posttoday

อนาคต ‘ยิ่งลักษณ์’ หลังพิงฝา...ไปต่อลำบาก

27 กันยายน 2560

ในที่สุดวันนี้คนไทยทั้งประเทศก็จะได้รู้แล้วว่าบทสรุปของ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ในกรณีคดีจำนำข้าวจะมีบทสรุปอย่างไร

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ในที่สุดวันนี้คนไทยทั้งประเทศก็จะได้รู้แล้วว่าบทสรุปของ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ในกรณีคดีจำนำข้าวจะมีบทสรุปอย่างไร

ตามขั้นตอนแม้เวลานี้จะยังไม่มีใครทราบว่ายิ่งลักษณ์จะเดินทางกลับประเทศไทย เพื่อรับฟังคำพิพากษาในวันนี้หรือไม่ แต่องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะออกนั่งบัลลังก์ เพื่ออ่านคำพิพากษาลับหลังยิ่งลักษณ์ทันที ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2542

จากวันที่ยิ่งลักษณ์ประกาศตัวเป็นผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 ของพรรคเพื่อไทย พร้อมกับลงพื้นที่ หาเสียงด้วยการชูนโยบายจำนำข้าวเป็นนโยบายหลักในการหาเสียง จนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คงไม่มีใครหรือแม้แต่ตัวยิ่งลักษณ์เองจะคิดว่านโยบายที่ทำให้ตัวเองชนะเลือกตั้งและเป็นรัฐบาลในวันนั้นจะย้อนกลับมีผลต่อยิ่งลักษณ์ในวันนี้

ที่ผ่านมา ยิ่งลักษณ์ พยายามอ้างว่าการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ที่ได้แถลงไว้ต่อที่ประชุมรัฐสภาเมื่อ ปี 2554 จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐบาลไม่สามารถยกเลิกโครงการ ดังกล่าวได้

นโยบายรับจำนำข้าวเป็นหนึ่งในนโยบายเรงดวนที่จะเริ่มดําเนินการในปแรก โดยอยู่ในลำดับที่ 11 ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

"ยกระดับราคาสินค้าเกษตรและให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยดูแลราคาสินค้าเกษตรให้มีเสถียรภาพที่เหมาะสม คํานึงถึงกลไกราคาตลาดโลก โดยใช้วิธีบริหารจัดการทางการตลาดและกลไกตลาดซื้อขายล่วงหน้า รวมทั้งผลักดันให้เกษตรกรสามารถขายสินค้าเกษตรได้ในราคาสูงเพียงพอเมื่อเทียบกับต้นทุน และนําระบบรับจํานําสินค้าเกษตรมาใช้ในการสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้แก่เกษตรกร

เริ่มต้นจากการรับจํานําข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือกหอมมะลิความชื้น ไม่เกินร้อยละ 15 ที่ราคาเกวียนละ 1.5 หมื่นบาท และ 2 หมื่นบาทตามลําดับ พร้อมทั้งจัดให้มีการเยียวยาความเสียหายของพืชผลจากภัยธรรมชาติให้แก่เกษตรกร การจัดทําระบบทะเบียนครัวเรือนเกษตรกรให้สมบูรณ์และการออกบัตรเครดิตสําหรับเกษตรกร"

นอกเหนือไปจากการอ้างไม่สามารถยกเลิกนโยบาย เพราะได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาแล้วนั้นอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ยังแก้ข้อกล่าวหาด้วยการยืนยันว่าในฐานะนายกฯ ได้ดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโครงการรับจำนำข้าว

เช่น การมอบหมายให้รองนายกฯ เข้าไปตรวจสอบ หรือการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความโปร่งใส อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าไม่ได้ปล่อยละเลยตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหาแต่อย่างใด

