posttoday

น้ำท่วม จุดเสี่ยง คสช.

19 ตุลาคม 2560

แม้ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะออกมาการันตีว่าจะไม่มีปัญหาน้ำท่วมใหญ่

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

แม้ก่อนหน้านี้  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะออกมาการันตีว่าจะไม่มีปัญหาน้ำท่วมใหญ่ เช่นเดียวกับในปี 2554 เพราะปริมาณน้ำในปีนี้ยังน้อยกว่าปี 2554 มาก อีกทั้งทุกหน่วยงานได้วางแผนบริหารจัดน้ำอย่างเป็นระบบและบูรณาการร่วมกันอย่างเต็มที่

แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนท่าทีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังไม่อาจสร้างความมั่นอกมั่นใจให้กับประชาชนว่าจะสามารถประคองตัวรอดพ้นจากทั้งน้ำฝน น้ำเหนือ ด้วยความลุ้นระทึก

เริ่มตั้งแต่สถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 13 ต.ค. ที่ถนนหลายสายเจิ่งนองจนรถยนต์ไม่อาจสัญจรได้ หลายที่น้ำท่วมขัง ตึกราม บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย

ภาพถ่าย คลิปวิดีโอน้ำท่วมลานจอดรถ น้ำท่วมรถยนต์ไปครึ่งคัน ตลอดจนร้านรวงที่มีน้ำท่วมขัง ถูกแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วในโซเชียลมีเดีย

ปัญหาอยู่ตรงที่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่มีการแจ้งเตือนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมอุตุนิยมวิทยา กรุงเทพ

มหานคร หรือมีมาตรการเตรียมความพร้อมช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที

ทำให้สถานการณ์ความเสียหายทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะหลายคนยังไม่ทันเตรียมตัว ไม่ทันเก็บข้าวของ หรือย้ายรถขึ้นที่สูง แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาไม่นานแต่ก็ทำให้เกิดความเสียหายกับทรัพย์สินมากกว่าที่ควรจะเป็น ​ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะน้อยลงหากมีการ

เตรียมตัวรับมือได้ทันท่วงที

คล้อยหลังวันน้ำท่วม “ขยะ” ที่ผุดขึ้นมาตามจุดต่างๆ ตอกย้ำปัญหาเรื่องการจัดการขยะที่ถือเป็นอีกหนึ่งในความหละหลวม ไม่เตรียมการรับมือทั้งที่เคยมีบทเรียนเกี่ยวกับเรื่องขยะอุดตันจนเป็นอุปสรรคของการระบายน้ำมาแล้วก่อนหน้านี้

หลายคนเริ่มตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพและการใช้งานได้จริงของอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำของ กทม. ที่มีการทุ่มงบประมาณจำนวนมากไปกับโครงการนี้ในหลายพื้นที่

ตราบเท่าที่ยังไม่มีการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนได้อย่างทันท่วงที ย่อมทำให้ปัญหาหนักขึ้น

จุดอ่อนที่สำคัญคือเรื่องการสื่อสารที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ​ทั้งเรื่องความล่าช้า ไม่ทันการ แถมยังถูกข้อมูลจากโซเชียลที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วสร้างความปั่นป่วนให้กับสังคม

ก่อนหน้านี้ในช่วงที่กำลังชุลมุนมีข่าวลือแพร่ผ่านโซเชียลมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพลเข้ากรุงเทพฯ ที่ยิ่งสร้างความปั่นป่วนและหวาดวิตกให้กับประชาชน

สักพักก่อนที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะออกมาชี้แจงว่า ข้อมูลในโซเชียลมีเดียว่าจะมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพลลงแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านคลองแสนแสบ เพื่อลงสู่แม่น้ำบางปะกง และจะทำให้น้ำท่วม กทม.นั้นไม่เป็นความจริง

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่าข้อมูลดังกล่าวที่มีการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ toptenthailand ตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2554 จึงไม่ควรแชร์ส่งต่อกันจนเกิดความตื่นตระหนก ส่วนผู้ที่จงใจเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อาจเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายได้

สถานการณ์ขณะนั้น ปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลางเปรียบเทียบกัน 2 ปี มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยข้อมูล

ณ วันที่ 11 ต.ค. 2560 ปริมาณน้ำในเขื่อนของภาคเหนือรวมกันอยู่ที่ 18,318 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่เมื่อ 11 ต.ค. 2554 อยู่ที่ 24,477 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนเขื่อนของภาคกลางปีนี้มีปริมาณน้ำรวมกัน 1,287 ล้าน ลบ.ม. แต่ในปี 2554 อยู่ที่ 1,377 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ ปริมาณน้ำท่าที่ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท และ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ในปีนี้ก็น้อยกว่าปี 2554 ด้วยเช่นเดียวกัน

ในแง่สถานการณ์น้ำฝนเวลานี้อาจไม่น่าเป็นห่วง เพราะพายุได้ผ่านพ้นไปแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงว่าเหลือเพียงแค่ร่องมรสุมที่พาดผ่านกรุงเทพฯ ที่อาจมีฝนแต่ก็ไม่รุนแรงเหมือนกับวันที่ 13 ต.ค. รวมทั้งปริมาณฝนจะลดลงในช่วงเข้าหน้าหนาว ซึ่งทำให้สบายใจได้ระดับหนึ่ง

แต่ที่น่าห่วงกว่านี้คือเรื่องน้ำเหนือที่จ่อเข้ามาใกล้กรุงเทพฯ จนพระนครศรีอยุธยาต้องประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ยังต้องลุ้นระทึก เช่นเดียวกับภาคใต้ที่จะเริ่มเข้าสู่หน้าฝนหลังจากนี้

สถานการณ์เวลานี้จึงถือเป็นจุดเปราะบางที่รัฐบาล คสช.ต้องระมัดระวัง และต้องหาทางเฝ้าระวังไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในภูมิภาคต่างๆ อันจะซ้ำเติมฉุดให้ความเชื่อมั่นของรัฐบาลลดลงหนักกว่าเดิม

ยิ่งในภาวะที่รัฐบาล คสช.​มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในมือ สามารถสั่งการแต่ละหน่วยงานได้โดยตรง หากยังไม่อาจรับมือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นปล่อยให้เกิดน้ำท่วม ยิ่งจะฉุดความเชื่อมั่น

ยังไม่รวมกับ “บทเรียน” เมื่อครั้ง 2554  ที่น่าจะเป็นอุทาหรณ์ และนำมาสู่การเตรียมการรับมือไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซาก หากยังปล่อยให้เกิดน้ำท่วมอีก ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงปัญหา ประสิทธิภาพ และฝีมือในการบริหารจัดการ

ทุกสิ่งที่เคยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ย่อมย้อนกลับมากระหน่ำใส่ รัฐบาล คสช. ยังไม่รวมกับปัญหาเศรษฐกิจที่จะได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ตามมาและทวีความรุนแรงกว่าที่เคยเป็น

​นี่จึงเป็นอีกจุดเปราะบางที่​รัฐบาล คสช.ต้องระมัดระวัง ป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมในช่วงเวลานับจากนี้