posttoday

ปราบโกงไม่เคลียร์ สนช.สร้างรอยด่าง

07 พฤศจิกายน 2560

กระบวนการ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ใกล้เสร็จสิ้นสมบูรณ์จำนวน 10 ฉบับเข้าไปทุกที

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

กระบวนการ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ใกล้เสร็จสิ้นสมบูรณ์จำนวน 10 ฉบับเข้าไปทุกที ภายหลังเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

เท่ากับว่าเวลานี้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เหลือร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญในมืออีกเพียง 2 ฉบับ คือ การเลือกตั้ง สส.และการได้มาซึ่ง สว. ซึ่ง กรธ.เตรียมส่งให้ สนช.ภายในเดือนนี้เพื่อปิดภารกิจการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ จำนวน 10 ฉบับ อันเป็นแขนขาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ กรธ.ขนานนามว่าเป็น "รัฐธรรมนูญปราบโกง"

เมื่อกล่าวถึงรัฐธรรมนูญปราบโกงแล้วต้องยอมรับว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต นับเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้การไล่ล่าการทุจริต เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด โดยร่างกฎหมายดังกล่าวมีสาระสำคัญน่าสนใจหลายมาตรา ดังนี้

มาตรา 7 การกำหนดให้การดำเนินคดีตามกฎหมายฉบับนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาของศาล มิให้นับระยะเวลา ที่ผู้ถูกกล่าวหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ และเมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย ถ้าจำเลยหลบหนีระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ ไม่ให้นำบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 98 ว่าด้วยอายุความมาใช้บังคับ

มาตรา 31 ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีหน้าที่เสนอมาตรการ ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ หรือ องค์กรอัยการ ในการเสนอแนะให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ และเมื่อองค์กรใดได้รับแจ้งแล้ว หากไม่อาจดำเนินการได้ให้แจ้งปัญหาและอุปสรรคต่อ ป.ป.ช.ให้ทราบต่อไปภายใน 3 เดือน นับแต่ได้รับแจ้ง จาก ป.ป.ช.

การใช้อำนาจหน้าที่ไต่สวนของ ป.ป.ช. มาตรา 47 บัญญัติให้ ป.ป.ช.ต้องดำเนินการโดยพลัน และต้องไต่สวนพร้อมกับวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับแต่วันที่เริ่มดำเนินการ แต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจดำเนินการได้เสร็จภายใน 1 ปี ป.ป.ช.อาจขยายเวลาออกไปอีกตามที่จำเป็นแต่ต้องไม่เกิน 2 ปี เว้นแต่เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องเดินทางไปไต่สวนในต่างประเทศ

ทว่าท่ามกลางกลไกการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่สวยหรูกลับเริ่มมีรอยแผล ซึ่งมาจากการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จำนวน 35 คน ซึ่ง กมธ.บางคนเป็นบุคคลที่มีคดีถูกกล่าวหาอยูในระหว่าง ป.ป.ช.

บุคคลที่ว่านั้น คือ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และ พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพานิชย์ โดยปัจจุบันถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติจากการเป็นเจ้าของ คอกม้า "รุ่งโรจน์ รุ่งพัชร" ตั้งอยู่ ที่หุบเขาแก่งคอย และ ป.ป.ช.ได้รับไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2553 เลขที่รับ 8265 เรื่องร้องเรียนเลขดำที่ 53511417

พลันที่ชื่อปรากฏออกมาได้เกิดกระแสท้วงติงพอสมควร ไม่เว้นแม้แต่ 'วิชา มหาคุณ' อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นหนึ่งใน กมธ.วิสามัญฯ

"บ้านเราไม่เหมือนประเทศอังกฤษที่เขียนห้ามผู้มีส่วนได้เสียเป็นกรรมาธิการหรือร่างกฎหมายนั้นๆ ทั้งนี้ ไม่ทราบว่า สนช.พิจารณาอย่างไร และไม่รู้เรื่อง เพราะผมถูกเสนอชื่อ โดย กรธ.

...ไปนั่งทำงานด้วยก็ลำบาก แต่นี่เป็นการทำงานซึ่งเราต้องทำใจให้นิ่งสงบ และจะพิจารณาโดยยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก" วิชา ระบุ แม้จะไม่ต่อต้านตรงๆ แต่การกล่าวสั้นๆ แบบนี้ก็สะท้อนความในใจอยู่ไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม เสียงท้วงติงที่ เกิดขึ้นยังไม่ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเท่าไรนัก เมื่อ "พรเพชร วิชิตชลชัย" ประธาน สนช. ยอมรับว่าคงแก้ไขอะไรไม่ได้ เนื่องจากสภาได้เห็นชอบไปแล้ว

"ไม่แน่ใจว่าคดีของสมาชิก สนช.ทั้งสองท่านอยู่ในขั้นตอนไหนของ ป.ป.ช. แต่ กมธ.ที่พิจารณากฎหมายไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพิสูจน์ความบริสุทธิ์หรือความถูกต้องของบุคคลใด" ประธาน สนช.อธิบาย

หากพิจารณาในแง่หลักการของกฎหมายแล้ว แน่นอนว่าตราบใดที่คดียังไม่ถึงที่สุด บุคคลที่ถูกกล่าวหายังคงเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ก็มีคำถามตามมาว่าหลักการดังกล่าวสามารถหักล้าง หลักการว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือไม่

หลักการดังกล่าวเป็นหลักที่ว่าด้วยการไม่ให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องใดเข้ามาตัดสินในเรื่องนั้น เป็นหลักที่ศาลและองค์กรอิสระได้นำมาใช้อย่างเคร่งครัด สะท้อนให้เห็นผ่านข้อกฎหมายที่สามารถให้ผู้ถูกกล่าวหาสามารถคัดค้านผู้พิพากษาหรือกรรมการองค์กรอิสระที่อาจมีส่วนได้ส่วนเสียในข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัย ชี้ขาดได้

เมื่อศาลและองค์กรอิสระยึดหลักการดังกล่าวเป็นสำคัญแล้ว สนช.ในฐานะองค์กรผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติควรใช้หลักการนี้เช่นกัน อย่างน้อยเพื่อเป็นบรรทัดฐานให้ฝ่ายนิติบัญญัติได้ดำเนินรอยตาม เพราะหาก สนช.กลัดกระดุมเม็ดแรกผิด ย่อมทำให้การกลัดกระดุมเม็ดอื่นๆ ผิดไปด้วย

ณ เวลานี้แรงกดดันจึงไปตกอยู่ที่ สนช.อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คงต้องรอดูว่า สนช.จะฝ่ากระแสนี้ไปอย่างไร

หาก สนช.ปล่อยให้เรื่องเงียบหายไปโดยไม่แก้ไขปัญหา เท่ากับว่า สนช.จะเป็นผู้สร้างรอยด่างให้กับกฎหมายปราบโกงเสียเอง ซึ่งผลเสียอาจมากอย่างที่หลายฝ่ายคาดไม่ถึง ก็เป็นได้