ดังนั้น หากศาลฎีกาฯ รับฟังและให้น้ำหนักกับการแก้ข้อกล่าวหาของ ยิ่งลักษณ์ โอกาสที่จะได้คำพิพากษาในทำนองยกฟ้อง หรือให้มีความผิดแต่รอลงอาญาก็พอมีความเป็นไปได้ แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นเท่ากับว่าโอกาสที่ศาลฎีกาฯ จะพิพากษาให้จำคุก โดยไม่รอลงอาญาก็มีความเป็นไปได้ไม่ต่างกัน

เรียกได้ว่าคำพิพากษาในวันนี้สามารถออกได้ทุกหน้าทั้ง "จำคุก-ยกฟ้อง-จำคุก แต่รอลงอาญา"

ขณะเดียวกัน ไม่ว่าคำพิพากษาจะปรากฏมาในรูปแบบใด การเมืองไทยนับจากวินาทีที่องค์คณะผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้นจะเปลี่ยนไปทันที

1.หากพิพากษายกฟ้องหรือให้ความผิด ศาลจะมีคำสั่งเพิกถอนหมายจับที่ออกไปก่อนหน้านี้ ซึ่งจะมีผลให้ ยิ่งลักษณ์สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าตัว จะตัดสินใจอย่างไร

แต่ถึงกระนั้นการรอดโทษทางอาญาในคดีจำนำข้าว ก็ไม่ได้มีผล ต่อคดีทางแพ่งที่หน่วยงานของรัฐกำลังดำเนินการไต่สวนในขณะนี้

เมื่อมีคำพิพากษาฉบับเต็มออกมาเป็นทางการ หน่วยงานภาครัฐนำโดยกระทรวงการคลังจะเป็นเจ้าภาพในการรวบรวมข้อมูลเพื่อดำเนินการขอให้ดำเนินการอายัดและยึดทรัพย์ในการชดใช้ค่าเสียหายต่อไป

2.ถ้าคำพิพากษามีบทสรุปให้ ยิ่งลักษณ์ต้องจำคุกทันทีโดยไม่รอลงอาญา นอกจากยิ่งลักษณ์จะต้องต่อสู้กับคดีความรับผิดทางแพ่งแล้ว ยังต้องเผชิญกับผลของคำพิพากษาอีกด้วย

ผลลำดับแรกๆ ที่ต้องเผชิญ คือ การถูกติดตามตัวเพื่อให้มารับโทษ ซึ่งตามขั้นตอนศาลฎีกาจะต้องออกหมายจับอีกหมาย เพื่อบังคับจำเลยให้มารับโทษตามคำพิพากษา เหมือนกับกรณีที่ศาลฎีกาเคยออกหมายจับภายหลัง "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ ตกเป็นกระทำความผิดในคดีการ ซื้อขายที่ดินรัชดา

โดยอายุของหมายจับจะมีระยะเวลาเท่าไรก็ขึ้นอยู่กับว่ายิ่งลักษณ์ต้องรับโทษจำคุกกี่ปีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 98 เช่น 15 ปี สำหรับโทษจำคุกกว่า 7 ปี แต่ยังไม่ถึง 20 ปี หรือ 10 ปี สำหรับโทษจำคุกกว่า 1-7 ปี นอกจากนี้อาจมีกระบวนการระหว่างประเทศเพื่อขอส่งตัวผู้ร้าย ข้ามแดนอีกด้วย

ส่วนเรื่องการอุทธรณ์คำพิพากษานั้น แม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จะเปิดทางให้สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ง่ายขึ้น เพราะไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานใหม่ เพียงแค่การยื่นต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาภายใน 30 วัน ก็พอ แต่หากร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฉบับใหม่ประกาศใช้ เท่ากับว่ายิ่งลักษณ์ต้องมายื่นอุทธรณ์ด้วยตัวเอง มิเช่นนั้นจะไม่สามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้

เห็นแบบนี้แล้ว ที่เคยคิดว่าวันที่ 27 ก.ย. จะเป็นบทสรุปของทั้งหมด อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเมืองไทยบทใหม่ก็เป็นได้