posttoday

เลือกตั้ง ส.ค. 61 กกต. ตีกัน คสช.ลากยาว

06 กันยายน 2560

การออกมาขีดเส้นตีกรอบวันเลือกตั้งที่ควรจะเกิดขึ้นในเดือน ส.ค. 2561 ของกกต. ชุดปัจจุบัน ถือเป็นตัวล็อกสำคัญที่​ทำให้ความพยายามเลื่อนการเลือกตั้งเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

การออกมาขีดเส้นตีกรอบวันเลือกตั้งที่ควรจะเกิดขึ้นในเดือน ส.ค. 2561 ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดปัจจุบัน ถือเป็นตัวล็อกสำคัญที่​ทำให้ความพยายามเลื่อนการเลือกตั้งเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

แม้จะเป็นเพียงแค่กรอบ ซึ่งชี้แจงในการประชุมเตรียมความพร้อมการเลือกตั้ง สส. และการได้มาซึ่ง สว. โดยมี ศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. เป็นประธานในที่ประชุม

ทว่ารายละเอียดเกือบทั้งหมดก็เป็นไปตามปฏิทินและสอดรับกับโรดแมปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กำหนดไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

เริ่มตั้งแต่การเสนอร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ที่คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในเดือน ธ.ค.นี้ และ น่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.พ. 2561

ต่อจากนั้นกระบวนสรรหา สว.จะเริ่มขึ้น โดยคาดว่าจะสามารถประกาศผลการเลือกตั้ง สว. 200 คน ได้ในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2561 ก่อนส่งให้ คสช. เพื่อคัดเลือกให้เหลือ 50 คน ​รวมกับ สว.ในสัดส่วนที่ คสช. เป็นผู้คัดเลือกอีก 200 คน รวมเป็น 250 คน

ส่วนการเลือกตั้ง สส.​ เมื่อ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญเลือกตั้ง สส. ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้เดือน มี.ค. 2561 จากนั้นจะเริ่มกระบวนการเลือกตั้ง โดยคาดว่าประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งน่าจะเป็นเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2561 และมีการเลือกตั้งในเดือน ส.ค. 2561

ทว่าในทางปฏิบัติ​หน้าที่การจัดการเลือกตั้ง​ตัวจริงจะเป็นของ กกต.ชุดใหม่ หลังจากร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดให้เซตซีโร่ กกต.ชุดปัจจุบัน โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวที่ประชุม สนช.ลงมติเห็นชอบตาม กมธ.วิสามัญเสนอ และส่งต่อไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา

การปักหมุดกำหนดวันเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือน ส.ค. 2561 อีกด้านหนึ่งจึงถูกมองว่าเป็นปฏิบัติการตอบโต้จากฝั่ง กกต.ที่ถูกเซตซีโร่ด้วยการรีบกำหนดวันเลือกตั้งเพื่อกดดันไม่ให้ คสช.บิดพลิ้ว อยู่ในอำนาจยาวออกไปจากโรดแมป

สอดรับกับคำมั่นก่อนหน้านี้ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ออกมายืนยันว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปี 2561 หลังมีกระแสพูดถึงความพยายามเลื่อนการเลือกตั้งออกไป

แต่กระนั้นก็ไม่อาจดับกระแสเลื่อนการเลือกตั้ง ซึ่งยังถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่อง

ท่าทีของ กกต.จึงเป็นอีกแรงกดดันที่จะทำให้การเลื่อนการเลือกตั้งเป็นไปได้ยาก และกลายเป็นเหมือนข้อผูกมัดที่ทาง คสช.และแม่น้ำสายต่างๆ ต้องทำให้ได้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม เพราะหากทำไม่ได้ย่อมกระทบไปถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อ คสช.อย่างมาก

แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะกับระบบการเลือกตั้งใหม่ถอดด้ามที่เปลี่ยนแปลงจากระบบเลือกตั้งที่คุ้นเคยในอดีต ไล่มาตั้งแต่กลไกไพรมารีโหวตตั้งแต่ขั้นตอนการคัดตัวผู้สมัครของแต่ละพรรคการเมือง ที่เริ่มมีการออกมาดักคอว่าจะนำไปสู่ความยุ่งยาก​

มาจนถึงเรื่องระบบบัตรเดียวที่ใช้คำนวณคะแนนทั้งระบบเขตและระบบบัญชีรายชื่อ ​ซึ่งแต่ละเขตเบอร์ของผู้สมัครแต่ละพรรคจะไม่เหมือนกัน ​ที่ล้วนแต่เป็นปัญหาอันน่าหนักใจของ กกต.ชุดใหม่ที่จะมาประเดิมรับหน้าที่จัดการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรก

แน่นอนว่าทางรัฐบาลเองก็ใช่ว่าจะให้ กกต.มามัดมือชกขีดเส้นวันเลือกตั้งจนไม่เหลือทางเลือกให้เดิน

เมื่อ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รีบออกมาชี้แจงว่าเป็นเพียงการเตรียมการของ กกต.ไว้ก่อน รัฐบาลยังตอบอะไรไม่ถูก ทุกคนรู้ว่าโรดแมปจะเดินอย่างไร บางเรื่องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องทูลเกล้าฯ ถวายไป บางเรื่องก็เป็นเรื่องของการประกาศใช้กฎหมาย บางอย่างก็เป็นเรื่องของ กกต.

“ตอนนี้รู้เพียงว่าหากกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับมีผลใช้บังคับเมื่อใด ต้องจัดการเลือกตั้ง 5 เดือนหลังจากนั้น ส่วนจะเป็นวันไหนสุดแท้แล้วแต่ กกต.จะเป็นผู้กำหนด ส่วนกฎหมายเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับ จะออกมาเมื่อใดผมไม่ทราบ รัฐบาลไม่เคยเร่งรัดอะไร” รองนายกรัฐมนตรี ระบุ

ท่าทีของรองนายกรัฐมนตรีเช่นนี้ยิ่งทำให้กระแสเลื่อนการเลือกตั้งโดยอาศัยช่วงชุลมุนกรณีร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ ไม่สามารถประกาศใช้ได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด

เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 268  ระบุว่าให้ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง สส.ให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน นับตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ.​ประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ ได้แก่ 1.พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. 2.การได้มาซึ่ง สว. 3.กกต. และ 4.พรรคการเมืองมีผลใช้บังคับ

คล้ายกับที่ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาตั้งข้อสังเกตว่าทุกอย่างจะเดินไปตามกรอบยกเว้นมีการคว่ำ 2 กฎหมายสำคัญ คือ ร่างกฎหมายเลือกตั้ง สส. และร่างกฎหมายการได้มาซึ่ง สว. ที่อยู่ระหว่างการจัดทำ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุชัดเจนว่าถ้ากฎหมายนี้ไม่ผ่านจะเดินต่อไปอย่างไร

“นี่เป็นอีกหนึ่งช่องทางของผู้มีอำนาจที่จะใช้ยื้อเวลาจัดการเลือกตั้งออกไปอีก ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์” นิพิฏฐ์ กล่าว

เส้นทาง​สู่การเลือกตั้งเดือน ส.ค. 2561 จึงยังมีความไม่แน่นอน​ ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดในแต่ละขั้นตอนตามโรดแมปต่อไป