posttoday

"บิ๊กตู่" สัญจร ดึงกระแสชิงพื้นที่

18 กันยายน 2560

อาจกล่าวได้ว่าบรรยากาศ ครม.สัญจรของ “บิ๊กตู่” ก็ไม่ต่าง ครม.สัญจร ของรัฐบาลนักการเมืองสักเท่าไรนัก

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

รัฐบาล “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.) ออกอาการอยู่ไม่เป็นสุข เร่งเปิดเกมรุกทางการเมืองเพราะเรตติ้ง “บิ๊กตู่” และรัฐบาลกำลังลงฮวบ

เกือบ 3 ปีของการปฏิวัติรัฐประหาร พอพิสูจน์ฝีไม้ลายมือการบริหารประเทศ คสช.สามารถเอาอยู่ในด้านความสงบเรียบร้อย แม้ผลสำรวจล่าสุดออกมาระบุว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังเทคะแนนนิยมให้รัฐบาล โดยเฉพาะผลงานเรื่องการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น คือสิ่งที่ทำให้ประชาชนนิยมชมชอบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มากที่สุด

ทว่า คะแนนนิยมการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจกลับย่ำแย่ เพราะปัญหาดังกล่าวกระทบต่อปากท้องพี่น้องประชาชนโดยตรง นับเป็นปัญหาหนักอกที่สุดของรัฐบาล ส่งผลให้ฉุดคะแนนความนิยมในตัว “บิ๊กตู่” ลดน้อยลงไปด้วย

ยิ่งสถาบันพระปกเกล้า เปิดผลสำรวจเชิงเปรียบเทียบระหว่าง 2 ผู้นำประเทศ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี กับ “พล.อ.ประยุทธ์” ยิ่งไปกันใหญ่  จากผลสำรวจชี้ว่าความเชื่อมั่นอดีตนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ” คะแนนนำ พล.อ.ประยุทธ์  นับว่ามีนัยสำคัญทางการเมืองว่าสิ่งที่รัฐบาล คสช.ทำไปเสียของหรือไม่เข้าตาประชาชน

สถานการณ์เช่นนี้ไม่สู้ดีนักหากปล่อยให้คะแนนนิยมในตัว “พล.อ.ประยุทธ์” ลดลงไปเรื่อยๆ ก็อย่าได้แปลกใจ เมื่อผลสำรวจออกมาแบบนี้ ไม่มีคำอธิบายอะไรมากจากผู้ที่คะแนนนิยมลดลง

นอกจากคำว่า “ส่วนตัวได้ก้าวพ้นไปนานแล้ว แต่มีหลายคนยังก้าวไม่พ้น รวมถึงสื่อที่นำเสนอข่าวทุกวัน เพราะทุกอย่างเป็นเรื่องของกฎหมายที่ต้องดำเนินการ และเคยปล่อยปละละเลย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเมื่อวันที่ 6 ก.ย. ภายหลังสถาบันพระปกเกล้าเปิดผลสำรวจทักษิณนำประยุทธ์

ความพยายามจัดประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร จึงเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่รัฐบาลงัดออกมาหวังทวงเรตติ้งคืนจาก “ทักษิณ” และเรียกคืนความเชื่อถือศรัทธาจากพี่น้องประชาชน เพราะการลงพื้นที่พบปะชาวบ้านเห็นผลเร็วที่สุด

กล่าวคือ คล้ายๆ กับสิ่งที่พรรคการเมือง หรือ สส.ทำ คือลงไปอัดฉีดนโยบายและงบประมาณให้กับประชาชนในท้องถิ่นให้นิยมในตัวรัฐบาล แต่ต่างกันตรงที่รัฐบาล “บิ๊กตู่” ไม่ใช่นักการเมือง จึงไม่มี สส.ในสังกัดที่จะไปหาเสียงให้ แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีกลไกภาครัฐที่จะลงไปเป็นตัวแทน หรือหัวคะแนนให้ 

