posttoday

เซตซีโร่กกต. ก้าวแรกสู่เลือกตั้ง

15 กันยายน 2560

ในที่สุดการเลือกตั้งเริ่มมีความชัดเจนในทางกฎหมายขึ้นมาหนึ่งระดับ หลัง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งพ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้

ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ในที่สุดการเลือกตั้งเริ่มมีความชัดเจนในทางกฎหมายขึ้นมาหนึ่งระดับ ภายหลัง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา

กฎหมาย กกต.เป็นหนึ่งในสี่ของกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง การเลือกตั้ง สส. และการได้มาซึ่ง สว. โดยหากร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อไหร่ก็เข้าสู่การกำหนดวันเลือกตั้งที่ต้องมีขึ้นภายใน 150 วันต่อไป

ปัจจุบันความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญอีก 3 ฉบับมีความน่าสนใจดังนี้

ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจาก สนช.ลงมติให้ความเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการร่วมกัน 3 ฝ่าย (คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ กกต.) ได้แก้ไข

ส่วนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. อยู่ในระหว่างการจัดทำของ กรธ. ซึ่ง กรธ.วางกรอบเวลาจะทยอยส่งให้ สนช.พิจารณาได้ภายในเดือน ธ.ค.นี้ อันเป็นเวลาสิ้นสุดการทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่มีเวลา 240 วัน นับตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม แม้การประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. จะยังไม่มีผลที่นำไปสู่การกำหนดวันเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนด แต่ต้องถือว่ามีผลต่อความเคลื่อนไหวทางการเมืองนับจากนี้ไปพอสมควร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสรรหา กกต.ชุดใหม่จำนวน 7 คน

อย่างที่ทราบกันดีว่า กกต.ชุดปัจจุบันที่มี "ศุภชัย สมเจริญ" เป็นประธานนั้นต้องพ้นจากตำแหน่งทันที หรือเซตซีโร่ เพียงแต่กฎหมายกำหนดให้ กกต.อยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมี กกต.ชุดใหม่ ทำให้ต้องมีการสรรหา กกต.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่

"ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งและกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ แต่ให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าประธานกรรมการการเลือกตั้งและกรรมการการเลือกตั้งที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่" บทบัญญัติมาตรา 70 ที่มีผลให้ กกต.ชุดปัจจุบันต้องพ้นจากตำแหน่ง

ทั้งนี้ กกต.ชุดใหม่จะมาจากการสรรหา 2 ทาง ได้แก่ 1.จากคณะกรรมการการสรรหาที่มีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน จำนวน 5 คน และจากการเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวน 2 คน ซึ่งในเรื่องนี้ "พรเพชร วิชิตชลชัย" ประธาน สนช.ออกมาแถลงถึงความชัดเจนไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยกำหนดจะต้องส่งชื่อว่าที่ กกต.ทั้ง 7 คน มาให้ สนช.ภายในวันที่ 12 ธ.ค. เพื่อลงมติให้ความเห็นชอบ

ความสำคัญของ กกต.ชุดใหม่อยู่ที่การเป็น กกต.ที่เกิดขึ้นในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่างจาก กกต.ชุดนี้ที่มาจากวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ก่อนการรัฐประหารในปี 2557 อีกทั้ง กกต.ชุดใหม่จะเป็นผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งในระยะเปลี่ยนผ่านตามโรดแมปของ คสช.

ด้วยเหตุผลข้างต้น แน่นอนว่าคนที่จะมาเป็น กกต.ชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จะต้องเป็นบุคคลที่ผ่านหูผ่านตาของ คสช.ไม่มากก็น้อย เพื่อให้ คสช.เกิดความมั่นใจว่าการเลือกตั้งจะไม่เกิดปัญหาเหมือนในอดีต เพราะ กกต.ชุุดใหม่จะมีอำนาจมากขึ้นกว่า กกต.ในอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะการควบคุมการเลือกตั้ง

เหมือนกับการสรรหาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดปัจจุบัน ซึ่งเป็นการสรรหาในยุคของ คสช. ซึ่งปรากฏว่า ป.ป.ช.หลายคนที่เข้ามารับตำแหน่งมีประวัติการทำงานที่ใกล้ชิดกับผู้ทรงอิทธิพลของ คสช.

ภารกิจของ กกต.ชุดใหม่ ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งเป็นสำคัญเท่านั้น เพราะยังจะต้องเป็นหูเป็นตาในการตรวจสอบนโยบายของรัฐบาลในอนาคตด้วย ดังที่ปรากฏอยู่ในมาตรา 244 ของรัฐธรรมนูญ

"ในกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า การใช้จ่ายเงินแผ่นดินมีพฤติการณ์อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรืออาจทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม และเป็นกรณีที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไม่มีอำนาจจะดำเนินการใดได้

ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแจ้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี เพื่อทราบและดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป" เนื้อหาในมาตรา 244

ด้วยเหตุผลนี้เอง ทำไม กกต.ชุดปัจจุบันถึงต้องถูกเซตซีโร่ด้วยผลของกฎหมายที่มาจากการกำหนดของ กรธ.และ สนช. เพราะ คสช.ไม่อาจไว้วางใจให้บุคคลที่ไม่ได้ผ่านมือตัวเองมาทำงานใหญ่ได้ อย่างน้อยก็เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับ คสช.เองก่อนที่จะต้องลงจากตำแหน่งไปภายหลังการเลือกตั้ง

ดังนั้น นับจากนี้ไปกระบวนการสรรหา กกต.ชุดใหม่จะเป็นหนึ่งในความเคลื่อนไหวที่สำคัญในทางการเมือง เพราะโฉมหน้า กกต. 7 คน จะเป็นตัวกำหนดว่าบรรยากาศในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2561 หรือแม้แต่การจัดตั้งรัฐบาลและการเลือกนายกรัฐมนตรีในอนาคต n