posttoday

กลับสู่สนามการเมือง โรดแมปเริ่มแกว่ง

30 ตุลาคม 2560

จากหลากหลายปัจจัยที่เคยคิดว่าน่าจะเดินหน้าสู่การเลือกตั้งได้ อาจไม่เป็นอย่างนั้นเสียแล้ว

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

นับจากนี้ไปต้องยอมรับว่าสถานการณ์การเมืองไทยจะกลับมาเป็นที่น่าสนใจอีกครั้ง ภายหลังเสร็จสิ้นงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

โดยตลอดช่วงเดือน ต.ค.ก่อนที่จะมีงานพระราชพิธีนั้น แต่ละฝ่ายได้ร่วมมืองดแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในทำนองตอบโต้กันไปมาระหว่างกัน เพื่อต้องการไม่ให้เป็นการทำลายบรรยากาศของคนไทยทั้งประเทศ แต่เมื่องานสำคัญได้ผ่านพ้นไปแล้ว แน่นอนว่าการเมืองจากวันนี้เป็นต้นไปจะเป็นวาระสำคัญที่ห้ามกะพริบตา เพราะแต่ละวันที่ผ่านพ้นไปย่อมหมายถึงการเข้าใกล้ถึงวันเลือกตั้งเช่นกัน

ทั้งนี้ มีประเด็นทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นอย่างน้อย 4 ประเด็น

1.การส่งกฎหมายลูกให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปัจจุบันคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เหลือร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญอยู่ในมือด้วยกัน 3 ฉบับ ได้แก่ การเลือกตั้ง สส. การได้มาซึ่ง สว. การป้องกันและปราบปรามการทุจริต

กรธ.มีกำหนดส่งกฎหมายดังกล่าวไปยัง สนช.ให้เสร็จสิ้นภายในเดือน พ.ย.อันเป็นเสร็จสิ้นภารกิจ 240 วัน

ในการทำกฎหมายลูกตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดเอาไว้ แต่กระนั้นเรื่องไม่จบลงแค่การส่งไปให้ สนช.เท่านั้น เพราะยังต้องจับตากำลังภายในของ สนช.ในเรื่องการพิจารณาเนื้อหาของร่างกฎหมายด้วย

กล่าวคือ สนช.มีอำนาจเต็มโดยสมบูรณ์ที่จะแก้ไขเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่ กรธ.ส่งมาอย่างไรก็ได้ ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยรองรับจากกรณีของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน

ตรงนี้จึงเป็นที่มาของกระแสข่าวที่ว่าสมาชิก สนช.เตรียมมีดหมอผ่าตัดร่างกฎหมายของ กรธ. โดยเฉพาะกฎหมายเลือกตั้งอย่างเข้มข้น และหากเกิดสถานการณ์ที่ สนช.และ กรธ.คุยกันไม่รู้เรื่องแล้ว สมาชิก สนช.บางกลุ่มก็ได้รับคำสั่งจากบิ๊กพลเอกบางคนในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ลงมติคว่ำได้เลย

หากเกิดสถานการณ์เช่นว่านั้นขึ้นมารับรองว่าไฟการเมืองลุกโชนแน่นอน เพราะต้องกลับไปเริ่มนับหนึ่งอีกครั้ง ซึ่งหมายถึงการเลือกตั้งที่ต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด

แม้เมื่อไม่นานมานี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ยืนยันแล้วว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นปลายปี 2561 อย่างแน่นอน แต่ต้องไม่ลืมว่า สนช.จำนวนไม่น้อยก็มีความคิดอยากจะชะลอการเลือกตั้งออกไปก่อน โดยอ้างเรื่องการปฏิรูปประเทศ

