posttoday

ขอละเว้น‘หมอ’ไม่ต้องคดีอาญา ทางออกหยุดขัดแย้ง‘คนป่วย-แพทย์’

08 พฤศจิกายน 2560

ประเด็นเรื่องข้อพิพาทที่นำไปสู่การฟ้องร้องระหว่างคนไข้และหน่วยบริการทางการแพทย์ของรัฐ ตลอดระยะเวลานับตั้งแต่ปี 2539-2558 ที่มีการจัดเก็บ ทำให้เห็นตัวเลขที่น่าตกใจ

โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ

เมื่อค้นข้อมูลจากกองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เกี่ยวกับประเด็นเรื่องข้อพิพาทที่นำไปสู่การฟ้องร้องระหว่างคนไข้และหน่วยบริการทางการแพทย์ของรัฐ ตลอดระยะเวลานับตั้งแต่ปี 2539-2558 ที่มีการจัดเก็บ ก็ทำให้เห็นตัวเลขที่น่าตกใจ

เพราะตัวเลขคดีมากถึง 412 คดี ทุนทรัพย์ฟ้องมากถึง 2,873 ล้านบาท สธ.ต้องชดใช้ชำระตามคำพิพากษาไปแล้ว 31 ล้านบาท

ตัวเลขจำนวนคดีที่เป็นทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา คดีผู้บริโภค สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนไข้และแพทย์ที่เหมือนจะยิ่งดูห่างไกลกันมากขึ้น เพราะถูกแปรเปลี่ยนจากการรักษา การเข้ารับบริการทางการแพทย์ กลายเป็นศัตรูกันบนชั้นศาล

ทางออกจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อหยุดยั้งปัญหานี้

จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชี้แนะถึงแนวทางการป้องกันความขัดแย้ง และการเยียวยาแก่ผู้รับบริการหรือคนไข้ ที่เสียหายจากการบริการทางการแพทย์ ในเวทีเสวนาเครือข่ายคุณภาพ และความปลอดภัยในระบบบริการ ปี 2561 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จรัญสะท้อนให้เห็นภาพถึงปัญหาในเนื้อแท้ ซึ่งได้จำแนกปัญหาการฟ้องร้องคดีในวงการแพทย์ออกเป็น 3 ส่วน คือ คดีอาญา คดีปกครอง และคดีแพ่ง ขณะที่หัวใจของปัญหาคือคดีอาญา เพราะสร้างความเสียหายให้กับบุคลากรทั้งแพทย์และพยาบาลอย่างมาก

ความหมายของจรัญที่ระบุคดีอาญาเป็นหัวใจของปัญหาในวงการแพทย์ เพราะเป็นอีกช่องทางที่ทำให้แพทย์ต้องตกเป็นจำเลยและผู้ต้องหาจากผลพวงของการรักษาคนไข้ แม้จะไม่ได้เข้าคุกหรือต้องถูกคุมขังขณะรอพิจารณาคดีก็ตาม หรือท้ายสุดที่ศาลพิพากษาว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และไม่มีความผิด แต่ชีวิตระหว่างตกเป็นผู้ต้องหา หรือจำเลย ทำให้แพทย์ พยาบาลอับเฉา เศร้าหมอง และสะเทือนไปถึงประสิทธิภาพการทำงาน ที่สำคัญที่สุดคือหัวใจของแพทย์และพยาบาลที่ไม่มีทางรักษาเอาไว้เหมือนเดิม แต่ว่าพวกเขาจะทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่แล้ว แต่ก็ต้องมาถูกคดีอาญา

"ผมจึงอยากจะเสนออีกครั้งว่า หากแพทย์หรือพยาบาลทำความผิดที่ไม่ได้เกิดการจากการประมาทเลินเล่อ หรือไม่ได้เจตนาให้เกิดความเสียหายหรือจงใจกระทำ ก็ขอให้งดเว้นการดำเนินคดีอาญากับกลุ่มแพทย์และพยาบาล" จรัญ เสนอทางออก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอธิบายการงดเว้นคดีอาญาให้กับแพทย์และพยาบาลว่า ไม่ได้หมายความว่าให้แพทย์และพยาบาลอยู่เหนือกฎหมายอาญาทั้งหมด ขอเพียงว่า หากจะนำแพทย์ไปเป็นจำเลยคดีอาญา ต้องมีคำว่าจงใจ หรือเจตนา หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แต่หากมีมูลแค่ประมาทธรรมดา ไม่ได้ร้ายแรงก็เป็นเหตุไม่ให้ดำเนินคดีอาญากับแพทย์นั้นได้ แต่เป็นเรื่องที่ยากไม่น้อย เพราะต้องทำให้ฝ่ายกฎหมายเห็นถึงสาเหตุของการละเว้นได้ ที่ผ่านมาเคยเสนอเรื่องนี้เอาไว้เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา แต่ขณะนั้นเกิดคำถามว่าแล้วบุคคลในอาชีพอื่นๆ จะได้รับความเป็นธรรมเหมือนแพทย์และพยาบาลด้วยหรือไม่ ทั้งทนายความ วิศวกร หรือที่ปรึกษาการลงทุน เป็นต้น

