posttoday

ชทพ.ตัวละครใหม่ ดันบิ๊กตู่นั่งนายกฯ

20 กันยายน 2560

กลายเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญไปแล้วสำหรับการประชุม ครม.สัญจร ที่ไปสุพรรณบุรี แล้วมีนักการเมืองจากพรรคชาติไทยพัฒนาไปต้อนรับขับสู้

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

กลายเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญไปแล้วสำหรับการประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ครั้งล่าสุดที่ จ.พระนครศรีอยุธยา

ตามโปรแกรมของ ครม.สัญจรที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปนั้น แม้จะมีปลายทางที่พระนครศรีอยุธยา แต่ก่อนหน้านั้นมีกำหนดการไปลงพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งปรากฏว่ามีนักการเมืองจากพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเจ้าของพื้นที่มาให้การต้อนรับดัวยตัวเอง ต่างจากการไป ครม.สัญจรจังหวัดอื่นที่ไร้เงานักการเมืองมาให้การต้อนรับขับสู้

พลิกดูรายชื่อคนของพรรคชาติไทยพัฒนาที่ลงพื้นที่ ปรากฏว่าล้วนเป็นบิ๊กเนมรุ่นเก๋าและเลือดใหม่ของพรรคแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น วราวุธ ศิลปอาชา ประภัตร โพธสุธน กรวีร์ ปริศนานันทกุล ลูกชาย สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล และ เสมอกัน เที่ยงธรรม ลูกชายของจองชัย เที่ยงธรรม

แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ การแสดงอาการถ้อยทีถ้อยอาศัย ระหว่างบิ๊กตู่กับกรรมการบริหารพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งต่างจากพรรคการเมืองอื่นๆ ที่นายกฯ ไม่ค่อยจะแสดงไมตรีจิตเท่าไรนัก

พล.อ.ประยุทธ์ แสดงความอารีผ่านเป็นคำพูดว่า "รัฐบาลยืนยันว่าไม่ได้เลือกข้าง โดยทุกคนต้องมาช่วยกันทำให้ประเทศเข้มแข็งและยั่งยืน ดีใจที่พบนักการเมืองด้วย เพราะท่านทำมาเยอะ นักการเมืองก็ต้องสัญญาว่าจะทำให้ประเทศดีขึ้น และนักการเมืองต้องไม่ผิดสัญญา

ผมฝากกับพี่ประภัตร ฝากกับท็อป ฝากกับปริศนานันทกุล ผมขอฝากความหวังไว้กับทุกท่าน เราจะต้องไม่ขัดแย้งกันอีก เราต้องเดินหน้าให้ได้ ส่วนคดีใครถูกผิด ถูกตัดสิน ก็ว่ากันไปตามกระบวนการ และผมไม่ใช้มาตรา 44 ไปตัดสินใคร อยากให้พี่ประภัตรนึกถึงคนจังหวัดอื่นด้วยเป็นรัฐบาลคราวหน้าก็นึกถึงคนจังหวัดอื่นด้วย"

ขณะที่ ประภัตร ระบุแบบส่งนัยทางการเมืองว่า "ขอบคุณที่นายกฯ เปิดใจรับการเมือง เพราะนักการเมืองไม่ได้เลวทุกคน นักการเมืองดีก็มี การเลือกตั้งเร็วไม่ได้ประโยชน์ เพราะวันนี้ทะเลาะกัน ถ้าเลือกตั้งก็ต้องด่ากัน วันนี้ขอเพียงรัฐบาลแบ่งงบประมาณจากโครงการรถไฟความเร็วสูงมาช่วยชาวนา เพราะเมื่อปากท้องของประชาชนอยู่ได้ นายกฯ จะอยู่อีก 8 ปี 10 ปีก็ไม่ว่า"

จากคำพูดของ "ประยุทธ์-ประภัตร" เรียกได้ว่า เสียงดังชัดเจน ทำให้น่า สนใจว่าทั้งสองฝ่ายกำลังเล่นอะไรเกมอะไรกันอยู่

แม้ว่า สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา จะออกมาดักคอว่าการแสดงความคิดเห็นของประภัตรเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่มาถึงจุดนี้แล้วปฏิเสธไม่ได้ว่าเริ่มการจินตนาการไปไกลว่าอาจได้เห็น พล.อ.ประยุทธ์ ร่วมงานกับพรรคชาติไทยพัฒนาในอนาคต

