posttoday

รัฐบาลแห่งชาติ เกิดได้แค่ทฤษฎี

12 กันยายน 2560

"รัฐบาลแห่งชาติ" กลับมาเป็นคำยอดฮิตในทางการเมืองอีกครั้ง ภายหลัง "พิชัย รัตตกุล" อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแสดงความคิดเห็นว่าการเลือกตั้งคงเกิดขึ้นได้ยากตามโรดแมป

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

"รัฐบาลแห่งชาติ" กลับมาเป็นคำยอดฮิตในทางการเมืองอีกครั้ง ภายหลัง "พิชัย รัตตกุล" อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแสดงความคิดเห็นว่าการเลือกตั้งคงเกิดขึ้นได้ยากตามโรดแมป เพราะติดปัญหาเรื่องการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ จึงคิดว่าควรตั้งรัฐบาลแห่งชาติเพื่อสร้างความปรองดอง

"ไม่ใช่จะสอน แต่ขอพูดความจริง แต่ความหวังของบ้านเมืองยังมีทางเลือกอีกทางที่ยากหน่อย คือการมีรัฐบาลต่อไปที่สวยงาม นั่นคือพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคอย่างภูมิใจไทย รวมกับทหารตั้งรัฐบาลแห่งชาติ" ข้อเสนอจากผู้ทรงคุณวุฒิทางการเมือง

แนวความคิดว่าด้วยเรื่องการตั้งรัฐบาลแห่งชาตินั้น เคยมีหลายฝ่ายเสนอเป็นทฤษฎีมาแล้วนับตั้งแต่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองก่อนจะมีการรัฐประหารปี 2549 ซึ่งโครงสร้างของรัฐบาลแห่งชาติก็ไม่ได้มีอะไรมาก คือการเอาคนกลางมาเป็นนายกรัฐมนตรี และให้สภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติโดยปราศจากพรรคฝ่ายค้าน

แต่ทฤษฎีดังกล่าวก็ไม่เคยได้นำไปปฏิบัติ เพราะถูกปฏิเสธจากฝ่ายการเมืองในฐานะนักเลือกตั้ง เพราะมองในเชิงหลักการว่าการที่ให้สภาไม่มีฝ่ายค้านนั้น ไม่ต่างอะไรกับการทำลายหลักการระบอบประชาธิปไตย แต่มองในเชิงการเมืองเหตุที่ฝ่ายการเมืองไม่เห็นด้วย ย่อมมาจากการที่ตัวเองไม่อยากสูญเสียอำนาจทางการเมืองให้บุคคลอื่น

ที่สุดแล้วตลอดเวลา 10 ปีมานี้ ประเทศไทยต้องเผชิญกับการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง การตั้งและการล้มไปของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสลับไปมา การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มสีเสื้อครั้งใหญ่ๆ 3-4 ครั้ง ที่นำมาซึ่งความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน

เมื่อกลไกทางการเมืองตามปกติมีทีท่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ทำให้วาทกรรม "รัฐบาลแห่งชาติ" ผุดขึ้นมาอีกครั้งในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ทั้งนี้ จะว่าไปแล้วในยุค คสช.เป็นยุคหนึ่งที่มีการพยายามสร้างรัฐบาลแห่งชาติมากที่สุด ดังจะเห็นได้จากเมื่อปี 2558 สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นำโดย "เอนก เหล่าธรรมทัศน์" ได้รวบรวมสมาชิก สปช.เสนอญัตติต่อที่ประชุม สปช. เรื่องการมีกลไกและขจัดความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงหลังการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้ สปช.มีมติให้เสนอประเด็นในการลงประชามติตามรัฐธรรมนูญ (คำถามพ่วงประชามติ)

โดยในญัตติที่เสนอได้ระบุเอาไว้ว่า "ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการมีกลไกป้องกันและขจัดความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงหลังการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยอย่างน้อยใน 4 ปีแรกหลังใช้รัฐธรรมนูญให้มีรัฐบาลปรองดองเพื่อการปฏิรูป ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนจาก สส.ในสังกัดไม่น้อยกว่า 4 ใน 5 ของจำนวน สส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (360 คนจาก 450 คน)"

ทั้งหมดต้องล่มลงเมื่อเสียงข้างมากของ สปช.ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ

จนกระทั่งมาถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่นำโดย "มีชัย ฤชุพันธุ์" ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่าได้กำหนดเงื่อนไขและนำผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญมาปรับปรุงถ้อยคำในร่างรัฐธรรมนูญอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งทำให้มองได้ว่าเป็นการปูทางไปสู่การตั้งรัฐบาลแห่งชาติในอนาคตด้วยเงื่อนไข 2 ประการ

1.ระบบเลือกตั้ง "จัดสรรปันส่วนผสม" ซึ่งกำหนดให้เลือกตั้ง สส. ทั้งระบบแบ่งเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อจำนวน 500 คน ด้วยบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง สส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว ซึ่งหลายฝ่ายต่างเห็นตรงกันว่าระบบนี้จะไม่ทำให้พรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมาก เด็ดขาดในสภาเหมือนในอดีต

2.การให้วุฒิสภาเข้ามาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วง 5 ปีแรก เป็นผลมาจากคำถามพ่วงในการทำประชามติที่ประชาชนส่วนใหญ่ลงมติเห็นด้วยกับการให้รัฐสภา (สส.และ สว.) ร่วมกันลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีใน 5 ปีแรกหลังจากการเลือกตั้ง พร้อมกับเปิดทางให้รัฐสภาสามารถเสนอบุคคลภายนอกที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีว่าที่นายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในช่วงแรกมาให้รัฐสภาลงมติเลือกได้ด้วย

ด้วยเงื่อนไขทั้งสองประการที่ว่ามานี้ ทำให้การตั้งรัฐบาลโดยอาศัยแค่พลังของฝ่ายการเมืองแต่เพียงลำพังทำได้ยาก เนื่องจากต้องอาศัยเสียงของวุฒิสภา ประกอบกับหากรายชื่อว่า ที่นายกฯ ที่พรรคการเมืองเสนอมายังรัฐสภาไม่เป็นที่ถูกใจของวุฒิสภาด้วยแล้ว ย่อมมีผลให้การตั้งรัฐบาลในรัฐสภาเกิดภาวะแท้งได้

จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไม วาทกรรม "รัฐบาลแห่งชาติ" ถึงถูกโยนลงมาอีกครั้ง เพื่อให้การตั้งรัฐบาลในอนาคตเกิดความราบรื่นมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ที่ว่านั้นเป็นเพียงแค่ทฤษฎี เพราะในทางปฏิบัติเป็นเรื่องยากที่ฝ่ายการเมืองที่เต็มไปด้วยนักเลือกตั้ง ย่อมจะให้คนกลางที่ไม่ใช่คนของพรรคตัวเองขึ้นมาเป็นนายกฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคนกลางคนนั้นมีชื่อว่า "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.

เว้นเสียแต่นายกฯ คนกลางไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ แต่เป็นคนอื่นที่ฝ่ายการเมืองพอปิดตาข้างหนึ่งยอมรับได้ หรือมีเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ทุกฝ่ายยินยอมพร้อมใจให้ประเทศมีนายกฯคนกลางต่อไปอีก 5 ปีเพื่อความสมานฉันท์ แม้จะแลกกับหลักการในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องเสียไปส่วนหนึ่งก็ตาม