posttoday

‘ทักษิณ’ทวีตเดือด เดินหน้าสู้เต็มตัว

21 กันยายน 2560

เป็นเวลากว่า 16 ปีแล้วนับตั้งแต่ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2544 ที่ชื่อ "ทักษิณ ชินวัตร" ถูกจัดให้เป็นผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองอันดับหนึ่งของไทย

โดย..ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เป็นเวลากว่า 16 ปีแล้วนับตั้งแต่ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2544 ที่ชื่อ "ทักษิณ ชินวัตร" ถูกจัดให้เป็นผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองอันดับหนึ่งของประเทศไทย ไม่ว่าจะขยับตัวไปทางไหนก็ล้วนสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับสมรภูมิการเมืองไทย

ล่าสุด อดีตนายกฯ ทักษิณ ออกมาโพสต์ข้อความเป็นภาษาอังกฤษ ผ่านเว็บไซต์ทวิตเตอร์เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา จำนวน 2 ครั้ง

ครั้งที่ 1 "I hope the memory of what happened 11 years ago has not faded from the hearts of Thai people. (1)" แปลความได้ว่า "ผมหวังว่าความทรงจำที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 11 ปีก่อนจะไม่เลือนหายไปจากหัวใจคนไทย"

ครั้งที่ 2 "I am, and will always be, concerned about the liveli hood of my fellow Thai citizens. (2)" แปลเป็นไทยประมาณว่า "ผมมีความเป็นห่วงเสมอ ต่อความเป็นอยู่ของคนไทยที่สนับสนุนผม"

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการโพสต์ข้อความของทักษิณมีเหตุผลเดียว คือ ต้องการพาดพิงไปถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

หากดูความเคลื่อนไหวของทักษิณเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าทักษิณนับเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของกองทัพมาโดยตลอด แต่ถ้าย้อนกลับไปนานกว่านั้นหรือประมาณสองทศวรรษที่ผ่านมา จะพบว่าเส้นทางชีวิตของทักษิณมีความสัมพันธ์อันดีกับกองทัพเป็นพิเศษ

โดยเฉพาะเมื่อปี 2534 ภายหลังคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) รัฐประหารล้มรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ปรากฏว่าบริษัทธุรกิจของครอบครัวชินวัตรได้รับสัมปทานจากรัฐ จนนำมาสู่การสร้างอาณาจักรธุรกิจโทรคมนาคมในเวลาต่อมา

แต่เมื่อทักษิณเข้ามาเป็นรัฐบาล ในปี 2544 ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับกองทัพก็เริ่มสั่นคลอนอย่างเห็นได้ชัด

เวลานั้น พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรีคนปัจจุบัน ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. โดย พล.อ.สุรยุทธ์ ครองตำแหน่งผู้นำทหารบกมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ประกอบกับทั้ง "สุรยุทธ์-ทักษิณ" มีปัญหาในเรื่องความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศระหว่างไทยกับเมียนมาไม่ตรงกันอย่างรุนแรง

นานวันเข้าจึงนำมาสู่ข่าวลือที่ว่าอาจมีการเตรียมการรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณช่วงนั้น แต่ที่สุดแล้วก็ไม่มีอะไรกอไผ่ ก่อนที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จะถูกย้ายให้ไปดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดในเวลาต่อมา เพื่อเป็นหลักประกันระดับหนึ่งว่ารัฐบาลพรรคไทยรักไทยจะปลอดจากการรัฐประหาร

จากความระแวงในครั้งนั้น ทำให้รัฐบาลทักษิณพยายามจัดโครงสร้างของกองทัพใหม่ โดยพยายามดัน นายทหารในกลุ่มเตรียมทหารรุ่น 10 ร่วมรุ่นกับตัวเองเข้าไปนั่งในตำแหน่งสำคัญ เรียกได้ว่าไม่ต่างอะไรกับฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลต้องขาดสะบั้นลง

ประจวบเหมาะกับสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงปี 2549 เกิดเหตุการณ์ชุมนุมกดดันรัฐบาล ทำให้กองทัพในนามคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ตัดสินใจรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณในวันที่ 19 ก.ย. 2549

ชีวิตของทักษิณภายใต้การควบคุมอำนาจของ คมช.ต้องเผชิญกับการถูกตรวจสอบการทุจริตอย่างหนัก นำมา ซึ่งการทำคดีส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี ในคดีการซื้อขายที่ดินรัชดา และการพิพากษายึดทรัพย์จำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท จากการมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ด้วยผลของคดีดังกล่าวทำให้ไม่อาจอยู่ในประเทศไทยได้

ในมุมของทักษิณมองว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกกระทำโดยกองทัพมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากรัฐประหารล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่มาจากการ เลือกตั้ง ซึ่งสร้างแรงกดดันให้กับคนในครอบครัวชินวัตรกว่าในอดีต ส่งผลให้ทักษิณไม่อาจอยู่เฉยได้อีกต่อไป

ทั้งนี้ การปล่อยหมัดของทักษิณที่เกิดขึ้นล่าสุด นับว่ายิงไปที่กล่องดวงใจ คสช.เข้าเต็มๆ เพราะเป็นจังหวะที่ คสช.กำลังถูกตั้งคำถามอย่างหนักถึงความเป็นรูปธรรมในการทำงานที่ผ่านมา ภายใต้วาทกรรม "การรัฐประหารเสียของ"

ตลอด 3 ปีมานี้ การปฏิรูปประเทศที่ คสช.ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติได้มีการดำเนินการมาแล้ว 3 ครั้ง

สองครั้งแรกสะท้อนออกมาผ่านการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ส่วนครั้งที่สามเพิ่งเกิดขึ้นได้ ไม่นานคือ การตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 คณะ ซึ่งสภาพการณ์ในปัจจุบันที่แต่ละคนประสบอยู่คงเป็น คำตอบในตัวอยู่แล้วว่าประสิทธิผลของการปฏิรูปประเทศมีหน้าตาเป็นอย่างไร

ยิ่งไปกว่านั้นต้องไม่ลืมว่าในสัปดาห์หน้าในวันที่ 27 ก.ย. ศาลฎีกา มีนัดอ่านคำพิพากษา "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อดีตนายกฯ ในกรณีละเลย ไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งไม่ว่ายิ่งลักษณ์จะเดินทางกลับประเทศไทยในวันดังกล่าวหรือไม่ ศาลฎีกาก็จะเดินหน้าอ่านคำพิพากษาตามขั้นตอนทางกฎหมาย

ผลของคำพิพากษาในวันนั้นจะมีบทสรุปอย่างไร ย่อมเชื่อมโยงถึงการเมืองไทยในระยะยาวอย่างแน่นอน

ดังนั้น หากจะบอกว่าความเคลื่อนไหวของทักษิณผ่านทวิตเตอร์ในช่วงนี้เหมือนกับการส่งสารไปยังพรรคเพื่อไทยและกลุ่มผู้สนับสนุนว่าจะเดินหน้าแตกหักกับกองทัพ ก็คงจะมองได้อย่างนั้นเช่นกัน

เพียงแต่การเอาชนะ คสช.นั้น ไม่ได้ทำด้วยการใช้กำลัง แต่จะใช้การเลือกตั้งเป็นบันไดสู่ดวงดาวของพรรคเพื่อไทย n