posttoday

27 ก.ย. วันพิพากษาชี้ชะตา "ยิ่งลักษณ์"

25 กันยายน 2560

แล้วชะตากรรมและอนาคตของยิ่งลักษณ์ คงจะเห็นชัดเจนกันทั้งประเทศในวันที่ 27 ก.ย.

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ทุกวันนี้ยังคงเป็นปริศนากันอยู่กับคำถามที่ว่า “ยิ่งลักษณ์อยู่ที่ไหน” บ้างก็ว่าอยู่กัมพูชา บ้างก็ว่าอยู่แถวยุโรป แต่ถึงจะเป็นคำถามคาใจอยู่ ทว่าวิธีการที่อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทยหลบหนีนั้น กลับเริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนเป็นระยะ

ล่าสุด พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า มีตำรวจเป็นคนพายิ่งลักษณ์หลบหนี โดยเป็นตำรวจในสังกัดกองบังคับการตำรวจนครบาล 5 และกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม

ทั้งนี้ ตามรายงานการตรวจสอบเบื้องต้นของตำรวจพบว่า อดีตนายกรัฐมนตรีพร้อมคณะได้นั่งรถจากบ้านพักซอยโยธินพัฒนา 3 ไปเปลี่ยนรถที่ย่านมีนบุรี แล้วใช้เส้นทางถนนสุวินทวงศ์มุ่งหน้า จ.ฉะเชิงเทรา ก่อนออกนอกประเทศทางชายแดนภาคตะวันออก โดยเฉพาะมีการใช้รถยนต์นอกเหนือจากคันที่ยึดได้ 1 คัน ซึ่งมีรูปทรงและสีคล้ายคันที่ยึดได้ เพื่ออำพรางการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่

เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้เข้ามาตรวจสอบอย่างเข้มข้นแล้ว คงต้องรอดูว่าจากนี้ไปจะมีบทสรุปอย่างไรต่อไป

จากเส้นทางการติดตามตัวยิ่งลักษณ์ มาถึงในส่วนของคดีโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งในวันที่ 27 ก.ย. เป็นวันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะอ่านคำพิพากษาอย่างเป็นทางการ หลังจากต้องเลื่อนมาจากเมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา

ตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ไม่ว่าวันที่ 27 ก.ย. “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ จะเดินทางมายังศาลฎีกาฯ เพื่อรับฟังคำพิพากษาหรือไม่ องค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คน ก็จะอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยทันที

ณ วินาทีนี้ยังไม่มีใครทราบว่าผลของคำพิพากษาจะออกมาในรูปแบบเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ยิ่งลักษณ์ แต่แน่นอนว่าแนวทางของคำพิพากษาในวันที่ 27 ก.ย. จะหนีไม่พ้น 1 ใน 3 แนวทางดังต่อไปนี้

1.พิพากษายกฟ้องและยิ่งลักษณ์ไม่มีความผิด

เรียกได้ว่าเป็นคำพิพากษาที่ฝ่ายยิ่งลักษณ์ต้องการให้เกิดขึ้นมากที่สุด เพราะจะเป็นการพิสูจน์ว่าข้อกล่าวหาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ว่ายิ่งลักษณ์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยการไม่ระงับยับยั้งความเสียหายของโครงการรับจำนำข้าวนั้นฟังไม่ขึ้น

อีกทั้งเป็นการยืนยันให้เห็นว่าด้วยการดำเนินการของยิ่งลักษณ์ในช่วงที่เป็นรัฐบาลมีวัตถุประสงค์เพื่อระงับยับยั้งความเสียหาย โดยไม่ได้ละเลยหรือไม่ใส่ใจกับการแก้ไขปัญหาทุจริตแต่อย่างใด

ไม่เพียงเท่านี้ หากคำพิพากษาออกมาในรูปแบบนี้ จะช่วยให้ยิ่งลักษณ์สามารถเดินทางกลับมายังประเทศไทยได้อีกด้วย ไม่ต้องหลบหนีอยู่ในต่างประเทศแต่อย่างใด เพียงแต่เมื่อกลับเข้ามาแล้วอาจถูกดำเนินคดีจากกรณีขัดคำสั่งศาลที่มีโทษทางอาญา แต่มีโทษไม่มากเมื่อเทียบกับคดีจำนำข้าว

2.พิพากษาให้มีความผิดแต่รอลงอาญา

การพิพากษาให้โทษจำคุกรอการลงโทษเอาไว้ก่อน โดยหลักแล้วเป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจของศาลในการจะวินิจฉัยอย่างไร ซึ่งในอดีตศาลฎีกาฯ ก็เคยพิพากษาทั้งการให้ลงโทษจำคุกทันทีหรือให้รอลงอาญาไว้ก่อนมาแล้ว

ดังตัวอย่างในคดีของ “ทักษิณ ชินวัตร” จากกรณีการซื้อขายที่ดินบริเวณถนนรัชดาภิเษก โดยศาลฎีกาฯ พิพากษาให้จำคุก 2 ปีทันทีแบบไม่รอลงอาญา ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อดีตนายกฯ ทักษิณ ไม่สามารถกลับประเทศไทยได้จนถึงปัจจุบัน

เช่นเดียวกับกรณีของ “บุญทรง เตริยาภิรมย์” อดีต รมว.พาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการรับโทษจำคุกในคดีการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐเป็นเวลากว่า 40 ปี โดยศาลไม่ได้รอลงอาญา

ตรงกันข้ามกับคดีการออกสลากเลขท้าย 2 ตัว และ 3 ตัว (หวยบนดิน) ศาลฎีกาฯ พิพากษาให้ “วราเทพ รัตนากร” อดีต รมช.คลัง “สมใจนึก เองตระกูล” อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล และ “ชัยวัฒน์ พสกภักดี” อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ต้องโทษจำคุก 2 ปี แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี ทั้ง 3 ราย และไม่ได้ให้ชดใช้ค่าเสียหาย

ดังนั้น ในประเด็นของการรอลงอาญาคงต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงแต่ละกรณี โดยให้ศาลฎีกาฯ พิจารณาเอาเอง

ในสองกรณีนี้อัยการสูงสุดสามารถใช้ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ ได้ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษา

3.พิพากษาจำคุกทันทีไม่รอลงอาญา

เป็นแนวทางคำพิพากษาที่ยิ่งลักษณ์ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง เพราะหมายความว่าข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช.นั้นฟังขึ้น และจะมีผลให้ยิ่งลักษณ์เป็นอดีตนายกฯ คนที่สองในรอบทศวรรษที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกต่อจากอดีตนายกฯ รวมไปถึงยิ่งทำให้อดีตนายกฯ หันหัวเรือกลับมายังประเทศไทยได้ยากขึ้น

แต่ถึงกระนั้น ยิ่งลักษณ์ยังมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ ภายใน 30 วัน โดยไม่ต้องมีหลักฐาน

เห็นแบบนี้แล้วชะตากรรมและอนาคตของยิ่งลักษณ์ คงจะเห็นชัดเจนกันทั้งประเทศในวันที่ 27 ก.ย.