posttoday

คสช.เด้งเชือกพลิ้ว ยื้อปลดล็อกการเมือง

11 ตุลาคม 2560

การประกาศใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 นับว่ามีนัยทางการเมืองพอสมควร เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังเข้าใกล้การเลือกตั้งไปอีกหนึ่งก้าว

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การประกาศใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ไปเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นับว่ามีนัยทางการเมืองพอสมควร เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังเข้าใกล้การเลือกตั้งไปอีกหนึ่งก้าว

เดิมทีก่อนหน้านี้เพิ่งมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 ซึ่งเวลานี้อยู่ในระหว่างกระบวนการสรรหา กกต.ชุดใหม่ 7 คน แทน กกต.ชุดปัจจุบันที่ยังคงทำหน้าที่ต่อไประหว่างถูกเซตซีโร่

เมื่อกฎหมายประกอบเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้ประกาศใช้ไปแล้ว 2 ฉบับ เท่ากับว่าเหลือเพียงกฎหมายการเลือกตั้งอีกสองฉบับเท่านั้น คนทั้งประเทศไทยสามารถนับถอยหลังเข้าสู่การเลือกตั้งได้ทันที โดยร่างกฎหมายเลือกตั้งที่เหลืออยู่ คือร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) วางกรอบการทำงานเอาไว้ว่าจะเสนอร่างกฎหมายทั้งสองฉบับให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ในช่วงปลายเดือน พ.ย. ก่อนครบกำหนด 240 วัน ในวันที่ 1 ธ.ค.

อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายเลือกตั้งจะเสร็จสมบูรณ์ไปครึ่งทาง แต่ดูเหมือนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังไม่ยอมผ่อนปรนเงื่อนไขทางการเมืองเท่าไรนัก

ที่ผ่านมาหลายฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายการเมืองเรียกร้องให้ คสช.ปลดล็อกทางการเมือง เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้ หากภายหลังมีการประกาศใช้กฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่

แต่จนแล้วจนรอดปรากฏว่า คสช.ยังคงสงวนท่าทีต่อเรื่องพอสมควร ดังจะเห็นได้จากท่าทีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เมื่อวันที่ 9 ต.ค.

"ตอนนี้ยังไม่ปลดล็อกให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมทางการเมือง เพราะการจัดทำกฎหมายลูกยังไม่แล้วเสร็จ อีกทั้งตนเองยังไม่ทราบว่าจะเลือกตั้งเมื่อใด เพราะยังมีเวลาอีกปีกว่า" เสียงคำรามจากบิ๊กป้อม

พลันที่ พล.อ.ประวิตร ปฏิเสธจะผ่อนกฎเหล็กให้กับพรรคการเมือง ทำให้เกิดแรงกดดันพุ่งตรงไปที่ คสช.ทันที เพราะสถานการณ์เวลานี้ต้องยอมรับว่าเปลี่ยนไปแล้ว

เดิมทีก่อนหน้านี้ยังไม่มีประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ก็พอให้ คสช.มีความชอบธรรมในระดับหนึ่งในการปิดปากพรรคการเมืองไม่ให้ส่งเสียงออกมา แต่เมื่อ ณ ตอนนี้มีรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการลงประชามติและพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่ได้รับการประกาศใช้แล้ว ย่อมมีเหตุสมควรที่ให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมได้ระดับหนึ่ง เพื่อให้สอดรับเงื่อนไขที่กฎหมายพรรคการเมืองได้กำหนดเอาไว้

ทั้งนี้ มีหลายเรื่องที่กฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่บัญญัติกรอบเวลาให้พรรคการเมืองต้องเร่งดำเนินการหลังจากกฎหมายประกาศใช้ โดยมีเรื่องสำคัญอยู่อย่างน้อย 5 เรื่อง

1.ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงสมาชิกให้นายทะเบียนทราบภายใน 90 วัน

2.พรรคการเมืองที่ยังมีสมาชิกไม่ถึง 500 คน ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกให้ครบ 500 คน ภายใน 180 วัน

3.พรรคต้องจัดให้มีทุนประเดิมจำนวน 1 ล้านบาท และแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายใน 180 วัน

4.ต้องจัดให้สมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 500 คน ชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองภายใน 180 วัน

5.ต้องจัดให้สมาชิกชำระเงินค่าบำรุงพรรคการเมืองให้ได้จำนวน ไม่น้อยกว่า 5,000 คน ภายในหนึ่งปี

เงื่อนไขเหล่านี้ ถ้าพรรคการเมืองดำเนินการไม่ครบถ้วนอาจมีผลต่อการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง สส.ในอนาคตด้วย

จึงไม่แปลกที่พรรคการเมืองหลายพรรคจะพร้อมใจออกมารุมกดดัน คสช.ให้ปลดล็อกการเมือง เพราะพรรคการเมืองจะไม่สามารถดำเนินการเพื่อให้บรรลุเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดได้เลย หาก คสช.ไม่ยอมเปิดโอกาสให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองประชุมใหญ่

แต่เมื่อ คสช.เองยังเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของพรรคการเมือง ย่อมทำให้ถูกตั้งคำถามได้ว่า คสช.กำลังแสดงเจตนาจะถ่วงไม่ให้มีการเลือกตั้งหรือไม่

จากกระแสกดดันที่เกิดขึ้นส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ต้องออกมาให้สัมภาษณ์เพื่อประกาศถึงความชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้งเพื่อดับร้อนทางการเมือง

"ผมไม่ต้องการที่จะหน่วงเวลาอะไรไว้ทั้งสิ้น ขอยืนยันตรงนี้ในส่วนของเดือน ต.ค.นี้ เป็นช่วงที่คนไทยทุกคนอยู่ในช่วงเวลาโศกเศร้าอาลัย ขอให้ทุกอย่างอยู่บนสถานการณ์แห่งความสงบ

ในส่วนตรงนี้พูดได้ว่าประมาณเดือน มิ.ย. 2561 จะมีการประกาศวันเลือกตั้งและประมาณเดือน พ.ย. 2561 จะมีการเลือกตั้ง วันนี้ก็มีความชัดเจนขึ้น ขอให้ทุกคน นักการเมือง พรรคการเมือง ขอให้อยู่ในความสงบ ซึ่งจะมีผลต่อการพิจารณามาตรการในการผ่อนคลายต่างๆ ด้วย" พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

คสช.กำลังเล่นเกมแบบสองหน้า หน้าหนึ่งเล่นบทไฟแผ่ความร้อนกดดันฝ่ายตรงข้าม แต่อีกด้านหนึ่งเล่นบท น้ำเย็น เพื่อดับร้อนไม่ให้กระแสกดดันลุกลาม

แต่ตราบใดที่ คสช.ยังไม่ให้ความชัดเจน และยอมผ่อนปรนเงื่อนไขทางการเมืองคงเป็นเรื่องยากที่ คสช.จะเล่นบทสองหน้าเพื่อเด้งเชือกออกจากมุมหลบหมัดได้ไปตลอด