ว่าไปแล้ว ครม.สัญจร ของพรรคการเมือง กับ ครม.สัญจรของรัฐบาลทหาร ไม่ต่างกันนักแต่ ครม.สัญจรคราวนี้ของ “บิ๊กตู่” จึงเน้นเดินสายออกเป็น 6 ภูมิภาค คือ เหนือ กลาง อีสาน ใต้ เขตเศรษฐกิจพิเศษด้านระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก และพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกได้ว่าการประชุมแต่ละครั้งก่อนวันประชุมจริง นายกรัฐมนตรี นัดประชุมขันนอตผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้นำบริหารองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในระดับภูมิภาคทั้งหมด รวมถึงคณะกรรมการร่วมภาครัฐ และเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) หัวหอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ เพื่อมอบนโยบายและกำชับแนวทางการทำงานโดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องการให้เร่งปั๊มผลงานออกมาเอาใจประชาชน

อย่างที่จัด ครม.สัญจร ครั้งแรกที่ จ.นครราชสีมา เมื่อเดือนก่อน “บิ๊กตู่” จัดหนักเอาใจ “คนอีสาน” มอบของขวัญเป็นเทงบประมาณ 2,600 ล้านบาท สร้างทางรถไฟลอยฟ้าเพื่อแก้ปัญหารถติดในโคราช เมืองแห่งประตูสู่ภาคอีสาน พร้อมกับสนับสนุนยุทธศาสตร์อีสานเน้นการบริหารจัดการน้ำ แก้ปัญหาความยากจน สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากเน้นให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ที่สำคัญอัดงบพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเทงบประมาณแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งกว่า 8,000 ล้านบาท รวมถึงสนับสนุนงบประมาณด้านเกษตรอินทรีย์ให้อีก 1,300 ล้านบาท เบ็ดเสร็จเกือบหมื่นล้านบาท

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกนักหากมีบางฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่าเกมออนทัวร์ทั่วไทยของ “บิ๊กตู่”  เพื่อหาเสียงหวังวางฐานอำนาจเพื่อลากยาวอยู่ต่อหลังมีการเลือกตั้ง ตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ นั้นเป็นเกมต่อท่ออำนาจระยะยาวคงไม่ผิดนัก แต่นั้นคงไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับ  คสช.เพราะทุกอย่างเตรียมการไว้ตามรัฐธรรมนูญไว้หมดแล้ว

แต่ปัญหาเฉพาะหน้าที่เป็นศึกใหญ่ ที่รัฐบาลเผชิญอยู่ และสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์  อาจต้องซวนเซได้นั้น คือความนิยมที่กำลังถดถอย แพ้ “ทักษิณ” ซึ่งเป็นคู่แข่งและคู่ขัดแย้งทางการเมือง  คสช. เพราะทั้ง “ทักษิณ” และ คสช. ต้องการปูทางเพื่อให้ได้เสียงสนับสนุนช่วงเลือกตั้งเพื่อให้กลับมาเป็นรัฐบาลต่อในอนาคตเหมือนกัน

ดังนั้น การประชุม ครม.สัญจร ที่เหลือจากนี้ 5 นัดข้างหน้า “บิ๊กตู่” เตรียมทุ่มงบประมาณและโครงการต่างๆ  เพื่อโกยคะแนนนิยมกลับคืนมา อย่างการประชุม ครม.สัญจรใน จ.พระนครศรีอยุธยา ระหว่างวันที่ 18-19 ก.ย.นี้ แน่นอนรัฐบาลเตรียมจัดเต็มด้วยการหนุนแผนการดำเนินการตามยุทธศาสตร์และทิศทางการพัฒนาภาคกลาง เน้นการบริหารจัดการน้ำ เพราะพื้นที่ภาคกลางส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรปลูกข้าว งานนี้ต้องอัดงบประมาณเอาใจประชาชนคร่าวๆ ไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท

อาจกล่าวได้ว่าบรรยากาศ ครม.สัญจรของ “บิ๊กตู่” ก็ไม่ต่าง ครม.สัญจร ของรัฐบาลนักการเมืองสักเท่าไรนัก เพราะในเวลาที่ลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชน ต่างพยายามใช้กลเม็ดเด็ดพรายเพื่อที่จะกวาดคะแนนเสียง หรือ คะแนนนิยมจากประชาชนด้วยกันทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับว่าประชาชนจะมองอย่างไรกับสิ่งที่รัฐบาลเอาไปประเคนให้ทั้งงบประมาณ หรือโครงการต่างๆ

แต่ทั้งหมดทั้งมวลจะไปวัดกันในวันเลือกตั้ง ใครจะเข้าวิน