posttoday

คสช.วิ่งไล่จับปู แรงเหวี่ยงถึง ‘เพื่อไทย’

01 พฤศจิกายน 2560

ชะตากรรมของ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ในช่วงทศวรรษนี้นับว่ามีความพลิกผันเป็นอย่างยิ่ง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ชะตากรรมของ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ในช่วงทศวรรษนี้นับว่ามีความพลิกผันเป็นอย่างยิ่ง

ก่อนปี 2554 ทำหน้าที่เป็น ผู้บริหารธุรกิจของครอบครัวชินวัตรมูลค่ากว่าแสนล้านบาท

ปี 2554 ลงสนามการเมืองในนามผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อลำดับหนึ่งของพรรคเพื่อไทย ถูกคาดหมายในเวลานั้นว่าเป็นคู่ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ในปีเดียวกันพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งเป็นพรรคเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และพร้อมใจกันลงมติในสภาเลือกยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรี

การเป็นนายกฯ ของยิ่งลักษณ์ นับว่าสร้างประวัติศาสตร์ทางการเมืองหน้าใหม่หลายเรื่อง เช่น เป็นนายกฯ หญิงคนแรกของประเทศไทย และสามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในทางการเมืองหลังจากลงสมัคร สส.เป็นครั้งแรก แม้จะถูกปรามาสว่ามีวันนี้เพราะพี่ให้ แต่ก็ดูเหมือนไม่สามารถสร้างความระคายให้กับยิ่งลักษณ์ได้

จากจุดสูงสุดในวันที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง แต่พอเข้าสู่การบริหารประเทศอย่างจริงจัง ปรากฏว่าเส้นกราฟทางการเมืองของยิ่งลักษณ์กลับไม่พุ่งทะยานมากนัก

เริ่มตั้งแต่เผชิญกับเหตุการณ์มหาอุทกภัยจนนำมาสู่การอภิปรายในสภา ที่ทำให้รัฐบาลเกือบเอาตัวไม่รอด แม้จะรอดจากสถานการณ์นั้นมาได้ แต่นับจากนั้นเป็นต้นมารัฐบาลยิ่งลักษณ์กลับต้องเผชิญกับคำถามเกี่ยวกับความสามารถในการบริหารประเทศอย่างหนัก

ตามมาด้วยการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญและการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมในสภา เวลานั้นพรรค เพื่อไทยพยายามอ้างเป็นการใช้อำนาจตามกลไกนิติบัญญัติปกติในฐานะเป็นพรรคเสียงข้างมาก อำนาจเสียงข้างมากที่มีอยู่ในสภากลับไม่สามารถทัดทานเสียงต่อต้านของการเมืองนอกสภาได้

เพราะการผลักดันเรื่องดังกล่าวได้นำมาซึ่งการก่อตัวของกลุ่มการเมืองนอกสภาที่ชุมนุมขับไล่รัฐบาลอย่าง ต่อเนื่องก่อนที่ยิ่งลักษณ์จะตัดสินใจ ยุบสภาในเวลาต่อมา

การยุบสภาที่คิดว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหากลับไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ หนำซ้ำยิ่งลักษณ์ ยังต้องตกจากเก้าอี้นายกฯ ด้วยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจากการโยกย้ายข้าราชการระดับสูงโดยมิชอบ

เส้นกราฟที่ดิ่งลงของยิ่งลักษณ์และการเมืองนอกสภา ทำให้เกิดการรัฐประหารในปี 2557

ตลอด 3 ปีของยิ่งลักษณ์ภายใต้การควบคุมของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องตกเป็นฝ่ายตั้งรับแต่เพียงอย่างเดียว เพราะต้องตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีรับจำนำข้าว ทั้งการถอดถอนและการดำเนินคดีอาญาในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ผลคดีของคดีรับจำนำข้าวทำให้ ยิ่งลักษณ์ถูกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่งและห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ต่อด้วยคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ให้จำคุก 5 ปีโดยไม่รอลงอาญา

