posttoday

เศรษฐกิจฟื้น หนี้ครัวเรือนชะลอตัว

30 กันยายน 2560

ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยเดือนส.ค.ขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับกำลังซื้อในประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 2ปีนี้ว่าลดต่ำลงต่อเนื่อง

ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยเดือนส.ค.ขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับกำลังซื้อในประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 2ปีนี้ว่าลดต่ำลงต่อเนื่อง

ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ส.ค.ปีนี้ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง การส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวดี เติบโตอยู่ที่ 15.8% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ถ้าหักทองคำออกจะโต 12.7% สอดคล้องกับกำลังซื้อในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ทำให้ครึ่งปีหลังมีโอกาสเติบโตได้พอๆ กับครึ่งปีแรก จากเดิมที่คาดว่าครึ่งปีหลังจะโตได้น้อยกว่าครึ่งปีแรก

ขณะเดียวกัน การส่งออกก็มี แนวโน้มดีขึ้นในทุกตลาดหลัก รวมถึงการ ส่งออกในกลุ่มเอสเอ็มอี ส่งผลดีให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมขยายตัวได้ดีขึ้น ทำให้การใช้กำลังการผลิตมีทิศทางปรับดีขึ้น จาก 61.4% ในเดือนก่อน เพิ่มเป็น 63% เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวก็ดีต่อเนื่องขยายตัว 8.7% เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน มีนักท่องเที่ยวในเดือนนี้ 3.13 ล้านคน

สำหรับการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปอยู่ที่ 1.9% เริ่มกลับมาเป็นบวกจากระยะเดียวกันของปีก่อนติดลบ ส่วนหนึ่งที่โตไม่ดีนักเพราะการใช้จ่ายในสินค้าที่ไม่คงทนโตอยู่ที่ 0.5% และปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้ยังไม่ดี เพราะรายได้ภาคเกษตรเดือนนี้ยังติดลบเป็นเดือนที่ 2 ต่อจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากปาล์มกับผลไม้ยังไม่ดี แม้ภาพรวมในพืช 4 ชนิดหลักจะดี คือ ยางพารา ข้าว มัน และอ้อย จะดีก็ตาม ส่วนรายได้นอกภาคเกษตรก็ยังทรงๆ ส่งผลให้คนยังระมัดระวังการใช้จ่าย

ดอน กล่าวว่า สถานการณ์จากนี้ไปเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) คงไม่ถึงขั้นกลับทิศเป็นไหลออก แม้เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวต่อเนื่องและเงินดอลลาร์สหรัฐปรับแข็งค่าขึ้น การแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์ช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้าง โดยในช่วงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา เงินบาทอยู่ที่ระดับ 33.19 บาท/ดอลลาร์ ปัจจุบันอ่อนมาอยู่ที่ 33.39 บาท/ดอลลาร์

"ช่วงนี้ถึงเงินทุนจะไหลกลับออกไปบ้าง ก็ไม่มีอะไรน่าห่วง โดยเฉพาะเงินที่มาเก็งกำไรระยะสั้น ไหลออกไปบ้างจะยิ่งดี แต่ยังมองว่าทิศทางเงินทุนจะยังไม่ถึงขั้นไหลออก แต่น่าจะไหลเข้ามาในแนวโน้มชะลอลง" ดอน กล่าว

นอกจากนี้ แนวโน้มที่ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่น่าจะเกินดุลได้ ลดลง บวกกับดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น น่าจะช่วยให้เงินบาทอยู่ในทิศทางที่อ่อนค่าได้ในระยะยาว

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 2 ของปีนี้ว่าลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง โดยหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่าจีดีพี ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ จีดีพีของไทยลดต่ำลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 78.4% ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 3 ปี ขณะที่สัญญาณขยายตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