จรัญ เสริมว่า การดูแลเยียวยาผู้ป่วยและครอบครัวเป็นเรื่องที่สำคัญและต้องใส่ใจด้วยเช่นกัน เพราะหากแพทย์และพยาบาลเพิกเฉยแล้ว ชีวิตของพวกเขาก็จะยิ่งลำบากมากขึ้นไปกว่าเดิม และนำไปสู่การฟ้องร้องเพราะเป็นช่องทางเดียวที่พวกเขาจะเรียกร้องได้ หากเราใส่ใจมากขึ้นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างคนไข้และแพทย์ก็จะคลายตัว

อีกมุมมองจาก นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ที่ปรึกษาคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข กล่าวว่า บนพื้นฐานจากกรอบนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ที่กำหนดทิศทางในเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข ที่กำหนดทิศทางการทำงานด้านบริการสาธารณสุข จะต้องครอบคลุมปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ร้บบริการหรือคนไข้กับผู้ให้บริการ คือ แพทย์ ต้องดูแลทั้งสองฝ่ายอย่างเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นทั้งผู้ป่วยหรือบุคลากรที่ให้บริการ

ทั้งนี้ ปัญหาในส่วนของการแพทย์ที่เกิดผลให้ประสิทธิภาพทางการบริการมีปัญหา และนำไปสู่ความไม่พอใจของผู้รับบริการ คณะกรรมการฯ ได้พยายามลงพื้นที่เพื่อรับฟังถึงปัญหาในแต่ละเขตบริการ เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาและให้คงมาตรฐานประสิทธิภาพทางการแพทย์เอาไว้ให้ได้

"การส่งเสริมการควบคุมมาตรฐานนั้น เราต้องเชื่อมั่นก่อนว่าบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่จะรู้ปัญหาดีที่สุด และจะแก้ปัญหาดีกว่าส่วนกลาง เพราะส่วนกลางดูแค่เอกสารแต่ไม่ได้สัมผัสปัญหา การแก้ไขปัญหาตรงนี้ก็ต้องเพิ่มศักยภาพของคณะอนุกรรมการควบคุมประสิทธิภาพในพื้นที่" นพ.สุพรรณ มองปัญหาทางการให้บริการทางการแพทย์

อย่างไรก็ตาม นพ.สุพรรณ ยังสะท้อนถึงปัญหาของการบูรณาการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางการแพทย์ ซึ่งทุกวันนี้การร่วมมือกันนั้นยังค่อนข้างไม่สมบูรณ์ เพราะแต่ละหน่วยงานยังไม่หันหน้าเข้าหากันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องข้อมูลที่แต่ละหน่วยงานได้จัดเก็บเอาไว้ หากนำมาแชร์ต่อกันและเชื่อมโยงกันได้ จะทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนว่า ปัญหาของประสิทธิภาพการให้บริการทางการแพทย์นั้นตรงกันในเรื่องใด และจะได้ช่วยกันแสวงหาทางแก้ไขอย่างถูกจุด

"ข้อมูลมันเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก การเชื่อมโยงข้อมูลไม่ได้หมายถึงการเข้าไปล้วงเอาข้อมูลข้ามหน่วยงาน แต่จะเป็นการเชื่อมข้อมูลเกี่ยวกับทุกด้านอย่างครอบคลุมมากกว่า ทั้งการร้องเรียนต่างๆ ในการรับบริการทางการแพทย์ รวมถึงผู้ให้บริการที่สะท้อนปัญหาด้วย เราจะได้เห็นปัญหาที่ตรงจุดกันว่าผู้รับบริการติดขัดอย่างไร ผู้ให้บริการมีปัญหาอะไรบ้าง"

กระนั้น สิ่งหนึ่งที่คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขได้ดำเนินการไปก่อน คือคู่มือการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่จะเริ่มแจกจ่ายไปยังเขตสุขภาพต่างๆ ทั่วประเทศ ในคู่มือดังกล่าวจะครอบคลุมถึงข้อกฎหมาย และกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจนนำไปสู่ข้อขัดแย้งระหว่างคนไข้และแพทย์ เพื่อใช้ดูเป็นตัวอย่าง และยังสามารถอ้างอิงได้ในกรณีที่เกิดปัญหาในอนาคต