posttoday

2561 เดินหน้าเลือกตั้ง ถ้าเก้าอี้นายกฯ ลงตัว

19 กันยายน 2560

กระแสกดดันให้แม่น้ำ 5 สายกำหนดวันเลือกตั้งให้ชัดเจนเริ่มกลับมาเป็นแรงเสียดทานทางการเมืองที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องกลับมาเผชิญอีกครั้ง หลังจากเงียบหายไปอยู่พักใหญ่

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

กระแสกดดันให้แม่น้ำ 5 สายกำหนดวันเลือกตั้งให้ชัดเจนเริ่มกลับมาเป็นแรงเสียดทานทางการเมืองที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ต้องกลับมาเผชิญอีกครั้ง หลังจากเงียบหายไปอยู่พักใหญ่

เหตุผลหลักที่ทำให้กระแสดังกล่าวถูกจุดมาเป็นประเด็นอีกครั้งมีด้วยกัน 2 ประการ

1.การประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏว่ามีการกำหนดกรอบเวลาเกี่ยวกับการเลือกตั้งเบื้องต้นว่า วันหย่อนบัตรคะแนนเลือกตั้ง สส.น่าจะเป็นวันที่ 19 ส.ค.

การประกาศวันเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการดังกล่าว มาประจวบเหมาะกับจังหวะที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำลังทยอยพิจารณาให้ความเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการกำหนดวันเลือกตั้งพอดี จึงเป็นเหตุสำคัญที่กระแสกดดันให้มีการคืนอำนาจกลับมาอีกครั้ง

2.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ โดยกฎหมายดังกล่าวเป็นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งฉบับแรกที่ได้รับการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

ผลของกฎหมาย กกต.ฉบับใหม่ได้ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายประการ เช่น การเริ่มนับหนึ่งในกระบวนการสรรหา กกต.ชุดใหม่ หลังจาก กกต.ชุดปัจจุบันต้องถูกเซตซีโร่ เพื่อเข้ามาทำหน้าที่ควบคุมการเลือกตั้งภายใต้อำนาจที่เพิ่มขึ้นตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ได้มอบไว้ให้ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่เพิ่งผ่าน สนช.จะเป็นกฎหมายเลือกตั้งอีกฉบับที่น่าจะประกาศใช้เร็วๆ นี้ ยิ่งทำให้กระแสกดดันให้กำหนดวันเลือกตั้งทวีความเข้มข้นมากขึ้น

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคนที่ ต้องรับหน้าเสื่อไปเต็มๆ มีอย่างน้อย 3 คน คือ "พล.อ.ประยุทธ์" "มีชัย ฤชุพันธุ์" ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ "พรเพชร วิชิตชลชัย" ประธาน สนช. ในฐานะ ผู้คุมเงื่อนไขเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

อย่างในกรณีของพรเพชร ปรากฏว่าทันทีที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.ประกาศใช้ ต้องรีบมาแถลงข่าวเกี่ยวกับกระบวนการสรรหา กกต.ชุดใหม่ เพื่อเป็นการแสดงนัยว่า สนช.ต้องการให้เกิดการเลือกตั้ง มิเช่นนั้นคงไม่ประกาศว่ารายชื่อว่าที่ กกต. 7 คน จะส่งมาถึง สนช.ไม่เกินวันที่ 12 ธ.ค.

ส่วนประธาน กรธ.ต้องออกมายืนยันเช่นกันว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งอีกสองฉบับ ทั้งการเลือกตั้ง สส. และการได้มาซึ่ง สว. จะทยอยส่งถึงมือ สนช.ภายใน 2 เดือนนี้อย่างแน่นอน และเมื่อกฎหมายถึงมือ สนช.แล้วจะมีเวลา 60 วัน เพื่อพิจารณาให้เสร็จ

แต่สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ แล้ว ต้องกลายเป็นคนที่ต้องรับศึกหนักมากที่สุดไปโดยสภาพ เพราะต้องเจอกับคำถามถึงความชัดเจนเรื่องวันเลือกตั้งไม่เว้นแม้แต่ละวัน จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องใช้เวลาของรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" เมื่อวันที่ 15 ก.ย.ยืนยันถึงการเลือกตั้ง

"เมื่อทุกอย่างลงตัว กระบวนการด้านกฎหมายมีความพร้อม ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ มีความปรองดอง เราก็จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้า

นอกจากนี้ การมียุทธศาสตร์ชาติระยะยาว 20 ปี ก็จะเป็นส่วนสำคัญที่สะท้อนว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของไทย จะมีความต่อเนื่องและมั่นคง มีการปฏิรูปประเทศในทุกๆ ด้าน ย่อมแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่สิ่งที่ดีกว่าในอนาคต" คำพูดของนายกฯ ในรายการ

เห็นอย่างนี้แล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าอนาคตของการเลือกตั้งคงต้องไปผูกกับการทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่เหลืออยู่อีก 2 ฉบับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ที่น่าสนใจนับจากนี้ไปคงหนีไม่พ้นท่าทีของ สนช. เพราะจะเป็นผู้ทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบกับร่างกฎหมายทั้งหมด

หาก สนช.ให้ความเห็นชอบทั้งในวาระปกติและในวาระที่ต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร จากนั้นการเลือกตั้งจะกำหนดได้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซึ่งน่าจะอยู่ในช่วงกลางหรือปลายปี 2561

แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น เช่น การลงมติคว่ำร่างกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งในช่วงปลายปีนี้ จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาว่าใครจะเข้ามาทำหน้าที่เขียนร่างกฎหมายฉบับใหม่

แม้ กรธ.จะยืนยันว่าหากเกิดเหตุการณ์ที่ว่านั้นจริงและพ้นกำหนดระยะเวลา 240 วัน ที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจ กรธ.ไว้แล้ว กรธ.ก็ยังมีอำนาจทำกฎหมายได้ตามเดิมโดยไม่มีกำหนดเวลาก็ตาม แต่การตีความเช่นนั้นก็ยังสุ่มเสี่ยงต่อการขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญพอสมควร เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ชัดเจนอย่างที่ กรธ.ออกมาแสดงท่าที

ตรงนี้เองจึงเริ่มมีการสงสัยว่าการเลือกตั้งที่เคยคิดว่าจะมีขึ้นอย่างแน่นอนนั้นเริ่มไม่มีความแน่นอนเสียแล้ว เท่ากับว่าการเลือกตั้งในปี 2561 อาจจะมีความเป็นไปได้ยากอยู่พอสมควร

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขเหล่านี้จะไม่เป็นปัญหาเลย ถ้าเงื่อนไขการเมืองลงตัวจากทุกฝ่าย

เงื่อนไขที่ว่านั้น คือ ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง

ถ้านายกฯ คนที่ 30 เป็นชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ทุกอย่างน่าจะราบรื่น การเลือกตั้งจะเป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ แต่หากไม่ใช่ชื่อนี้ การเลือกตั้งก็อาจเป็นสิ่งที่ต้องรอคอยกันต่อไป