posttoday

ฉีกกฎหมายลูก เลื่อนเลือกตั้ง

14 กันยายน 2560

"เมื่อไหร่จะเลือกตั้ง" เป็นทั้งคำถามและคำบ่นที่เริ่มส่งเสียงระงมไปทั่ว ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บริหารประเทศมาเป็นเวลากว่า 3 ปี

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

"เมื่อไหร่จะเลือกตั้ง" เป็นทั้งคำถามและคำบ่นที่เริ่มส่งเสียงระงมไปทั่ว ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บริหารประเทศมาเป็นเวลากว่า 3 ปี

ในแต่ละวันที่ผ่านไป บ่อยครั้งที่สื่อมวลชนได้สัมภาษณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.มักจะมีคำถามเรื่องการสืบทอดอำนาจหรือความชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้งเสมอ ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จะแสดงความไม่พอใจแทบทุกครั้งเวลาเจอกับคำถามดังกล่าว

ทั้งนี้ มีหลายวาระที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันถึงเรื่องการไม่สืบทอดอำนาจอย่างชัดถ้อยชัดคำ แต่ผิดกับความชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ปรากฏว่าหัวหน้า คสช.จะให้คำตอบที่คลุมเครือพอสมควรผ่านวาทกรรม เช่น การบอกเป็นนัยว่าถ้าประเทศยังไม่สงบก็จะยังไม่มีการเลือกตั้ง เป็นต้น

แต่หากจะบอกว่าท่าทีอะไรของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นการแสดงออกว่าไม่ประสงค์ให้มีการเลือกตั้งมากที่สุดตามโรดแมป คือ การตั้ง 4 คำถามไปยังประชาชน

1.เลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่

2.หากไม่ได้จะทำอย่างไร

3.การเลือกตั้งโดยไม่คำนึงถึงเรื่องอนาคตประเทศและเรื่องอื่นๆ นั้น ถูกต้องหรือไม่

4.ท่านคิดว่ากลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ควรมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่

คำถามทั้ง 4 ข้อดังกล่าว มองได้ว่าเป็นการพยายามหาแนวร่วมเพื่อสนับสนุนให้ชะลอการเลือกตั้งออกไปก่อนโดยอ้างถึงความจำเป็นในการปฏิรูปประเทศ ประกอบกับอาศัยอารมณ์ของสังคมที่เบื่อหน่ายนักการเมืองมาเป็นแรงกระตุ้นให้ประชาชนยินยอมให้คนกลางที่ไม่ใช่นักการเมืองบริหารประเทศไปก่อน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในส่วนลึกๆ ของ คสช.แล้ว ยังไม่พร้อมที่จะให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นตามโรดแมป ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะการปฏิรูปประเทศนั้นยังไม่ออกดอกออกผลอันจะพอเรียกได้ว่าเป็นผลงานได้มากเท่าไหร่นัก จึงพยายามหาความชอบธรรมเพื่ออยู่ในตำแหน่งต่อไป

อย่างไรก็ตาม การล้มการเลือกตั้งติดเงื่อนไขทางกฎหมายพอสมควร โดยเฉพาะทันทีที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้

บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญกำหนดขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่การเลือกตั้งค่อนข้างชัดเจน คือ การกำหนดให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องจัดทำและส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พรรคการเมือง การเลือกตั้ง สส.และการได้มาซึ่ง สว. ให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายใน 240 วัน เมื่อร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้แล้ว ให้ กกต.จัดให้มีการเลือกตั้งหลังจากนั้นภายใน 150 วัน

ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.และพรรคการเมืองได้สิ้นสุดขั้นตอนทางกระบวนการทางนิติบัญญัติไปเป็นที่เรียบร้อย โดย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.ประกาศลง ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ส่วน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองอยู่ระหว่างการประกาศใช้ จึงเหลือเพียงร่างกฎหมายลูกอีก 2 ฉบับที่ กรธ.จะต้องส่งให้ สนช. ซึ่ง กรธ.เองวางกรอบไว้ว่าจะส่งร่างกฎหมายการเลือกตั้ง สส.และการได้มาซึ่ง สว.จะถึงมือ สนช.ภายใน 2 เดือนนี้

เมื่อดูตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญวางเอาไว้แล้ว จะเห็นได้ว่าโอกาสในการเลื่อนออกไปจากกำหนดการเดิม คือ ปี 2561 มีทางเป็นไปได้ยากมาก แต่ถึงกระนั้นหนทางที่จะทำให้การเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปก็พอมีให้เห็นเช่นกัน

ช่องโหว่ที่ว่านั้น คือ การคว่ำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญในชั้นการพิจารณาของ สนช.

รัฐธรรมนูญกำหนดให้ สนช.ต้องพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่ กรธ.ส่งมาให้เสร็จภายใน 60 วัน และส่งให้ กรธ.และองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องไปตรวจดูว่าร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญที่ สนช.ให้ความเห็นชอบมีบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่อีกขั้นตอนหนึ่ง หาก กรธ.หรือองค์กรอิสระไม่เห็นด้วยก็ต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน 3 ฝ่าย และส่งมาให้ สนช.ลงมติอีกครั้ง

ตรงนี้เองหากเกิดกรณีที่ สนช.ลงมติไม่เห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง และถ้า สนช.ลงมติไม่เห็นชอบหลังจากพ้นกำหนดเวลา 240 วัน หรือประมาณต้นเดือน ธ.ค.จะทำให้เกิดปัญหาอย่างมีนัยสำคัญทันที

กล่าวคือ จะเป็นปัญหาขึ้นมาว่าใครจะเป็นผู้จัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญให้อำนาจ กรธ.ให้ทำร่างกฎหมายลูกแค่ 240 วันเท่านั้น

กรธ.เองพยายามตีความว่าตัวเองยังคงมีอำนาจในการเขียนร่างกฎหมายลูกที่ว่านั้นอยู่ เพราะเห็นว่ารัฐธรรมนูญให้ กรธ.อยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าสมาชิก สนช.จะพ้นจากตำแหน่ง ดังนั้น กรธ.ก็ควรมีอำนาจที่จะเขียนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้ โดยไม่มีกรอบเวลามาบีบบังคับ

ด้วยการตีความของ กรธ.และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในฉบับปัจจุบัน ทำให้พอเห็นถึงความเป็นไปได้ว่าการเลือกตั้งสามารถเลื่อนออกไปได้ แต่การเลือกตั้งจะเลื่อนออกไปได้ก็ต้องเริ่มจากบันไดขั้นแรกก่อน คือ การลงมติฉีกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งฉบับใดฉบับหนึ่งของ สนช.

ถามว่าแล้ว สนช.พร้อมจะหักด้ามพร้าด้วยเข่าหรือไม่

คำถามนี้คงตอบเป็นคำพูดหรือข้อความไม่ง่าย แต่คำตอบคงชัดเจนอยู่แล้วส่วนหนึ่ง เมื่อ สนช.ชุดปัจจุบันอุดมไปด้วยนายทหารและกลุ่มคนไม่เอานักการเมืองเกือบเต็มสภา n