posttoday

พรรคทหารเจอตอ กติกาไม่เอื้อ-ต้องใช้นอมินี

09 พฤศจิกายน 2560

"พรรคทหาร" เป็นเรื่องคุ้นเคยของการเมืองไทยทุกครั้งเวลาที่เกิดการรัฐประหาร

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

"พรรคทหาร" เป็นเรื่องคุ้นเคยของการเมืองไทยทุกครั้งเวลาที่เกิดการรัฐประหาร

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2498 ได้มีการตั้ง "พรรคเสรีมนังคศิลา" เรียกว่าเป็นต้นแบบของพรรคทหารก็ว่าได้ เพราะเป็นการรวมตัวกันของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลประภาส จารุเสถียร โดยได้รับการเลือกตั้งมี สส.เข้าสภา 83 ที่นั่ง

ต่อมา จอมพลสฤษดิ์ ตั้ง "พรรคชาติสังคม" เพื่อลงสนามเลือกตั้งปี 2500 จากนั้นเมื่อมีการใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 และกฎหมายพรรคการเมือง จึงได้กำเนิด "พรรค สหประชาไทย" โดยจอมพลถนอมเป็นหัวหน้า แต่พรรคการเมืองนี้ก็ไปไม่รอดเพราะขาดเสถียรภาพภายในรัฐบาล ประกอบกับเกิดเหตุการณ์ชุมนุมใหญ่ ในปี 2516 อันเป็นการปิดตำนานพรรคทหารในเวลานั้น

อย่างไรก็ตาม พรรคทหารได้กลับฟื้นคืนชีพอีกครั้งในปี 2535 ในนาม "พรรคสามัคคีธรรม" และผลักดันให้ "พล.อ.สุจินดา คราประยูร" อดีต ผบ.ทบ.ที่ทำการรัฐประหารในปี 2534 เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไปไม่รอดเนื่องจากเกิดการชุมนุมต่อต้านในเดือน พ.ค. 2535

อาจด้วยความไม่ไว้วางใจของสังคมนับแต่เหตุการณ์เดือน พ.ค. 2535 ทำให้ในช่วงปลายอำนาจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ในช่วงปี 2550 เกิดการจับตาในทำนองจับผิดว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้า คมช.จะตั้งพรรคการเมืองเพื่อกลับเข้าสู่อำนาจอีกหรือไม่

ที่สุดแล้ว พล.อ.สนธิ ก็ตั้งพรรค ในชื่อ "มาตุภูมิ" แต่ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก เมื่อได้ สส.เพียงไม่กี่ ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ด้านหนึ่งเป็นเพราะสภาพสังคมทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไป ทำให้พรรคทหารไม่อาจเกิดขึ้นได้

จากอดีตจนถึงปัจจุบันกงล้อประวัติศาสตร์การเมืองกลับมาตก อยู่ที่ "คณะรักษาความสงบ แห่งชาติ" (คสช.) เพราะนับตั้งแต่รัฐประหารล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปรากฏว่า "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ถูกจับตาเกี่ยวกับการ ตั้งพรรคการเมืองไม่แพ้กัน

เพียงแต่สถานการณ์ของ คสช.และ คมช.ต่างกันพอสมควร ทั้งในเรื่องบรรยากาศและเงื่อนไขทาง การเมือง

คสช.ในปัจจุบันนับเป็นกลุ่มบุคคลที่ทรงอำนาจและอิทธิพลมากที่สุด ในเวลานี้ ความได้เปรียบทางการเมืองที่บรรดาพรรคการเมืองเคยมีนั้นกลับถูกถ่ายโอนไปให้ทหารเกือบทั้งหมด

อีกทั้งสภาพของพรรคการเมืองเวลานี้อ่อนแออย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะกติกาสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่กฎหมายพรรคการเมือง ไม่ได้เอื้อต่อการทำกิจกรรมของพรรคการเมืองเท่าไหร่นัก เช่น ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่จะเป็นต้นเหตุให้พรรคการเมืองไม่มีโอกาสได้เสียงข้างมาก เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับรัฐบาล เป็นต้น

