posttoday

อวสาน ‘ยิ่งลักษณ์’ หนีแล้วต้องหนีทั้งชีวิต

29 กันยายน 2560

บทสรุปของคดีจำนำข้าวออกมาเป็นทางการแล้ว ภายหลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เป็นเวลา 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

บทสรุปของคดีจำนำข้าวออกมาเป็นทางการแล้ว ภายหลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นเวลา 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา

เวลานี้คำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ฉบับเต็มยังไม่ได้มีการเปิดเผย แต่เมื่อดูจากเอกสารข่าวของศาลฎีกาฯ แล้วจะเห็นได้ว่ามีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ ไม่น้อยเหมือนกัน

ทั้งนี้ ในเอกสารดังกล่าวที่เป็นการสรุปคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ปรากฏว่ามี 3 ประเด็นที่ศาลฎีกาฯ ได้ลงมติวินิจฉัย

1.อำนาจในการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เดิมทียิ่งลักษณ์ต่อสู้ในชั้นศาลฎีกาฯ ว่าเนื่องจากการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ดังนั้น องค์กรอิสระจึงไม่สามารถเข้ามาตรวจสอบได้

แต่ข้อต่อสู้ดังกล่าวของยิ่งลักษณ์ก็ถูกตีตกด้วยความเห็นของศาลฎีกาฯ อย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ ในเมื่อคดีจำนำข้าวเป็นการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ จึงอยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช.ที่สามารถเข้าไปตรวจสอบและเสนอคดีต่อศาลได้

2.ความเสียหายในการดำเนินนโยบายจำนำข้าว ประเด็นนี้ศาลฎีกาฯ วินิจฉัยอย่างมีนัยสำคัญว่าตลอดการดำเนินนโยบายมีข้อเท็จจริงที่ปรากฏออกมาว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นหลายประการ เช่น การสวมสิทธิการรับจำนำ การนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ ข้าวสูญหาย การออกใบประทวนอันเป็นเท็จ การใช้เอกสารปลอม การโกงความชื้นและน้ำหนักเพื่อกดราคารับซื้อจากชาวนา ข้าวสูญหายจากโกดัง แต่เป็นความ เสียหายที่เกิดจากฝ่ายปฏิบัติ

ประกอบกับยิ่งลักษณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อป้องกันความเสียหายตั้งแต่ตอนเริ่มโครงการ อีกทั้งเมื่อพบความเสียหายดังกล่าวในขณะดำเนินโครงการก็ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเป็นระยะๆ เพราะฉะนั้นความเสียหายในส่วนนี้ยังฟังไม่ได้ว่า ยิ่งลักษณ์ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดความเสียหาย หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ

3.การทุจริตในโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) แม้จะเป็นคดีที่ศาลฎีกาฯ ได้พิพากษาและลงโทษ "บุญทรง เตริยาภิรมย์" อดีตร มว.พาณิชย์ ไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่ก็เป็นประเด็นสำคัญที่ศาลฎีกาฯ ได้นำมาเชื่อมโยงเพื่อวินิจฉัยความผิดของยิ่งลักษณ์

ในประเด็นนี้นับว่าเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ยิ่งลักษณ์ต้องสิ้นอิสรภาพ โดยศาลฎีกาฯ มองว่าที่ผ่านมายิ่งลักษณ์ได้รับทราบถึงความเสียหายของโครงการที่เกิดขึ้นแล้วผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎร และได้ปรับคณะรัฐมนตรีด้วยการเอาบุญทรงออกจากตำแหน่ง รมว.พาณิชย์

จากพฤติการณ์ทำให้ศาลฎีกาฯ เชื่อว่ายิ่งลักษณ์ได้รับทราบถึงความเสียหายแล้ว และเมื่อได้รับทราบแต่กลับไม่ดำเนินการระงับยับยั้งความ เสียหาย จึงสรุปได้ว่ายิ่งลักษณ์ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 (เดิม) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ลงโทษจำคุก 5 ปี

อย่างไรก็ตาม ในทางกฎหมายต้องถือว่าคดีนี้ยังไม่จบเสียทีเดียว เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เปิดโอกาสให้จำเลย ซึ่งในที่นี้คือยิ่งลักษณ์ สามารถใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาโดย ไม่ต้องมีหลักฐานใหม่แต่อย่างใด

แต่กระนั้นในสถานการณ์เช่นนี้ ต้องยอมรับว่าการใช้สิทธิอุทธรณ์ของยิ่งลักษณ์เป็นไปได้ยากลำบาก ภายหลัง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 28 ก.ย.

เท่ากับว่าการใช้สิทธิอุทธรณ์ของยิ่งลักษณ์ต้องตกอยู่ภายใต้มาตรา 61 ของกฎหมายดังกล่าว

"ในกรณีที่จําเลยซึ่งไม่ได้ถูกคุมขังเป็นผู้อุทธรณ์ จําเลยจะยื่นอุทธรณ์ได้ต่อเมื่อแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะยื่นอุทธรณ์ มิฉะนั้นให้ศาลมีคําสั่งไม่รับอุทธรณ์" บทบัญญัติมาตรา 61

จากบทบัญญัติของมาตรา 61 แปลไทยเป็นไทยจะได้ความว่า หาก ยิ่งลักษณ์จะใช้สิทธิอุทธรณ์ก็ต้องกลับประเทศไทย เพื่อแสดงตนต่อ เจ้าพนักงาน มิเช่นนั้นแล้วศาลจะไม่รับอุทธรณ์

เหนืออื่นใด คดีของยิ่งลักษณ์กลายเป็นคดีที่ไร้อายุความไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ เดิมทีจะมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา แต่เมื่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 ประกาศใช้ ประกอบกับบทบัญญัติใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉบับปัจจุบัน และยิ่งลักษณ์ได้หลบหนี ทำให้คดีนี้ไม่มีอายุความไปโดยปริยาย

ต่อให้เวลาผ่านไปมากกว่า 10 ปี ยิ่งลักษณ์จะไม่สามารถกลับประเทศไทยได้ เว้นแต่ในอนาคตจะมีการแก้ไขกฎหมายเป็นอย่างอื่น

ด้วยเงื่อนไขทางกฎหมายเช่นนี้ เท่ากับว่าถ้ายิ่งลักษณ์จะฮึดสู้อีกครั้งและขอใช้สิทธิอุทธรณ์ ก็ต้องกลับมาเมืองไทย เพียงแต่จะต้องแลกกับอิสรภาพที่ต้องเสียไป

จึงเป็นคำถามว่าจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น "ยิ่งลักษณ์" พร้อมที่จะเดินหน้าแลกหรือไม่ หรือจะหนีแบบนี้ไปตลอดชีวิต ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของอดีตนายกฯ หญิงคนแรกเพียงคนเดียวเท่านั้น n