posttoday

บทสรุปพันธมิตรฯ แช่แข็งม็อบทุกสี

26 กันยายน 2560

การเมืองไทยในรอบทศวรรษนี้ นอกจากจะมี "ทักษิณ ชินวัตร" เป็นผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองแล้ว "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ก็นับเป็นกลุ่มการเมืองที่ทรงอิทธิพลและคอยคานอำนาจทักษิณได้อย่างสมน้ำสมเนื้อเช่นกัน

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การเมืองไทยในรอบทศวรรษนี้ นอกจากจะมี "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองแล้ว "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ก็นับเป็นกลุ่มการเมืองที่ทรงอิทธิพลและคอยคานอำนาจทักษิณได้อย่างสมน้ำสมเนื้อเช่นกัน

เรียกได้ว่า "กลุ่มทักษิณ" คุมการเมืองในสภา ส่วน "พันธมิตรฯ" คุมการเมืองนอกสภา

หากเปรียบพันธมิตรฯ เป็นวงจรชีวิตของคน จะพบว่ามีทั้งจุดสูงสุดและจุดต่ำสุด

จุดเริ่มต้นของกลุ่มพันธมิตรฯ เกิดขึ้นจากเวทีรายการ "เมืองไทยรายสัปดาห์" วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลทักษิณในช่วงปี 2548 เมื่อกระแสจุดติดประกอบกับเกิดเหตุการณ์ขายหุ้นของครอบครัวชินวัตรครั้งใหญ่ ทำให้จากรายการโทรทัศน์ไปสู่การเข้าสู่สนามการเมืองนอกสภาอย่างเต็มตัวในนามกลุ่มพันธมิตรฯ

กลุ่มพันธมิตรฯ ที่ใช้ "เสื้อเหลือง" เป็นสัญลักษณ์สำคัญในการเคลื่อนไหว ถือกำเนิดขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มเอกชน นำโดย "สนธิ ลิ้มทองกุล" และกลุ่มภาคประชาชน นำโดย "พล.ต.จำลอง ศรีเมือง" "พิภพ ธงไชย" แม้จะต่างที่มาแต่กลับมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การขับไล่รัฐบาลทักษิณในเวลานั้น

การเคลื่อนไหวตลอดปี 2548 กลุ่มพันธมิตรฯ สามารถสร้างความกดดันให้รัฐบาลทักษิณเป็นระยะ ถึงขั้นที่อดีตนายกฯ ทักษิณ ต้องประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรในปี 2549 เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง

ทว่า การเลือกตั้งที่คิดว่าจะเป็นทางออกให้กับรัฐบาลทักษิณ กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะนอกจากจะไม่ใช่ทางออกแล้ว ยังเป็นแรงกระตุ้นให้กลุ่ม พันธมิตรฯ ยกระดับการชุมนุมมากขึ้น ไปอีก จนในที่สุดเกิดการรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549

นับจากนั้นทุกย่างก้าวของกลุ่ม พันธมิตรฯ ตกอยู่ภายใต้การติดตามของสังคมในฐานะกลุ่มการเมืองนอกสภาที่ทรงอิทธิพล

กลุ่มพันธมิตรฯ กลับมาชุมนุม ใหญ่อีกครั้ง เพื่อขับไล่รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในช่วงปี 2551

กลุ่มพันธมิตรฯ ลงมือและสร้างปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีกลุ่มการเมืองนอกสภากลุ่มไหนเคยทำได้มาก่อน เช่น การใช้ทำเนียบรัฐบาลเป็นฐานที่มั่นในการชุมนุม การชุมนุมในท่าอากาศยานของประเทศ ทั้ง "ดอนเมือง" และ "สุวรรณภูมิ" กินระยะเวลารวม 193 วัน หรือกว่า 6 เดือน ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจรัฐบาลจากพรรคเพื่อไทยมาเป็นพรรคประชาธิปัตย์ในปีเดียวกัน