ที่สุดแล้วการเลือกตั้งที่ว่าแน่นอนอาจจะไม่แน่นอนก็เป็นได้

2.การเปิดทางให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม เป็นหนึ่งในคำสัญญาที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ให้เอาไว้กับพรรคการเมืองผ่านสื่อมวลชน ซึ่งจะว่าไปแล้วเป็นเรื่องที่ คสช.ต้องยอมถอยให้พรรคการเมืองตั้งแต่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีผลบังคับใช้ก่อนหน้านี้ แต่ คสช.อ้างหลายเหตุผลเพื่อชะลอการให้ทำกิจกรรมการเมืองไปก่อน

ในเมื่อเวลาเดินมาถึงจุดที่ คสช.ได้ให้สัญญาเอาไว้ก็ต้องดำเนินให้เป็นไปตามนั้น แต่กระนั้นการปลดล็อกให้กับพรรคการเมืองของ คสช.คงไม่ยอมให้พรรคการเมืองเชิดหน้าชูคอได้ 100% เหมือนบรรยากาศประชาธิปไตย เพียงแต่จะยอมให้พรรคการเมืองดำเนินการได้บางขั้นสำคัญที่กฎหมายพรรคการเมืองกำหนด อาทิ แจ้งการเปลี่ยนแปลงสมาชิกให้นายทะเบียนทราบภายใน 90 วัน พรรคการเมืองที่ยังมีสมาชิกไม่ถึง 500 คน ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกให้ครบ 500 คน ภายใน 180 วัน พรรคต้องจัดให้มีทุนประเดิมจำนวน 1 ล้านบาท เป็นต้น

3.การสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการสรรหา กกต.ได้เปิดรับสมัครอย่างเป็นทางการแล้ว โดยจะสิ้นสุดในวันที่ 10 พ.ย. แต่ปรากฏว่ายังไม่มีผู้สมัคร ซึ่งเริ่มเป็นสัญญาณที่ไม่ดีเท่าไรนัก และยิ่งทำให้เสียงท้วงติงจากหลายฝ่ายที่ว่า กรธ.กำหนดคุณสมบัติของ กกต.ไว้สูงเกินไปนั้นเริ่มเป็นจริงมากขึ้น

จากปัญหาที่เกิดขึ้นเริ่มมีเสียงออกจาก สนช.แล้วว่าคณะกรรมการสรรหาจำเป็นต้องขยายเวลารับสมัครออกไป เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน แต่นั่นย่อมหมายถึงโรดแมปการเลือกตั้งที่อาจถูกกระทบไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากเดิมที่ สนช.คาดว่าจะได้รับรายชื่อว่าที่ กกต.7 คนที่ผ่านการสรรหาไม่เกินวันที่ 12 ธ.ค.

4.การรื้อฟื้นคดีของ ทักษิณ ชินวัตร ถึงจะไม่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งโดยตรง แต่ย่อมมีผลต่อบรรยากาศทางการเมืองไม่มากก็น้อย โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เตรียมยื่นให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรื้อฟื้น 2 คดีที่เกี่ยวกับอดีตนายกฯ ทักษิณ ได้แก่ กรณีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ให้รัฐบาลเมียนมากู้เงินจำนวน 4,000 ล้านบาท และโครงการออกสลากเลขท้าย 2 ตัวและ 3 ตัว

เช่นเดียวกับอัยการสูงสุด เตรียมขอให้ศาลฎีการื้อฟื้นคดีการปล่อยเงินกู้ของธนาคารกรุงไทยให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร และแก้ไขค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือและดาวเทียม เป็นภาษีสรรพสามิต

ทั้งนี้ กรณีของ ป.ป.ช.และอัยการสูงสุด เป็นผลมาจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 ที่ให้สามารถรื้อฟื้นคดีที่จำเลยหลบหนีระหว่างการพิจารณาคดีได้ ซึ่งเป็นหลักการใหม่ที่ กรธ.และ สนช.กำหนดขึ้นมา

ด้วยเหตุผลของเรื่องทั้งหมดนี้คงทำให้ที่เคยคิดว่าน่าจะเดินหน้าสู่การเลือกตั้งได้ อาจไม่เป็นอย่างนั้นเสียแล้ว