posttoday

กระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ล็อกสองชั้นคุมเบ็ดเสร็จ

01 กันยายน 2560

กระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เริ่มต้นเดินหน้าสู่การปฏิบัติอย่างเป็นทางการ ล่าสุดครม.แต่งตั้ง พล.อ.ประวิตรเป็นรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เพิ่มอีก 1 คน​

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

กระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เริ่มต้นเดินหน้าสู่การปฏิบัติอย่างเป็นทางการ เมื่อล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแต่งตั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เพิ่มอีก 1 คน​

พร้อมกับแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ อีก 12 คน ได้แก่ ​กานต์ ตระกูลฮุน ชาติศิริ โสภณพนิช เทียนฉาย กีระนันทน์ บัณฑูร ล่ำซำ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง พลเดช ปิ่นประทีป วิษณุ เครืองาม ศุภชัย พานิชภักดิ์ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สุวิทย์ เมษินทรีย์ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และอุตตม สาวนายน

เมื่อรวมกับโครงสร้างที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการ ประธานรัฐสภาเป็นรองประธาน และผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้ามาโดยตำแหน่ง 13 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประธานสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งสังคมแห่งชาติ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และประธานสมาคมธนาคารไทย ก็จะทำให้คณะกรรมการชุดนี้สามารถเริ่มต้นทำหน้าที่ได้

ความสำคัญของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติอยู่ตรงที่เป็นหัวใจของการกำหนดแนวนโยบายและทิศทางการขับเคลื่อนประเทศในช่วง 20 ปีนับจากนี้

ว่ากันว่านี่เป็นซูเปอร์บอร์ดที่มีอำนาจล้นมือ ชนิดที่แม้แต่รัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งในอนาคตจะต้องนำข้อเสนอแนะและแนวทางยุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้ไปปฏิบัติอย่างมิอาจบิดพลิ้ว 

ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการที่จะทำให้การปฏิรูปเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่องไม่มีสะดุดกลางคัน ในช่วงรอยต่อระหว่างรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ไม่ว่าจะมาจากพรรคไหนก็ต้องนำแนวยุทธศาสตร์ชาติไปดำเนินการ

ถึงขั้นมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากพรรคการเมืองที่ออกมาดักคอว่าอำนาจคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติอาจมากกว่าฝ่ายบริหารที่ชนะการเลือกตั้งมาจากประชาชนด้วยซ้ำ

จากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ​ที่จะต้องจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแต่ละด้านจัดทําแผนแม่บทเพื่อบรรลุเป้าหมายตามที่กําหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อเสนอ ครม.ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับแผนแม่บทและแผนการปฏิรูปประเทศ

“แผนแม่บทที่ ครม.ให้ความเห็นชอบและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้มีผลผูกพัน หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น รวมทั้งการจัดทํางบประมาณรายจ่าย ประจําปีงบประมาณต้องสอดคล้องกับแผนแม่บทด้วย”

ที่สำคัญ ตาม พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 2560 มาตรา ​25 ระบุว่า ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ดําเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาดําเนินการกับหัวหน้าหน่วยงานของรัฐนั้นตามหน้าที่และอํานาจให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง

ทั้งนี้ ในกรณีที่ ป.ป.ช.มีมติว่าข้อกล่าวหามีมูล ให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหานั้นสั่งให้ผู้นั้นพักราชการหรือพักงาน หรือสั่งให้ออกจากราชการหรือออกจากงานไว้ก่อน หรือสั่งให้พ้นจากตําแหน่งต่อไป

ทั้งหมดแล้วแต่ตอกย้ำเรื่องอำนาจของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ จะต้องดำเนินการตามแนวทางที่วางไว้ อันเป็นการตอกย้ำความกังวลเรื่องการสืบทอดอำนาจของ คสช. ​ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาแล้วก่อนหน้านี้

ไล่มาตั้งแต่ประเด็น เรื่อง นายกรัฐมนตรีคนนอก ​ที่มีความเป็นไปได้สูงกับระบบการเลือกตั้งระบบใหม่ที่เชื่อว่ายากจะมีพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งมีเสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการตั้งรัฐบาล หรือเอาชนะเสียงโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่จะมีเสียง สว.อีก 250 เสียง มาร่วมเลือกด้วย

ยังไม่รวมกับกลไกการเลือกตั้งที่อยู่ในช่วงการพิจารณาออกกฎหมายลูก ทั้งระบบไพรมารีโหวต ระบบเลือกตั้งแบบบัตรเดียวนับคะแนนสองระบบ ไปจนถึงเรื่องการกำหนดเบอร์เลือกตั้งของผู้สมัครแต่ละพรรคที่ไม่เหมือนกันในแต่ละพื้นที่ ซึ่งถูกมองว่าจะทำให้เกิดความสับสนจนอาจไม่สะท้อนเสียงของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จึงถือเป็นอีกกลไกเสริมที่เข้าอุดช่องว่างให้กระบวนการต่างๆ เดินหน้าไปอย่างที่ คสช.คาดหวัง ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร

ส่วนหนึ่งดูได้จากรายชื่อคณะกรรมการที่แทบทั้งหมดล้วนแต่เป็นคนที่เคยทำงานในแม่น้ำสายต่างๆ ของ คสช.และอีกส่วนก็เป็นบิ๊กทหารใน คสช.

ดังนั้น ต่อให้รัฐบาลใหม่ซึ่งไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกอย่างที่ถูกดักคอล่วงหน้า หรือจะมาจากพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง แต่อำนาจของ คสช.ที่ส่งผ่านมายังคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ก็ยังชัดเจนที่จะมีผลบังคับให้คนเหล่านี้ต้องปฏิบัติตาม

เป็นอำนาจเบ็ดเสร็จที่ล็อกให้รัฐบาลใหม่ต้องบริหารประเทศไปตามกรอบที่วางไว้ ไม่ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือพรรคใดจะมาเป็นรัฐบาล