ผ่านมาถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 10 ปี คงไม่มีใครคาดคิดว่าผลของการสร้างประวัติศาสตร์การเมืองของกลุ่มพันธมิตรฯ จะกลับมามีผลต่อแกนนำพันธมิตรฯ ในวันนี้ ภายหลังศาลฎีกาพิพากษาให้แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ จำนวน 13 คน ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัท ท่าอากาศยานไทย เป็นเงิน 522 ล้านบาท เฉลี่ยคนละประมาณ 40 ล้านบาท จากการชุมนุมปิดสนามบินเมื่อปี 2551

ในคดีดังกล่าวแกนนำกลุ่ม พันธมิตรฯ ทั้ง 13 คน พยายามสู้คดีในชั้นศาลว่าการชุมนุมไม่ได้เป็นต้นเหตุของการปิดสนามบิน โดยอ้างว่าแม้จะมีการชุมนุมขณะนั้นแต่ประชาชนก็สามารถใช้บริการได้ตามปกติ ตรงกันข้ามการปิดสนามบินเกิดขึ้นมาจากการตัดสินใจของผู้บริหารสนามบิน

อย่างไรก็ตาม ข้อต่อสู้ดังกล่าวของกลุ่มพันธมิตรฯ ฟังไม่ขึ้น ศาลฎีกาจึงพิพากษาให้กลุ่มพันธมิตรฯ ต้องชดใช้ค่าเสียหาย

ตามขั้นตอนจากนี้ไปจะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องที่จะต้องดำเนินการอายัดทรัพย์ของผู้ถูกกล่าวหาทุกคนเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งนับว่าอาจมีผลให้แกนนำบางคนต้องล้มละลายก็เป็นได้

ในทางการเมืองต้องยอมรับว่ากลุ่มพันธมิตรฯ รูดม่านปิดฉากไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพียงแต่บทอวสานของกลุ่มพันธมิตรฯ จะมีผลเป็น "โดมิโน" ที่ทำให้กลุ่มการเมืองนอกสภาไม่อาจกลับมาโลดแล่นตามท้องถนนได้อีกนาน

ก่อนหน้านี้ประเทศไทยไม่ได้มีกติกาในการควบคุมการชุมนุมที่ เข้มงวดเหมือนปัจจุบัน ตรงนี้อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่เอื้อให้ม็อบการเมืองหลายสีสามารถเคลื่อนไหวกดดันฝ่ายตรงข้ามได้อย่างต่อเนื่อง

แต่สำหรับกฎหมายปัจจุบันทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายระดับรอง กำลังมีผลให้การชุมนุมไม่คล่องตัวเหมือนในอดีต

โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นการให้อำนาจตำรวจสามารถควบคุมการชุมนุมได้อย่างมีความชอบธรรม

เหนืออื่นใดเงื่อนไขกฎหมายการชุมนุมสาธารณะคงไม่ใช่อุปสรรคสำคัญเท่ากับผลในบั้นปลายที่ต้องได้รับทั้งทางอาญาและทางแพ่ง

ตรงนี้เองจะทำให้ใครคิดจะระดมข้างถนนเพื่อชุมนุมทางการเมืองกดดันรัฐบาลต้องคิดมากขึ้น นำมาซึ่งสภาวะห่วงหน้าพะวงหลังมากขึ้น

ครั้นจะเดินหน้าก็ไม่ได้ เพราะกลัวติดคุกและกลัวเรื่องตัวเลขค่าเสียหาย หรือถ้าจะถอยหลังก็กลัวเสียมวลชน

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกลับกลุ่ม พันธมิตรฯ ในเวลานี้ จึงไม่ต่างอะไรกับบทเรียนเตือนใจให้กับกลุ่มการเมืองนอกสภากลุ่มอื่นๆ ขยับตัวได้ลำบาก ซึ่งอาจถึงขั้นการเมืองภาคประชาชนล่มสลายก็เป็นได้

หากโครงสร้างการเมืองภาคประชาชนตกอยู่ในสภาพไม่เข้มแข็ง แน่นอนว่าประโยชน์ย่อมตกอยู่กับรัฐบาลปัจจุบันและในอนาคตที่มาจากการเลือกตั้งที่จะปลอดยุงรำคาญไปอีกนานแสนนานกันเลยทีเดียว