posttoday

บอร์ดยุทธศาสตร์ชาติ ท่ออำนาจ คสช.

01 กันยายน 2560

แม้พล.อ.ประยุทธ์ การันตีเสมอว่า คสช.จะไม่สืบทอดอำนาจ แต่โผ 12 บุคคลสำคัญที่เป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ล้วนมาจากคนวงใน คสช.กับบุคคลที่ทำงานใกล้ชิดรัฐบาลทั้งสิ้น

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

แม้ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การันตีเสมอว่า คสช.จะไม่สืบทอดอำนาจ แต่โผ 12 บุคคลสำคัญที่เป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ล้วนมาจากคนวงใน คสช.กับบุคคลที่ทำงานใกล้ชิดรัฐบาลทั้งสิ้น

ไล่กันตั้งแต่ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พี่ใหญ่แห่งสายบูรพาพยัคฆ์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองประธานซึ่งทราบดีว่า "บิ๊กป้อม" มีอำนาจคุมกำลังฝ่ายความมั่นคงแบบเบ็ดเสร็จ และเป็น คีย์แมนคนสำคัญในการกำหนดทิศทางนโยบายรัฐบาล และการแต่งตั้งโยกย้ายขุมกำลังภาครัฐเกือบทั้งหมด

ยิ่งการวางตัว "บิ๊กป๊อก" พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย มาเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ด้านความมั่นคง การเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน ย่อมสำทับให้ภาพชัดเจนยิ่งขึ้นว่า คสช.กำลังต่อท่ออำนาจทางการเมืองในระยะ 5 ปี ตามวาระการดำรงตำแหน่ง เพราะทั้ง "บิ๊กป้อม" และ "บิ๊กป๊อก" ล้วนเป็นบุคคลสำคัญในการกุมอำนาจรัฐและมีสิทธิขาดในการตัดสินใจกำหนดสภาพแวดล้อมทางการเมือง และโครงสร้างอำนาจใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ภายใต้การนำของ คสช.

ขณะที่อนาคตยุทธศาสตร์ชาติด้านเศรษฐกิจ ก็อยู่ในอุ้งมือบิ๊ก คสช.เช่นกัน นั่นคือ "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ยิ่งในบรรดากรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้านเศรษฐกิจ "สมคิด" ได้ฝังคนใกล้ชิดเข้ามา อาทิ "สุวิทย์ เมษินทรีย์" รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปัจจุบัน "สุวิทย์" และ "อุตตม สาวนายน" รมว.อุตสาหกรรม เป็นกุนซือคนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0

ยิ่งยุทธศาสตร์ชาติด้านโครงสร้าง พื้นฐาน คสช.วางตัว "บิ๊กจิน" พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี มากุมอนาคตการลงทุนภาครัฐ ดังนั้นต่อไปยุทธศาสตร์ชาติในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง บก เรือ อากาศ หรือ ไซเบอร์ จะอยู่ในกำมือของ "คสช." เช่นกัน

ขณะที่ยุทธศาสตร์ชาติ ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ก็อยู่ใน การควบคุมของ คสช.โดยตรงผ่าน "วิษณุ เครืองาม" รองนายกรัฐมนตรี มือร่างกฎหมาย คำสั่ง หรือมาตรการต่างๆ ด้วยฝีมือและความเชี่ยวชาญทางกฎหมายจึงได้รับความไว้วางใจมากจาก "บิ๊กตู่" ให้เข้ามาออกแบบกฎหมายประเทศ

อีกคนที่ต้องโฟกัส คือ "ศุภชัย พานิชภักดิ์" อดีตผู้อำนวยการการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ) นับเป็นบุคลากรระดับโลกเพราะมีประสบการณ์การทำงานในองค์กรสากลเคยถูกทาบทามให้รับตำแหน่งสำคัญในหลายรัฐบาล แต่เขาปฏิเสธ ด้วยฝีมือด้านเศรษฐกิจ และการเมือง ภาคธุรกิจได้ยินชื่อก็เทคะแนนให้ความเชื่อถือทันที ยิ่ง "บิ๊กตู่" ล็อกตัว "ศุภชัย" มาร่วมงานได้ ย่อมหวังมากระชากเรตติ้งและเสริมบารมี คสช. เหมือนแต่งหน้าเค้กให้สวยงาม เช่นเดียวกับการดึงตัวบิ๊กภาคธุรกิจมาร่วมงาน อาทิ "ชาติศิริ โสภณพนิช" นายแบงก์ใหญ่แห่งธนาคารกรุงเทพ "ชาติศิริ" เข้ามาช่วยงานรัฐบาลตั้งแต่ต้น ในฐานะคณะทำงานเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ เป็นแกนสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้กับรัฐบาล

เช่นเดียวกับการแต่งตั้ง "กานต์ ตระกูลฮุน" มารับหน้าที่เป็นกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน และ "บัณฑูร ล่ำซำ" ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย เข้ามาทำงาน เพราะบุคคลเหล่านี้สายตรง คสช. อยู่แล้วในชุดคณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่ฝังตัวอยู่ในด้านต่างๆ ทั้ง 11 ด้าน

สายตรง คสช.ที่เห็นชัดเจนอีกคน คือ "เทียนฉาย กีระนันทน์" อดีตประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการศึกษา หรือ "นพ.พลเดช ปิ่นประทีป" เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพราะเป็นบุคคลสำคัญในกลุ่มเครือข่ายสุขภาพ "ตระกูล ส." เข้ามาร่วมกับรัฐบาลตั้งแต่เกิดปฏิวัติใหม่ๆ ในคณะกรรมการเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ด้านเกษตร ผลิตภัณฑ์แปรรูป และการท่องเที่ยวชุมชน ผลงานโดดเด่นในการขับเคลื่อนงานมวลชนลดแรงปะทะและขัดแย้งระหว่างรัฐบาล กับภาคประชาสังคมและกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ)

แน่นอนว่า ร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติฯ บรรดานักการเมือง ย่อมไม่พอใจ เพราะต้องฝืนดำเนินนโยบายตาม คสช. แทนที่จะดำเนินนโยบายพรรคการเมือง ที่จะใช้เรียกคะแนนเสียงจากประชาชน แต่ต้องเดินตามกรอบที่ คสช.วางหมากไว้ ยิ่งในบทกำหนดวิธีการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาลเอาไว้ ในมาตรา 24 และ มาตรา 25 หากหน่วยงานของรัฐดำเนินการไม่สอดคล้อง กับยุทธศาสตร์ชาติ จะถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการเอาผิด โทษร้ายแรงถึงขนาดสั่งพักราชการ หรือ ไล่ออก

ในบทเฉพาะกาล มาตรา 29 ยังกำหนดไว้ว่า ในกรณีที่พบว่าการดำเนินการของหน่วยงานรัฐที่ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์นั้นเป็นผลมาจากมติคณะรัฐมนตรี หรือเป็นการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีโดยตรง ให้วุฒิสภาสามารถยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าคณะรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการพิจารณาให้แล้วเสร็จและมีมติภายใน 60 วันนับแต่ได้รับเรื่อง โดยให้ฟังข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามที่ปรากฏในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

อำนาจพิเศษในการติดตามตรวจสอบที่เป็นกฎเหล็กอันเข้มงวดขนาดนี้ เชื่อได้ว่าไม่มีรัฐบาลไหนกล้าเดินออกนอกลู่นอกทางตามที่ยุทธศาสตร์ชาติขีดเส้นไว้ให้เดิน เพราะนั่นหมายความว่า อาจมีโอกาสที่จะโดนศาลรัฐธรรมนูญหรือ ป.ป.ช.เชือด!