ผิดกับ คสช.ที่กุมอำนาจไว้ผ่านการตั้งวุฒิสภาจำนวน 250 คนที่มีอำนาจเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากการพิจารณากฎหมาย เช่น การทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลในการปฏิรูปประเทศ หรือแม้แต่การให้ผู้นำเหล่าทัพเข้าไปทำหน้าที่เป็นกรรมการยุทธศาสตร์คุมรัฐบาลอีกชั้นหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้เองทำให้ คสช.กลายเป็นบ้านที่หัวกระไดไม่แห้ง เพราะจะมีคนมากหน้าหลายตาวิ่งเข้าหาเป็นจำนวนมาก จึงไม่แปลกเมื่อเกิดกระแสข่าวว่า คสช.จะตั้งพรรคการเมือง ถึงได้รับการจับจ้องจากภายนอกเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตาม หาก คสช.คิด ตั้งพรรคการเมืองเพื่อกลับเข้าสู่อำนาจ อีกครั้งจริงๆ ก็เป็นเรื่องยากพอสมควร เพราะติดเงื่อนไขสำคัญ 2 ประการ

1.สมาชิก คสช.ไม่สามารถลงสมัคร สส.ได้ บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญกำหนดให้สมาชิก คสช. ที่ประสงค์ต้องการจะลงสมัครเลือกตั้ง สส.ต้องลาออกจากตำแหน่งภายใน 90 วันนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้

เมื่อมาถึงจุดนี้หากคิดจะลาออกก็สายไปแล้ว เพราะพ้นระยะเวลา 90 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ หรือสมาชิก คสช.คนใดคิดจะเป็นนายกฯ ในฐานะ สส.ต้องเลิกคิดได้เลย เว้นแต่จะไปอาศัยช่องทางนายกฯ คนนอกแทน

2.ต้องได้ สส. 25 คน เพื่อให้ได้สิทธิเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯ ในการเลือกตั้ง สส. พรรคการเมืองต้องแจ้งรายชื่อบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่เกิน 3 คน ให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้งในวันรับสมัครเลือกตั้ง

แต่พรรคการเมืองนั้นจะได้สิทธิในการเสนอชื่อบุคคลให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกเป็นนายกฯ ได้ก็ต่อเมื่อพรรคการเมืองดังกล่าวมี สส.ในสภาจำนวน 25 คนเป็นอย่างน้อย

มาถึงตรงนี้ย่อมมีคำถามว่าพรรคทหารที่เป็นน้องใหม่ในสนามการเมืองจะได้ สส.ถึง 25 คนหรือไม่ เพราะอย่างในการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 พรรคการเมืองขนาดกลางที่อยู่ในสนามมานานหลายพรรค มีไม่กี่พรรคเท่านั้นที่ได้ สส.เกิน 20 คน

จากทั้งสองเงื่อนไขที่ไม่เป็นคุณ แก่พรรคการเมืองหน้าใหม่มากนัก ย่อมส่งผลในแง่ลบมาถึงพรรคทหารด้วย แม้ว่าพรรคทหารที่ว่านั้นจะมีบรรดาบิ๊กๆ คสช.คอยให้การสนับสนุนก็ตาม ดังที่มีบทเรียนให้เห็นมาแล้ว

ดังนั้น ถ้าพรรคทหารจะเดินตาม กติกาเพื่อเข้าสู่อำนาจก็คงลำบาก ทำให้ต้องอาศัยสายสัมพันธ์ทางการเมืองเพื่อสร้างนอมินีและผลักดันบิ๊กทหารขึ้นมาเป็นนายกฯ คนนอกตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เหมือนกับโมเดลของพรรคสามัคคีธรรม

สุดท้ายแล้ว การมาทางนี้น่าจะมีทางเป็นไปได้มากกว่าการทุบกระปุกออมสินตั้งพรรคการเมือง เพราะการลงทุนนั้นมีความเสี่ยง