ทฤษฎีที่ว่านี้จะมีความเป็นไปได้หรือไม่นั้น ต้องย้อนกลับไปดูท่าทีของพรรคนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร

เมื่อครั้ง "บรรหาร ศิลปอาชา" อดีตหัวหน้าพรรคยังมีชีวิตอยู่มักจะ ให้สัมภาษณ์ในเชิงกลางๆ ค่อนไป ทางสนับสนุนและให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่หลายครั้ง ประกอบกับเลี่ยงที่จะแสดงความคิดเห็นตำหนิรัฐบาลแบบตรงๆ

เช่นเดียวกับการส่งตัวแทนของพรรคเข้าไปทำหน้าที่ในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แบบเต็มใจอันเป็นการแสดงออกถึงท่าทีของพรรคในการให้ความร่วมมือรัฐบาลเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ รวมทั้งการส่งตัวแทนของพรรคในระดับที่สามารถตัดสินใจแทนพรรคได้ในระดับหนึ่งเข้าไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคณะทำงานเสริมสร้างความปรองดองของรัฐบาล

ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกหากจะบอกว่า พรรคชาติไทยพัฒนาอาจจะเข้ามาเป็นตัวละครใหม่ในการเป็นตัวแปรเพื่อจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติหลังจากการเลือกตั้ง

แรงสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาทำหน้าที่นายกฯ อีกครั้ง นับวันยิ่งมีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะการอยากให้มีการตั้งรัฐบาลแห่งชาติที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ

พรรคการเมืองเองต่างทราบดีว่าในสถานการณ์ที่ความขัดแย้งยังเป็นอยู่เช่นนี้ ไม่ว่าผู้นำของพรรคการเมืองใดมาเป็นนายกฯ ย่อมไม่สามารถทำงานได้อย่างสงบแน่นอน เพราะจะถูกเงื่อนไขทางรัฐธรรมนูญที่เพิ่มอำนาจให้องค์กรอิสระรัดแน่น จนทำให้ขยับตัวได้ลำบาก

แต่หากนายกฯ คนต่อไปชื่อ "บิ๊กตู่" โอกาสที่รัฐบาลจะขับเคลื่อนเดินหน้าไปก็มีความเป็นไปได้พอสมควร

ทั้งนี้ หากเห็นตรงกันว่ารัฐบาลแห่งชาติและการให้นายกฯ คนใหม่ชื่อประยุทธ์เป็นเรื่องจำเป็น ก็ควรต้องมีพรรคการเมืองที่เป็นที่ลงให้กับพล.อ.ประยุทธ์ ได้อย่างสวยงาม ซึ่งพรรคชาติไทยพัฒนาอาจตอบโจทย์ตรงนี้

ก่อนหน้านี้มีการคาดหมายจากผู้สันทัดกรณีจำนวนหนึ่งว่า หากทหารจะหาที่ลงจริงๆ ก็น่าจะเบนเข็มไปที่ "พรรคภูมิใจไทย" เนื่องจากต่างทราบกันดีกว่าบิ๊กเนมของพรรคภูมิใจไทยและ คสช.ต่างมีความสัมพันธ์อันดีกันอยู่ แต่อาจต้องแลกกับการถูกมองว่าเป็นพรรคการเมืองของกลุ่มนายทุน

ผิดกับภาพลักษณ์ของพรรคชาติไทยพัฒนาที่ไม่ได้ผูกติดกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่มากนัก จะมีเพียงแต่ก็กลุ่มทุนท้องถิ่นเท่านั้น ไม่ใช่ระดับประเทศแต่อย่างใด อีกทั้งเป็นพรรคที่มีฐานกับกลุ่มเกษตรกรพอสมควร เท่ากับว่า ถ้าทหารจะอาศัยพรรคการเมืองใดให้ ตัวเองดูมีความชอบธรรม พรรคชาติไทยพัฒนาก็น่าจะเป็นที่พักพิงได้อย่างดี

ที่สุดแล้วการเมืองชั่วโมงนี้พรรคการเมืองขนาดกลางอย่างพรรคชาติไทยพัฒนา จึงเป็นตัวละครลับที่น่าสนใจ และไม่อาจมองข้ามได้อีกต่อไป