.การดำรงตำแหน่งของกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน

กรธ.กำหนดให้มีการรีเซต ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน กล่าวคือ ให้กรรมการ ป.ป.ช.ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไปได้ตราบเท่าที่กรรมการรายนั้นมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

แนวทาง กรธ.ที่ว่านี้จะมีผลให้กรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน รวมถึง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจประธาน ป.ป.ช. ต้องพ้นจากตำแหน่งด้วย

แต่สมาชิก สนช.จำนวนหนึ่ง และกรรมการ ป.ป.ช.ที่ในคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เห็นว่าป.ป.ช.เป็นองค์กรกึ่งตุลาการ ประกอบกับมีคดีที่อยู่ในระบบเป็นจำนวนมาก หากให้เกิดการรีเซต ป.ป.ช.จะมีผลต่อคดีที่ ป.ป.ช.กำลังตรวจสอบ อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยออกมาแล้วว่าการกำหนดความคงอยู่ขององค์กรอิสระตามร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอำนาจเด็ดขาดของ สนช. ด้วยเหตุผลต่างๆ เหล่านี้ควรให้ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันทั้ง 9 คน ได้ทำงานต่อไปจนครบวาระ

2.การให้อำนาจคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ตรวจสอบ ป.ป.ช.

เรื่องนี้อยู่ในมาตรา 42 ซึ่ง กรธ.บัญญัติให้ คตง.มีอำนาจดำเนินคดีกับคณะกรรมการ ป.ป.ช.กรณีไม่แจ้งหรือจงใจปกปิดการแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่ออัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

มาตรา 42 เป็นประเด็นที่ ป.ป.ช.มีความคิดเห็นสวนทางกับ กรธ.มาตลอด และเคยทำหนังสือมายัง "มีชัย ฤชุพันธุ์" ประธาน กรธ.ให้ทบทวนแก้ไข เพราะเห็นว่า คตง.มีหน้าที่แค่ตรวจสอบการใช้งบประมาณเท่านั้น และในรัฐธรรมนูญก็บัญญัติเรื่องการให้ศาลฎีกาฯ ไต่สวนได้อยู่แล้ว จึงไม่เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีมาตรา 42 แต่ถึงที่สุดแล้ว กรธ.ก็ไม่ได้แก้ไขตามคำขอของ ป.ป.ช.

3.การกำหนดยุทธศาสตร์การปราบทุจริต

เดิมเคยมีความพยายามของ ป.ป.ช.ตั้งแต่แรกในการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปราบปรามการทุจริตในลักษณะ "ซูเปอร์บอร์ด ป.ป.ช." มีหน้าที่ทำงานด้านนโยบายการปราบทุจริต พร้อมกับดูแลกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ กองทุน ป.ป.ช. โดยไม่เกี่ยวกับการไต่สวนคดี

ทว่า กรธ.กลับไม่เห็นด้วย เพราะเรื่องยุทธศาสตร์นั้นก็มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติทำหน้าที่ดูแลอยู่แล้ว จึงไม่เห็นถึงความจำเป็น เช่นเดียวกับกรณีของซูเปอร์บอร์ด ป.ป.ช. ซึ่งก็ไม่เห็นถึงความจำเป็นเช่นกัน เนื่องจากการทำงานของ ป.ป.ช.เป็นลักษณะของการให้คุณให้โทษ หากมีคณะบุคคลที่อยู่เหนือคณะกรรมการ ป.ป.ช.ขึ้นไปอีกชั้น อาจส่งผลกระทบต่อความเป็น กลางของ ป.ป.ช.ได้

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของกองทุนอาจเป็นประเด็นที่ กรธ.พอยอมรับได้ส่วนหนึ่ง แต่อาจมีการเสนอให้ปรับปรุงเนื้อหาเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงินที่จะมาจากการบริจาคของบุคคลภายนอก ซึ่งมีความเป็นไปได้จะตัดแหล่งที่มาของเงินในส่วนนี้ออกไป เพื่อไม่ให้กระทบต่อการทำงานของ ป.ป.ช.

4.การยื่นและการเปิดเผยรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการ

เป็นประเด็นที่สมาชิก สนช.หลายคนอภิปรายท้วงติง กรธ. ตั้งแต่การประชุม สนช.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะมาตรา 127 ว่าด้วยการให้ข้าราชการที่ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.นั้น ไปยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อหัวหน้าส่วนราชการแทน

สมาชิก สนช.จำนวนไม่น้อยเห็นว่าเป็นการกำหนดมาตรการที่ไม่มีความจำเป็น เพราะเพียงแค่กำหนดให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.ก็น่าจะเพียงพอแล้ว หากให้หัวหน้าส่วนราชการต้องรับบัญชีดังกล่าวไว้จะเป็นภาระจนกระทบต่อการทำงานหลัก ดังนั้น มีความเป็นไปได้สูงที่ กรธ.จะยอมถอยและแก้ไข เพื่อให้เกิดการถอยคนละก้าวและเดินหน้าพิจารณาร่างกฎหมาย ป.ป.ช.ได้อย่างสงบสุข