posttoday

"พานทองแท้" เจอศึกหนัก คลื่นลูกใหญ่ถล่มชินวัตร

11 กันยายน 2560

ภาพรวมที่เกิดขึ้นกับครอบครัวชินวัตรครั้งนี้ นับว่าเป็นคลื่นลูกใหญ่ระลอกใหม่ที่ต้องเผชิญหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

นับตั้งแต่ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่เดินทางมาฟังคำพิพากษาคดีจำนำข้าวเมื่อวันที่ 24 ส.ค. ปรากฏว่าเกิดความเคลื่อนไหวกับครอบครัวชินวัตรกันถ้วนหน้า

เริ่มตั้งแต่การแสดงความคิดเห็นของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ ด้วยการโพสต์ข้อความของมองเตสกิเออนักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสที่มีเนื้อหาว่า “ไม่มีความเลวร้ายใด ที่จะยิ่งไปกว่าความเลวร้ายที่ได้กระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายหรือในนามของกระบวนการยุติธรรม”

แม้ข้อความที่ทักษิณส่งออกมานั้นจะไม่ได้สื่อออกมาหรือระบุตัวบุคคลที่ต้องการพาดพิงโดยตรง แต่ถ้ามองจากช่วงจังหวะและเวลาของอดีตนายกฯ ทักษิณแล้ว แน่นอนว่ามีเจตนาส่วนหนึ่งที่ต้องการเชื่อมโยงไปที่การพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ปิดฉากคดีการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐด้วยการให้จำคุก “บุญทรง เตริยาภิรมย์” อดีต รมว.พาณิชย์ เป็นเวลา 42 ปี

ความเคลื่อนไหวของทักษิณ นำมาซึ่งแรงกระเพื่อมทางการเมืองไทยค่อนข้างมาก โดยเฉพาะจากทางฝั่งรัฐบาลและกลุ่มมวลชนฝ่ายต่อต้านทักษิณ

ทว่า ล่าสุดหลังจากเกิดแรงกระเพื่อมที่เกิดมาจากพลังทางการเมืองของอดีตนายกฯ ทักษิณ ปรากฏว่า “พานทองแท้ ชินวัตร” บุตรชายของตัวเองกำลังถูกตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐอย่างมีนัยสำคัญ

แรงสั่นสะเทือนที่ว่านั้นคือ การที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เตรียมดำเนินคดีกับพานทองแท้ในข้อหาฟอกเงินจากกรณีการปล่อยกู้เงินของธนาคารกรุงไทยให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร

คดีการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยเมื่อปี 2558 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้เคยมีคำพิพากษาไปแล้ว โดยพิพากษาจำคุก ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ นายวิโรจน์ นวลแข อดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย และพวกอีก 2 คน คนละ 18 ปี และจำคุกอดีตเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทยพร้อมผู้บริหารเครือบริษัท กฤษดามหานคร รวม 12 คน คนละ 12 ปี พร้อมให้ผู้บริหารเครือบริษัท กฤษดามหานคร คืนเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาทให้ธนาคารกรุงไทย

สำหรับพานทองแท้แล้วถูกโยงว่ามีส่วนเกี่ยวข้องมาตลอด ย้อนไปสมัยที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เข้ามาไต่สวนคดีนี้ใหม่ๆ ปรากฏว่าตั้งข้อกล่าวหามายังพานทองแท้ด้วย แต่เมื่อมีการนำคดีส่งต่อให้กับอัยการสูงสุด กลับไม่มีการใส่ชื่อพานทองแท้เข้าไปในสำนวนเพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ

ต่อมาภายหลังศาลฎีกาฯ พิพากษาถึงที่สุด เริ่มปรากฏความเคลื่อนไหวเพื่อขยายผลทางคดีจากคำพิพากษาดังกล่าว

คนที่ถูกตรวจสอบแรกๆ คือ พานทองแท้ เพราะดีเอสไอมองว่ามีข้อเท็จจริงที่พอจะมีความเป็นไปได้ว่าพานทองแท้จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ซึ่งเรียกได้ว่าพานทองแท้กำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากอีกครั้ง

ข้อเท็จจริงสำคัญที่ทำให้ดีเอสไอเข้ามาตรวจสอบปรากฏให้เห็นจากคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ในคดีหมายเลขแดงที่ อม.55/2558 ระบุว่า “ข้อเท็จจริงที่ได้จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินว่า จำเลยที่ 25 (วิชัย กฤษดาธานนท์) มีการโอนเงินให้แก่บุตรและบุคคลใกล้ชิดกับจำเลยที่ 1 (ทักษิณ ชินวัตร) นั้น เห็นได้ว่าบุคคลดังกล่าวก็เป็นบุตรและเป็นบุคคลใกล้ชิดกับภริยาของจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกัน”

จากตรงนี้เองจึงมีผลให้พานทองแท้ต้องถูกตรวจสอบ ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้ถือว่ามีความเข้มข้นและถูกจับตามองมากขึ้นกว่าปกติ เพราะเป็นการลงมือภายหลังคดีความต่างๆ ที่เกี่ยวกับเครือข่ายครอบครัวชินวัตรกำลังมีคำตัดสินออกมาเป็นระยะทั้งในชั้นศาลฎีกา หรือการตรวจสอบขององค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องอย่างน้อยใน 2 คดีสำคัญ

คดีแรกที่มีกำหนดวันตัดสินแน่นอนแล้ว คือ วันที่ 27 ก.ย. ศาลฎีกาฯ นัดฟังคำพิพากษาในคดีที่ยิ่งลักษณ์ละเว้นไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นมาจากโครงการรับจำนำข้าว โดยเป็นการเลื่อนมาจากกำหนดการเดิมที่ศาลฎีกาฯ ต้องอ่านตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. แต่ยิ่งลักษณ์ผิดนัด ทำให้ศาลฎีกาฯ ต้องนัดวันอ่านคำพิพากษาใหม่อีกครั้ง

การนัดวันอ่านคำพิพากษาครั้งนี้ องค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คน จะเดินหน้าอ่านคำพิพากษาอย่างแน่นอน ไม่ว่ายิ่งลักษณ์จะเดินทางมาปรากฏตัวต่อศาลหรือไม่ อันเป็นไปตามขั้นตอนที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 กำหนดเอาไว้

ส่วนอีกคดีที่น่าสนใจอยู่ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพราะได้กำหนดกรอบเวลาไว้เบื้องต้นว่าจะต้องดำเนินการไต่สวนคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์จ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง (2548-2553) โดยไม่มีอำนาจให้เสร็จภายในเดือนนี้

ตามขั้นตอนหาก ป.ป.ช.เห็นว่าข้อกล่าวหามีมูล ก็จะดำเนินการสรุปสำนวนส่งให้อัยการสูงสุดฟ้องต่อศาลฎีกาต่อไป

ภาพรวมที่เกิดขึ้นกับครอบครัวชินวัตรครั้งนี้ นับว่าเป็นคลื่นลูกใหญ่ระลอกใหม่ที่ต้องเผชิญหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ไม่เพียงเท่านี้ มีความเป็นไปได้สูงที่คลื่นระลอกนี้จะไม่หยุดอยู่แค่นี้ เพราะแรงของคลื่นย่อมจะสะเทือนไปถึงพรรคเพื่อไทยที่กำลังเตรียมตัวสู่สนามเลือกตั้ง ซึ่งพรรคเพื่อไทยเองก็ทราบสถานการณ์ของตัวเองเป็นอย่างดี เพียงแต่ยังไม่รู้ว่าจะหาทางเอาตัวรอดจากสถานการณ์นี้อย่างไร