posttoday

"ปู"ลี้ภัยการเมือง เดิมพันสำคัญ คสช.

03 ตุลาคม 2560

ประเด็นอยู่ตรงที่ในกรณีหากอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ได้รับการลี้ภัยนั่นย่อมทำให้มีฐานที่มั่นปักหลักไม่ต้องพเนจรอยู่ต่างแดนอย่างหวาดระแวงอีกต่อไป

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

กลายเป็นประเด็นร้อนที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด หลังมีกระแสข่าวว่าอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเดินทางหลบหนีออกนอกประเทศไปยังนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเดินทางต่อไปยังกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กำลังทำเรื่องขอลี้ภัยทางการเมืองในประเทศอังกฤษ

หลังจากก่อนหน้านี้ไม่ปรากฏตัวมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อรับฟังคำพิพากษาคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว จนทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐตามที่ศาลนัด และต่อมาศาลอ่านคำพิพากษาลับหลังตัดสินว่ามีความผิดต้องจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา

ระหว่างที่กระบวนการติดตามตัวอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ กลับมาดำเนินคดีในประเทศ และกระบวนการถอนหนังสือเดินทางกำลังเดินหน้าไป​

ด้านหนึ่งการขอลี้ภัยทางการเมืองของยิ่งลักษณ์ ถูกมองว่าเป็นเพียงกระบวนการดิ้นหนีเอาตัวรอดตามปกติ หลังต้องระเห็จหลบหนีออกนอกประเทศ ไม่อาจปักหลักอยู่ที่ใดที่หนึ่งได้ ยิ่งในประเทศที่มีสนธิสัญญาความร่วมมือส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศไทย

การยื่นขอลี้ภัยทางการเมืองจึงเป็นอีกหนึ่งในทางเลือกที่ดีหากต้องการจะปักหลักอยู่นอกประเทศ ยิ่งในคดีนี้ที่ไม่มีการนับอายุความเมื่อหลบหนีแล้วจะต้องหลบหนีตลอดชีวิต รวมทั้งการอุทธรณ์คดีก็จะต้องกลับไปยื่นอุทธรณ์ด้วยตัวเองไม่สามารถดำเนินการผ่านทนายความได้

แต่สัญญาณจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ออกมาตามคำชี้แจงของ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุเพียงแต่ว่า ต้องไปดูด้วยว่าเข้าข่ายหลักเกณฑ์การขอลี้ภัยอย่างไร

“นายกฯ ไม่ได้สนใจหรือให้ความสำคัญกับเรื่องการขอลี้ภัยแต่อย่างใด เนื่องจากมีหน้าที่รับผิดชอบต่อบ้านเมืองในการรักษากฎหมายและติดตามจับกุมตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามบทบัญญัติของกฎหมายเท่านั้น โดยกระบวนการดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับทั้งกฎหมายของไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งมีหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อยู่แล้ว”พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

ทั้งที่เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญและอาจส่งผลกระทบสำคัญความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย จนอาจถูกหยิบยกนำไปเป็นประเด็นเคลื่อนไหวต่อไปในอนาคต

เนื่องจากการขอลี้ภัยทางการเมืองนั้นเป็นประเด็นทางการเมือง แต่คดีของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่ถูกตัดสินจำคุก 5 ปีนั้น เป็นคดีทางอาญา หากถูกเชื่อมโยงว่าเป็นเรื่องการเมืองจนได้รับการให้ลี้ภัยด้วยแล้ว นั่นอาจทำให้กระบวนการยุติธรรมของไทยถูกมองว่ามีปัญหาได้

ยิ่งหากถูกนำไปขยายผลว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองหลังการรัฐประหารด้วยแล้วย่อมทำให้ความน่าเชื่อถือของ คสช.ต้องสั่นคลอนตามไปด้วย

​ที่สำคัญอาจจะบานปลายกระทบไปถึงความพยายาม ปฏิรูป และ ปรองดอง ตลอดจนแผนการยุทธศาสตร์ชาติที่กำลังดำเนินการในเวลานี้ต่อไป

เมื่อท่าทีจาก วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ อธิบายว่า การขอลี้ภัยทางการเมืองต้องเป็นคดีการเมือง ซึ่งอย่ายึดคำว่านักการเมือง เพราะนักการเมืองฆ่าคนแล้วหนีจะลี้ภัยทางการเมืองได้หรือไม่ ต้องตอบว่าไม่ได้มันต้องเป็นคดีการเมือง เช่น กรณีการยึดอำนาจ ถ้าหนีตอนโน้นก็อาจใช่ แต่มาหนีตอนนี้ก็อีกเรื่องหนึ่ง

“ส่วนจะอ้างผลพวงรัฐประหารหรือไม่นั้นตนเองไม่ทราบไม่ขอตอบในเรื่องนี้ ต้องแล้วแต่ละประเทศว่าเขาจะรับหรือไม่ ต้องแยกให้ออกระหว่างนักการเมืองกับคดีทางการเมือง เพราะการลี้ภัยคดีทางการเมืองไม่ใช่เป็นไปโดยอัตโนมัติมีหลักเกณฑ์หลายอย่าง”​

การขอลี้ภัยครั้งนี้จึงถือเป็นเดิมพันอีกครั้งที่สำคัญของ คสช. ซึ่งอาจจะต้องรีบสื่อสารให้ข้อมูล​ทำความเข้าใจกับประเทศที่อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ขอลี้ภัยมากกว่าการนิ่งเฉยปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการตามปกติเท่านั้น

เมื่อคดีนี้แม้จะเริ่มต้นก่อนรัฐประหารแต่กระบวนการส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงหลังรัฐประหาร และอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่หยิบยกไปใช้ในกระบวนการขอลี้ภัยได้

ประเด็นอยู่ตรงที่ในกรณีหากอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ได้รับการลี้ภัยนั่นย่อมทำให้มีฐานที่มั่นปักหลักไม่ต้องพเนจรอยู่ต่างแดนอย่างหวาดระแวงอีกต่อไป

ที่สำคัญยังอาจใช้พื้นที่ต่างแดนที่ได้รับการลี้ภัยทางการเมืองเป็นฐานเคลื่อนไหวสร้างแรงกระเพื่อมกลับมายังประเทศไทย และเพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาล คสช.ในช่วงใกล้เลือกตั้ง

รวมทั้งอาจจะเป็นชนวนให้บางฝ่ายในประเทศหยิบยกมาเป็นประเด็นเคลื่อนไหวเรียกร้องความเห็นใจ และสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง ซึ่งทั้งหมดไม่เป็นผลดีกับ คสช.