posttoday

คอนเนกชั่น ‘บิ๊กป้อม’ ร่วมชำแหละกฎหมาย ปปช.

03 พฤศจิกายน 2560

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 200 คะแนน รับหลักการในวาระที่ 1 แห่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 200 คะแนน รับหลักการในวาระที่ 1 แห่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นผู้เสนอ พร้อมกับตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 35 คน เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ

สำหรับรายชื่อคณะกรรมาธิการที่ น่าสนใจ ส่วนใหญ่พบว่ามีบุคคลที่มีความ สัมพันธ์ใกล้ชิดกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เข้ามาทำหน้าที่ เช่น พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม เข้ามาร่วมทำหน้าที่กรรมาธิการด้วย

นอกจากนี้ ยังมีกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งอดีตและปัจจุบันเป็นกรรมาธิการเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น "วิชา มหาคุณ" "กล้านรงค์ จันทิก" อดีตกรรมการ ป.ป.ช. และสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.

ทั้งนี้ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวระหว่างการเสนอร่างกฎหมายต่อ ที่ประชุม สนช. ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การปราบปรามการทุจริตมีประสิทธิภาพและเกิดความเป็นธรรม เช่น การกำหนดระยะเวลาการไต่สวนของ ป.ป.ช. ซึ่ง กรธ.คิดว่าควร ไม่เกิน 2 ปี แต่สามารถต่อเวลา ถึงกระนั้นหากมีกรณีที่ไต่สวนเกินเวลาขึ้นมาจริงๆ ป.ป.ช.ก็ยังมีอำนาจในการตรวจสอบคดี ดังกล่าวอยู่ เพียงแต่ ป.ป.ช.ต้องไปตรวจสอบว่าเกิดปัญหาอะไรที่ทำให้ ป.ป.ช.ทำการไต่สวนไม่เสร็จตามกำหนดเวลา โดยต้องแจ้งให้กับประชาชนทราบด้วย

ประธาน กรธ. ระบุอีกว่า ขณะที่การ ตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของ ป.ป.ช.นั้น รัฐธรรมนูญกำหนดให้กรณีที่กรรมการ ป.ป.ช.กระทำความผิด สมาชิกรัฐสภาสามารถเข้าชื่อต่อศาลฎีกาให้ไต่สวนได้ แต่สำหรับกรณีของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.กระทำผิดเสียเอง จะเป็นหน้าที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แต่ สตง.ไม่มีอำนาจหน้าที่ชี้ขาด เพราะจะให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.วินิจฉัยในชั้นสุดท้าย ซึ่งคิดว่าเป็น ประเด็นสำคัญที่ต้องไปพิจารณาในขั้นตอน ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว คือ มาตรา 7 การกำหนดให้การดำเนินคดีตามกฎหมายฉบับนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณา ของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่ง ของอายุความ และเมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย ถ้าจำเลยหลบหนี ระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ ไม่ให้นำบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 98 ว่าด้วยอายุความมาใช้ บังคับ

ขณะเดียวกัน นอกเหนือไปจากอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริตและการใช้อำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอยู่ เดิมแล้ว ปรากฏว่ามาตรา 31 ยังกำหนดให้ ป.ป.ช.มีหน้าที่เสนอมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการ ในการเสนอแนะให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติ มิชอบ และเมื่อองค์กรใดได้รับแจ้งแล้ว หากไม่อาจดำเนินการได้ให้แจ้งปัญหาและอุปสรรคต่อ ป.ป.ช.ให้ทราบต่อไปภายใน 3 เดือนนับแต่ได้รับแจ้งจาก ป.ป.ช.

เช่นเดียวกับมาตรา 34 ซึ่งบัญญัติ ป.ป.ช.โดยมีมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 สามารถมีหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานรัฐและคณะรัฐมนตรีให้ทราบถึงการดำเนินการอย่างใดของหน่วยงานของรัฐที่อาจนำไปสู่การทุจริตหรือส่อว่าอาจมีการทุจริต ในกรณีเช่นนี้หน่วยงานของรัฐและคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องดำเนินการตามควรแก่กรณีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตหรือเกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของรัฐ และต้องเปิดเผยให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป เว้นแต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความลับของทางราชการ

การใช้อำนาจหน้าที่ไต่สวนของ ป.ป.ช. มาตรา 47 บัญญัติให้ ป.ป.ช.ต้องไต่สวนพร้อมกับวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับแต่วันที่เริ่มดำเนินการ แต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจดำเนินการได้เสร็จภายใน 1 ปี ป.ป.ช.อาจขยายเวลาออกไปอีกตามที่จำเป็นแต่ต้องไม่เกิน 2 ปี เว้นแต่เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องเดินทางไปไต่สวนในต่างประเทศ หรือขอให้หน่วยงาน ของต่างประเทศดำเนินการไต่สวนให้หรือ ขอรับเอกสารหลักฐานจากต่างประเทศ จะขยายระยะเวลาออกเท่าที่จำเป็นก็ได้

ขณะเดียวกัน กรธ.ยังได้กำหนดให้มีหมวด 6 ว่าด้วยการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมเอาไว้ด้วย โดยมีประเด็นสำคัญที่มาตรา 124 ที่กำหนดห้ามไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ ป.ป.ช.กำหนด กรรมการ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงที่ยังพ้นจากตำแหน่ง ไม่ถึง 2 ปี เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียในฐานะเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทนพนักงานหรือลูกจ้างในธุรกิจเอกชนที่อยู่ภายใต้กำกับหรือตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งโดยสภาพของผลประโยชน์ของธุรกิจเอกชนอาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์ทางราชการหรือกระทบต่อ ประโยชน์ส่วนรวม

ส่วนบทเฉพาะกาลในมาตรา 178 กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ยังคงอยู่ในตำแหน่งไปได้จนกว่าจะครบวาระตามที่กำหนดในกฎหมาย