posttoday

พังง่าย แพงเกิน เขี้ยวเล็บกองทัพ 4.0

15 กันยายน 2560

อวสานแบบไม่เคยได้ชมสำหรับ "เรือเหาะตรวจการ" รุ่น Aeros 40D S/N 21 หรือ สกาย ดรากอน (SKY DRAGON)

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

อวสานแบบไม่เคยได้ชมสำหรับ "เรือเหาะตรวจการ" รุ่น Aeros 40D S/N 21 หรือ สกาย ดรากอน (SKY DRAGON) จากบริษัท เอเรีย อินเตอร์เนชั่นแนล คูเปอเรชัน (Arial International Cooperation) ผลิตโดยบริษัท เวิลด์วาย แอร์โรว์ คอร์ป (Worldwide Aeros Corp) สหรัฐอเมริกา

โดยที่ทางกองทัพบกไทยได้จัดหามาเมื่อ 8 ปีก่อน เพื่อใช้สำรวจพื้นที่บริเวณสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนในการรักษาความสงบเรียบร้อย แต่ก็เกิดปัญหาทางเทคนิคจนไม่สามารถใช้งานเรือเหาะให้ปฏิบัติภารกิจสมกับศักยภาพอันควรจะเป็น

หากเท้าความย้อนกลับไปถึงที่มาของเรือเหาะลำดังกล่าว ที่ถูกจัดซื้อในสมัย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เมื่อปี 2552 ด้วยงบประมาณจำนวน 350 ล้านบาท แยกเป็นราคาตัวเรือเหาะ 260 ล้านบาท และอุปกรณ์ตรวจการ เช่น กล้อง สนนราคา 70 ล้านบาท

กอปรกับกองทัพประกาศถึงขีดความสามารถทางการบินได้สูงสุดถึง 3,000 เมตร แต่เมื่อเอาเข้าจริงทำได้เพียง 1,000 เมตร จนต้องออกโรงอธิบายเหตุผลเนื่องจากติดอุปกรณ์เข้าไปทำให้มีระยะการบินได้เพียงเท่านั้น และยังพบปัญหาตามมาอีกมากมาย อาทิ ผ้าใบตัวเรือเหาะรั่ว รวมถึงการเติมก๊าซฮีเลียมที่มีราคาแพง

แม้กระทั่งการนำเรือเหาะมาประจำการในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีฝนตกชุก ทำให้การบินของเรือเหาะทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ขณะที่กองทัพได้ทดสอบครั้งใหญ่เพื่อสยบข่าวเสียทั้งมวล สุดท้ายก็ไม่สามารถใช้งานได้จริง ก่อนเรื่องนี้เงียบหายไปในกลีบเมฆจนถึงวันปลดประจำการ ก็ไม่เคยปรากฏข่าวเรือเหาะบนท้องฟ้าตามคำร่ำลือของกองทัพอีกเลย

ถัดมาเป็นอีกหนึ่งมหากาพย์การจัดซื้อจัดจ้าง "เครื่องตรวจจับสะสารระยะไกล" (Remote substance detector) หรือ GT200 ซึ่งเข้ามาประจำการในหลายหน่วยงานของกองทัพไทย จนมีการสั่งยกเลิกใช้ภายหลังตรวจสอบพบว่าไร้ประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ดี สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยได้สรุปผลการตรวจสอบจัดซื้อจัดจ้างเครื่องมือดังกล่าว พบหน่วยงานแรกที่หาเข้ามา คือ กองทัพอากาศ เมื่อปี 2548 เรื่อยมากระทั่งปี 2553 พบว่ามี 15 หน่วยงานของรัฐ จัดซื้อไว้ในครอบครองรวม 1,398 เครื่อง มูลค่าทั้งสิ้น 1,134 ล้านบาท

แต่กลายเป็นประเด็นเมื่อเกิดเหตุความรุนแรง 2 ครั้ง ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงมีการเรียกร้องให้ตรวจสอบเครื่องมือดังกล่าว สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และมีบทสรุปว่าไม่ต่างจากเป็นการเดาสุ่ม

สำทับด้วย พล.อ.อนุพงษ์ ซึ่งดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.ขณะนั้น ที่ออกมายอมรับว่า จีที 200 ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เครื่องนี้ถูกปลดประจำการจากกองทัพ พร้อมหันมาใช้เครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์และสุนัขดมทหาร ก่อนเป็นการปิดฉากไม้ล้างป่าช้า

ยังไม่เพียงเท่านั้นหากย้อนกลับไปอีกเมื่อปี 2550 กองทัพบกไทยได้มีการจัดซื้อรถหุ้มเกราะล้อยาง จากยูเครน จำนวน 233 คัน กำหนดส่งล็อตแรก จำนวน 96 คัน ประกอบด้วย BTR-3E1 64 คัน รถเกราะบังคับการ-อำนวยการ BTR-3K 4 คัน รถพยาบาล BTR-3S 3 คัน BTR-3M1 ติดเครื่องยิงระเบิด 88 มม. 9 คัน BTR-3M2 ติดเครื่องยิงระเบิด 120 มม. 4 คัน BTR-3RK ติดจรวดนำวิถีต่อสู้รถถัง 6 คัน และรถเกราะกู้และซ่อมแซม BTR-3BR อีก 6 คัน

ทว่าได้รับจริงเพียงไม่กี่คันและมีเหตุให้ต้องเลื่อนกำหนดส่งออกไป เพราะประเทศไทยต้องการเปลี่ยนเครื่องยนต์และระบบเกียร์สำหรับรถจำนวนหนึ่ง ก่อนทุกอย่างจะเงียบสงบ เนื่องจากประเทศไทยเกิดปัญหาภายใน ทำให้กองทัพหันหน้าไปซื้อรถยานเกราะล้อยาง 8x8 แบบ ZBL-09 (Snow Leopard) หรือ VN-1 จาก NORICO จากประเทศจีน จำนวน 34 คัน พร้อมกระสุน 12,506 นัด เข้าประจำการในหน่วยทหารม้า

เรื่องท้ายสุดและเป็นที่จับตาอย่างมาก เพราะคือความหวังของกองทัพเรือไทยในการประกาศแสนยานุภาพเพื่อปกป้องน่านน้ำไทยให้รอดพ้นจากการคุกคามของอริราชศัตรู หากกล้ำกรายเข้าหวังรุกราน ก่อนคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2560

มีมติให้ความเห็นชอบโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำหยวนคลาส S26 T จากประเทศจีน จำนวน 1 ลำ วงเงิน 1.35 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ ผูกพันงบประมาณของกองทัพเรือ 7 ปี ตามแผนยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศของกองทัพเรือ

อย่างไรก็ตาม หลากเรื่องราวที่ปรากฏถึงความผิดพลาด ทำให้ประชาชนคนไทยในฐานะผู้เสียภาษีต่างไม่นิ่งนอนใจ เพราะทุกบาทที่เสียไปเพื่อใช้พัฒนาประเทศ ไม่อยากให้สูญเปล่า ดังนั้นหากเกิดซ้ำรอยแบบเดิมๆ อีก กองทัพอาจจำเป็นต้องปฏิรูปเป็นการด่วนด้วยเช่นกัน