posttoday

เสร็จงานสำคัญ การเมืองขยับใหญ่

17 ตุลาคม 2560

หลังผ่านงานสำคัญ การเมืองจะกลับมาเป็นละครฉากใหญ่ให้คนไทยได้ติดตามอีกครั้ง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

สถานการณ์ทางการเมืองเวลานี้ทุกอย่างอยู่ในความสงบ เนื่องด้วยเป็นเวลาแห่งการแสดงความอาลัยของคนไทยทั้งประเทศ แต่ละพรรคการเมืองต่างออกมาแสดงจุดยืนเป็นในทิศทางเดียวกันว่าจะขอยุติการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองจนกว่าจะเสร็จสิ้นพระราชพิธีสำคัญในสิ้นเดือน ต.ค.นี้

แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังขอให้ทุกฝ่ายอยู่ในความสงบเพื่อให้รอเสร็จสิ้นงานสำคัญของคนไทยทั้งประเทศ หลังจากนั้นจะมีการผ่อนคลายเงื่อนไขทางการเมืองสำคัญบางประการ

“ยืนยันว่าไม่ต้องการหน่วงเวลาอะไรทั้งสิ้น แต่เดือน ต.ค.เป็นช่วงที่คนไทยทุกคนอยู่ในช่วงเวลาโศกเศร้าอาลัย ขอให้ทุกอย่างอยู่บนสถานการณ์ความสงบ ในส่วนตรงนี้พูดได้ว่าประมาณเดือน มิ.ย. 2561 จะมีการประกาศวันเลือกตั้งและประมาณเดือน พ.ย. 2561จะมีการเลือกตั้ง วันนี้มีความชัดเจนขึ้น ขอให้ทุกคน นักการเมือง พรรคการเมืองอยู่ในความสงบ ซึ่งจะมีผลต่อการพิจารณามาตรการผ่อนคลายต่างๆ ด้วย” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการออกมาประกาศเตรียมผ่อนคลายกฎเหล็กนั้น เพื่อต้องการลดแรงกดดันทางการเมือง ภายหลัง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการ

หาก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ทำเช่นนั้น ย่อมถูกมองได้ว่าตัวเองมีเจตนายื้อการเลือกตั้งไม่ให้เดินตามโรดแมป ทางที่ดีต้องยอมเปิดฝาหม้อต้มน้ำที่กำลังเดือดให้ได้รับการระบายออกมาบ้าง เพื่อไม่ให้เกิดแรงระเบิดขึ้นมา

ทั้งนี้ เมื่อมองจากท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ คงเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าการเมืองจะกลับมามีความเคลื่อนไหวอีกครั้งในเดือน พ.ย. โดยอย่างน้อยจะมี 3 ประเด็น ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

1.การปลดล็อกทางการเมือง อย่างที่ทราบกันดีว่ากฎหมาย กกต.และพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว โดยเฉพาะกฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งกำหนดเงื่อนไขและกรอบเวลาให้พรรคการเมืองต้องปรับตัวให้เข้ากฎหมายใหม่หลายประการ

อาทิ แจ้งการเปลี่ยนแปลงสมาชิกให้นายทะเบียนทราบภายใน 90 วัน พรรคการเมืองที่ยังมีสมาชิกไม่ถึง 500 คน ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกให้ครบ 500 คน ภายใน 180 วัน พรรคต้องจัดให้มีทุนประเดิมจำนวน 1 ล้านบาท และแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายใน 180 วัน ต้องจัดให้สมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 500 คน ชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองภายใน 180 วัน หรือต้องจัดให้สมาชิกชำระเงินค่าบำรุงพรรคการเมืองให้ได้จำนวนไม่น้อยกว่า 5,000 คน ภายใน 1 ปี

การดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ล้วนจำเป็นอย่างยิ่งที่พรรคการเมืองต้องจัดประชุมพรรค มิเช่นนั้นแล้วย่อมมีผลต่อการส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง

ตรงนี้ที่ทำให้ คสช.จำต้องยอมเปิดทางให้พรรคการเมืองมีการประชุมพรรคใหม่ได้ คงต้องรอดูว่า คสช.จะผ่อนกฎเหล็กการเมืองที่ถือไว้มาเป็นเวลา 3 ปีอย่างไร จะถึงขั้นยอมให้เหมือนกับระบบประชาธิปไตยหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองต่างเฝ้ารออย่างใกล้ชิด

2.การเสนอร่างกฎหมายเลือกตั้งอีก 2 ฉบับ เมื่อไม่นานมานี้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยต่อสาธารณชนแล้วว่าจะส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.มายังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายในสิ้นเดือน พ.ย.

สนช.มีเวลาพิจารณาอีก 60 วัน ถ้าทุกฝ่ายทั้ง กรธ.และ กกต.เห็นด้วยกับการแก้ไขเนื้อหาในร่างกฎหมายของ สนช.จะเข้าสู่ขั้นตอนของการบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป แต่หากไม่เป็นเช่นนั้นจะต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน 3 ฝ่าย เพื่อตรวจทานกันอีกครั้งและส่งกลับมายัง สนช.ให้ลงมติ

แต่ถ้ามองท่าทีของสมาชิก สนช.หลายคนในเวลานี้ คงไม่ยอมปล่อยให้ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับผ่านสภาไปได้ง่ายๆ อย่างแน่นอน แต่จะถึงขั้นลงมติฉีกร่างกฎหมายของ กรธ. เพื่อส่งกลับไปให้ กรธ.ทำมาใหม่หรือไม่ น่าจะต้องดูสัญญาณจากผู้มีบารมีใน คสช.อีกทีว่าจะเห็นดีเห็นงามหรือไม่อีกครั้ง

3.การสรรหา กกต.ชุดใหม่จำนวน 7 คน เป็นกระบวนการที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาในฐานะเลขาธิการ สนช.ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว และคณะกรรมการสรรหาเตรียมเปิดรับสมัครในระหว่างวันที่ 19 ต.ค.-10 พ.ย. จากนั้นจะมาเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจำนวน 5 คน เพื่อให้ สนช.ลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่ ส่วนอีก 2 คนจะมาจากการเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

รายชื่อว่าที่ กกต. ทั้ง 7 คน จะถึงมือของ สนช.ไม่เกินวันที่ 12 ธ.ค.

กกต.ชุดใหม่จะเป็นอีกปัจจัยทางการเมืองที่สำคัญอีกปัจจัย เพราะเป็น กกต.ที่มาจากการสรรหาในยุคของ คสช ต่างจาก กกต.ชุดปัจจุบันที่วุฒิสภาในอดีตเลือกมาก่อนจะเกิดการรัฐประหาร อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่มีผลให้ กกต.ชุดนี้ต้องถูกเซตซีโรไปทั้งหมด

ต้องไม่ลืมว่า กกต.ชุดใหม่มีภารกิจสำคัญคือ การจัดการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. 2561

ดังนั้น โฉมหน้าของว่าที่ กกต. ทั้ง 7 คน ที่จะออกมาในช่วงปลายปีนี้ จะเป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นทิศทางเกี่ยวกับการเมืองในอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะนั่นหมายถึงการควบคุมพรรคการเมืองในทุกย่างก้าวในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง

ทั้งหมดนี้คงต้องรอให้ประเทศผ่านงานสำคัญไปก่อน จากนั้นการเมืองจะกลับมาเป็นละครฉากใหญ่ให้คนไทยได้ติดตามอีกครั้ง