ล่าสุดเวลานี้ "ยิ่งลักษณ์" ต้องเผชิญกับสถานการณ์ลำบากอีกครั้ง หลังจากกระทรวงการต่างประเทศสั่งเพิกถอนหนังสือเดินทางของยิ่งลักษณ์ทุกเล่ม เพื่อกดดันให้ยิ่งลักษณ์มารับโทษตามคำพิพากษาของศาลฎีกา

ทั้งนี้ การตามจับยิ่งลักษณ์เพื่อให้มีการส่งตัวกลับมารับโทษในประเทศตามคำพิพากษาไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เนื่องจากมีขั้นตอนทางกฎหมายยุ่งยากพอสมควร

กล่าวคือ ต้องเริ่มจากการที่หน่วยงานรัฐของไทยต้องได้ที่พำนักของ ยิ่งลักษณ์ในต่างประเทศที่แน่นอนก่อน จากนั้นอัยการจะทำหน้าที่ประสานงานไปยังประเทศดังกล่าว เพื่อขอส่งตัวกลับมายังไทย โดยมีเงื่อนไขที่สำคัญ คือความผิดของยิ่งลักษณ์ต้องเป็นความผิดเดียวกับที่กฎหมายของประเทศนั้นกำหนด ถ้าไม่เหมือนกัน ประเทศที่ยิ่งลักษณ์พำนักอยู่สามารถปฏิเสธไม่ส่งตัวให้กับไทย

เงื่อนไขที่ว่านี้เป็นด่านสำคัญที่รัฐบาลอาจตกที่นั่งลำบากพอสมควร เนื่องจากการดำเนินคดีกับ ยิ่งลักษณ์เกิดขึ้นในระหว่างการรัฐประหาร ไม่ใช่บรรยากาศประชาธิปไตยปกติ ตรงนี้อาจเป็นข้อกล่าวหาได้ว่าคดีของยิ่งลักษณ์เป็นคดีการเมือง ซึ่งเป็นเหตุผลให้ประเทศที่ยิ่งลักษณ์พำนักอยู่ไม่ให้ความร่วมมือกับไทยในการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน

เรียกได้ว่าศึกการติดตามตัว ยิ่งลักษณ์ครั้งนี้เป็นการวัดฝีมือและลีลาทางการเมืองระหว่างประเทศของรัฐบาลชุดนี้อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม การไล่ล่า ยิ่งลักษณ์ที่กำลังดำเนินการไปนั้น ใช่ว่ารัฐบาลจะหวังแค่การได้ตัวยิ่งลักษณ์เพียงอย่างเดียว แต่อีกด้านหนึ่งก็พยายามส่งแรงกดดันพรรคเพื่อไทยไปในตัวด้วย

พรรคเพื่อไทยแม้จะชนะเลือกตั้งมาทุกครั้ง แต่ก็ไม่สามารถอยู่ในอำนาจได้ยั่งยืนเท่าไรนัก จนนายกฯ ของพรรคต้องตกเก้าอี้หลายคน

สถานการณ์ในเวลานี้พรรคเพื่อไทยกำลังอยู่ในสภาพไร้หัว ซึ่งในภาวะเช่นนี้เหมาะอย่างยิ่งกับการบีบพรรคเพื่อไทยให้เป็นพรรคที่เล็กลง ประกอบกับการที่ยิ่งลักษณ์ยังหลบหนีอยู่เช่นนี้ย่อมเป็นรอยด่างที่ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องเผชิญกับกระแสโจมตีระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งด้วย

คสช.เชื่อในทฤษฎีที่ว่าหากสามารถสร้างกดดันให้กับพรรคเพื่อไทยได้มากขึ้นเท่าไหน โอกาสที่จะได้เสียงข้างมากในสภาจากการเลือกตั้งในอนาคตก็มีความเป็นไปได้น้อยลงเท่านั้น

ดังนั้น การไล่จับยิ่งลักษณ์จึงเป็นการหวังผลสองเด้งของ คสช.