"มีความเป็นไปได้ที่หนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2560 จะชะลอลงไปอยู่ที่ใกล้กรอบล่างของช่วงประมาณการอยู่ที่ 78.0-79.0% ต่อจีดีพี อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปี 2560 จะลดต่ำลงจากปี 2559 แต่ภาระหนี้สินของครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับรายได้ ก็น่าจะยังสะท้อนว่ากำลังซื้อและบรรยากาศของการใช้จ่ายภาคเอกชนอาจมีกรอบการฟื้นตัวที่ค่อนข้างจำกัด ขณะที่การสร้างวินัยในการก่อหนี้ก็ยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการลดความเปราะบางทางการเงินให้กับภาคครัวเรือนและเศรษฐกิจไทยในภาพรวม" ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลคาดหวังที่จะเห็นสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับเพิ่มประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้เพิ่มขึ้น หลังจากที่ผ่านมากระทรวงการคลังและ ธปท.มีการปรับเพิ่มประมาณการแล้ว หลังได้รับแรงหนุนจากการส่งออกที่เติบโตดีต่อเนื่อง รวมถึงการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีกว่าคาด

"ทุกอย่างคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ทำให้หลายส่วนมีการปรับจีดีพีขึ้นแต่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ปรับทีเดียวเลย ปรับทำไม 2-3 รอบ ตอนนี้รัฐบาลก็ไม่ได้ห่วงเรื่องตัวเลขจีดีพีแล้ว เพราะมองว่ายังไงปีนี้ก็โต และโตได้ดีมากด้วย ซึ่งสิ่งที่ต้องแก้ต่อไป คือ ความเหลื่อมล้ำและการกระจายรายได้ไปสู่ฐานล่างให้มากขึ้น" สมคิด กล่าว

สำหรับโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐที่จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ พบว่าหลายฝ่ายยังติดขัดปัญหาและความล่าช้าในการเข้ามาลงทะเบียนของประชาชน เรื่องนี้ได้รับทราบมาจากกระทรวงการคลังแล้ว โดยต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น กรมบัญชีกลางและ ธนาคารกรุงไทยก็ทำงานกันอย่างเต็มที่ และอยากให้ทุกฝ่ายทำออกมาให้ดี

สำหรับภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องนี้ สะท้อนออกมาในกำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) รายงานว่า อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มีการขยายตัว ได้แก่ เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.39 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์เครื่องยนต์ดีเซลที่ได้รับคำสั่งซื้อจากผู้ผลิตในประเทศเพื่อตอบสนองการผลิตรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการส่งออกต่างประเทศ โดยเฉพาะลูกค้าในกลุ่มประเทศ AEC (อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์)

รถยนต์ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.28 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์รถปิกอัพและรถยนต์นั่งความจุกระบอกสูบไม่เกิน 1,800 ซีซี เนื่องจากผู้ผลิตบางรายมีเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ และมีงานมหกรรมรถยนต์ Big motor sale กระตุ้นตลาดในประเทศเพิ่มขึ้นทำให้ปริมาณจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.83 ส่วนการส่งออกรถยนต์ปรับเพิ่มขึ้น จากรถปิกอัพที่ ส่งออกไปในตลาดกลุ่มอาเซียน

ผลิตภัณฑ์ยางขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.74 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์ยางแผ่น โดยในปีนี้วัตถุดิบ (น้ำยาง) ออกสู่ตลาดมากขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่ฝนตกตลอดปี ส่งผลให้ต้นยางสมบูรณ์เต็มที่ รวมถึงหลายบริษัททำการขยายตลาดใหม่ได้มากขึ้นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.51 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในผลิตภัณฑ์ PCBA รองลงมาเป็นสินค้า Other ICs เนื่องจากแนวโน้มความต้องการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นไปตามเทรนด์เทคโนโลยี IOT ที่เติบโตอย่างรวดเร็วต่อเนื่องจากปีก่อน

น้ำมันปิโตรเลียมขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.44 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และน้ำมันเครื่องบิน เนื่องจากในปีก่อนโรงกลั่นมีการซ่อมบำรุงบางส่วน ทำให้กำลังการผลิตในสินค้าดังกล่าวของปีก่อนลดลง แต่ในปีนี้สามารถกลั่นได้ตามปกติ