posttoday

ตอใหญ่เริ่มผุด ปฏิรูปตำรวจเริ่มชะงัก

06 ตุลาคม 2560

นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย. การปฏิรูปประเทศเริ่มมีการปฏิรูปเป็นระยะ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย. การปฏิรูปประเทศเริ่มมีการปฏิรูปเป็นระยะ อย่างน้อยปรากฏให้เห็นในสองความเคลื่อนไหวสำคัญ

ความเคลื่อนไหวแรก คือ การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ โดยหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เร่งพิจารณา พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และมีการประกาศใช้ออกมาเป็นผลสำเร็จอย่างรวดเร็ว

อย่างที่ทราบกันดีว่าการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คาดหวังจะให้เป็นผลงานชิ้นโบแดง เพื่อไม่ให้ใครมาปรามาสว่า คสช.ได้ทำการรัฐประหารเสียของ

ล่าสุด รัฐบาลได้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน 6 คณะ ได้แก่ 1.คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง 2.คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3.คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์

4.คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความ เสมอภาคทางสังคม 5.คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อ สิ่งแวดล้อม และ 6.คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

ความเคลื่อนไหวต่อมา คือ การตั้งคณะกรรมการปฏิรูป เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลได้ตั้งบุคคลเข้ามาทำหน้าที่กรรมการปฏิรูปประเทศ 11 คณะ ซึ่งแต่ละคณะได้ทยอยประชุมไปพอสมควรแล้ว

แต่กระนั้นในเรื่องการปฏิรูปประเทศไม่ได้มีเพียงเฉพาะคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 คณะเท่านั้น แต่มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศคณะพิเศษที่ถูกตั้งขึ้นมาเป็นการเฉพาะด้วยภายใต้ชื่อ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) โดยให้ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธาน

หน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูปชุดนี้มีภารกิจสำคัญ 4 ประการ ที่รัฐธรรมนูญบังคับให้ต้องทำให้เกิดเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย 1.การกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจน 2.ปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม 3.เสริมสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมขององค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม และ 4.ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

เดิมทีตั้งแต่เปิดตัวคณะกรรมการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม มีทั้งเสียงชื่นชมและเสียงติติง

เสียงชื่นชมที่เกิดขึ้นเป็นเพราะการเปิดโอกาสให้นักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิหลายคนที่เป็นที่ยอมรับเข้ามาทำหน้าที่ปฏิรูปตำรวจ แต่เสียงท้วงติงนั้นได้เพ่งเล็งไปที่การให้ทหารมานั่ง หัวโต๊ะปฏิรูปตำรวจ รวมไปถึงการไประดมบิ๊กตำรวจมากหน้าหลายตาเข้ามาทำงาน จนเกิดเป็นคำถามว่าการปฏิรูปตำรวจจะได้ดั่งที่ใจหวังหรือไม่

มาจนถึงขณะนี้การปฏิรูปตำรวจกำลังเจอตอครั้งใหญ่เสียแล้ว

โดยประเด็นสำคัญมาจากความ ไม่ลงรอยเรื่อง "การปฏิรูประบบสืบสวนสอบสวน" เดิมทีคณะอนุกรรมการได้ทำการสรุปออกมาเป็นเบื้องต้นแล้วว่าต้องเอาระบบสืบสวนและสอบสวนรวมเข้าไปด้วยกันและให้อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ต่างจากเดิมที่การสืบสวนและสอบสวนนั้นแยกต่างหากออกจากกัน

แม้คณะอนุกรรมการจะสรุปเค้าโครงหน้าตาออกมาแบบนี้ แต่ในกลุ่มกรรมการปฏิรูปตำรวจจากสายนักวิชาการมองว่าหากปฏิรูปตำรวจแบบนี้แทบจะไม่ได้มีการสร้างความแตกต่างไปจากอดีตเท่าไรนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้การสืบสวนและสอบสวนยังอยู่ภายใต้ สตช.

ในกลุ่มของนักวิชาการมองว่าประเด็นของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่การให้การสืบสวนและสอบสวนแยกกันอยู่หรือไม่ แต่อยู่ที่ไม่ควรให้ระบบนี้อยู่ภายใต้การควบคุมแบบเด็ดขาดของ สตช.เพียงลำพัง โดยเห็นควรให้อัยการเข้ามามีบทบาทอย่างใดอย่างหนึ่งด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ทั้งนี้ หากไม่ให้อัยการเข้ามาร่วมทำหน้าที่ตั้งแต่กระบวนการสืบสวนและสอบสวน ซึ่งเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรมแล้ว คงเป็นเรื่องยากที่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจะเกิดขึ้น

ทว่า ในกลุ่มกรรมการปฏิรูปตำรวจจากตำรวจ พยายามโน้มน้าวว่าหากไม่ให้อยู่ภายใต้กำกับของ สตช.อาจก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น ส่วนกลางจะไม่สามารถเข้ามาตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ จนอาจถูกแทรกแซงจากผู้มีอิทธิพล เป็นต้น

จึงเห็นว่าควรให้ สตช.ยังคงบทบาทหลักตรงนี้เอาไว้ และสร้างกลไกเพื่อให้พนักงานสืบสวนและสอบสวนมีความเป็นอิสระและปราศจากการครอบงำแทน

นอกเหนือไปจากความไม่ลงรอยเรื่องการปฏิรูประบบสืบสวนและสอบสวนแล้ว ยังมีเรื่องแก้ไขปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ซึ่งเบื้องต้นที่ประชุมเห็นชอบใน หลักการที่ว่าด้วยการให้ผู้บัญชาการภาคมีอำนาจเด็ดขาด แต่ทำไปทำมาก็มีกรรมการปฏิรูปตำรวจบางกลุ่มออกอาการไม่แฮปปี้เช่นกัน เพราะมองว่าจะเป็นการสร้างปัญหาในสายการบังคับบัญชา

การปฏิรูปตำรวจถึงจะเดินหน้าได้เป็นระยะๆ แต่ในด้านหนึ่งตอก็เริ่มผุดออกมาให้เห็นเช่นกัน หากความไม่ลงรอยยังเกิดขึ้นอยู่เช่นนี้ แน่นอนว่าตอจะเริ่มใหญ่และขวางจนมีผลต่อการปฏิรูปประเทศในระยะยาวอย่าง หลีกเลี่ยงไม่ได้