posttoday

ปปช.กั๊กอุทธรณ์ เติมเชื้อไฟขัดแย้ง

31 สิงหาคม 2560

ในที่ป.ป.ช. กลายเป็นหมู่บ้านกระสุนตกอีกครั้ง หลังจากมีมติอุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกาฯในคดีการสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตร แค่ พล.ต.ท.สุชาติ

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

ในที่สุดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กลายเป็นหมู่บ้านกระสุนตกอีกครั้ง หลังจากมีมติอุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีการสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551

เดิมทีศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 4 คน ประกอบด้วย 1.สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี 2.พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ 3.พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ 4.พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

โดยศาลฎีกาฯ ให้เหตุผลถึงการพิพากษายกฟ้องว่าการชุมนุมของกลุ่ม พธม.ไม่ได้เป็นไปโดยสงบอันจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และการตัดสินใจสลายการชุมนุมเป็นไปเพื่อรักษาความสงบ ดังนั้น การดำเนินการสลายการชุมนุมจึงไม่เป็นการกระทำความผิดตามกฎหมาย

เมื่อคำพิพากษาออกมาเป็นคุณแก่จำเลย จึงเป็นโอกาสของฝ่ายโจทก์ที่สามารถใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 195 ซึ่งในที่นี้ คือ คณะกรรมการ ป.ป.ช.

นับตั้งแต่คำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ได้ปรากฏแก่สาธารณะเมื่อวันที่ 2 ส.ค. กลุ่ม พธม.ได้แสดงท่าทีกดดันและเรียกร้องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการอุทธรณ์คำพิพากษามาเป็นระยะ เพื่อให้มีการนำคดีกลับไปพิจารณาในประเด็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง อีกครั้ง

ในส่วนของ ป.ป.ช.เมื่อเจอกับ แรงกดดันดังกล่าวก็ยังคงสงวนท่าทีมาตลอด โดยอ้างว่าต้องรอพิจารณา คำพิพากษาก่อนและยืนยันจะพิจารณาให้ทันกรอบเวลา 30 วันที่รัฐธรรมนูญกำหนดอย่างแน่นอน

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 29 ส.ค. คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาฯ แต่เป็นไปในลักษณะที่สามารถเรียกได้ว่า "ครึ่งๆ กลางๆ" หรือ "กั๊ก" เนื่องจากจำเลยในคดีนี้มีถึง 4 คน แต่ ป.ป.ช.เตรียมยื่นอุทธรณ์เพื่อให้ศาลฎีกาฯ ทบทวนคดีเฉพาะ พล.ต.ท.สุชาติ เพียงคนเดียว

"พล.ต.ท.สุชาติมีสถานะเป็น ผู้บัญชาการ เหตุการณ์ในช่วงเวลานั้น มีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมเหตุการณ์ชุมนุมโดยตรง ทั้งช่วงเช้า กลางวัน เย็นตามแผนกรกฎ ย่อมรับรู้เป็น อย่างดีว่า เหตุการณ์เกิดความรุนแรงและไม่รุนแรงในช่วงใดบ้าง แต่ช่วงที่เกิดความรุนแรงกลับไม่สั่งระงับยับยั้งเหตุการณ์ ไม่มีการแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้า ยังใช้วิธีการเดิมแก้ปัญหา จึงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องเป็นผู้รับ ผิดชอบ" เหตุผลส่วนหนึ่งของ ป.ป.ช.

การเลือกอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อให้ทบทวนการวินิจฉัยคดีของจำเลยบางคนนั้นเมื่อมองไปที่บทบัญญัติของมาตรา 195 จะเห็นได้ว่ากฎหมายไม่ได้ระบุชัดเจนถึงใน รายละเอียดขั้นที่ว่าผู้ใช้สิทธิจะต้องสิทธิอุทธรณ์อย่างไร เพียงแต่ต้องยื่นภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาเท่านั้น ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญ

ถึงแม้ข้อกฎหมายจะเป็นประโยชน์ต่อ ป.ป.ช.ที่จะสามารถ ยื่นอุทธรณ์อย่างไรก็ได้ แต่ด้านหนึ่งการยื่นอุทธรณ์จำเลยเพียงคนเดียว ย่อมเป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามถึงบรรทัดฐานว่าถูกต้องหรือไม่อย่างไร

กล่าวคือ ถ้าพิจารณาตามหลักเหตุผลแล้วการอุทธรณ์ในคดีที่มีจำเลยหลายคนก็ควรยื่นอุทธรณ์ให้ศาลพิจารณาทุกคน ไม่ใช่เลือกเฉพาะคนใดคนหนึ่ง เนื่องจากในคดีนี้มีจำเลยถึง 4 คน และตามข้อเท็จจริงจำเลยทุกคนต่างมีจุดเกาะเกี่ยวสัมพันธ์กัน คือ ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายนโยบายที่สั่งการให้สลายการชุมนุม อีกฝ่ายเป็นฝ่ายรับนโยบายจากฝ่ายการเมือง

ดังนั้น หาก ป.ป.ช.จะเลือกอุทธรณ์เฉพาะบางคนก็ควรเน้นไปที่ฝ่ายนโยบาย ได้แก่ สมชาย และ พล.อ.ชวลิต เพราะตามข้อเท็จจริงที่มีการไต่สวนนั้นทั้งสองคนเป็นผู้สั่งการ ส่วน พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ เป็นผู้รับนโยบายนำไปปฏิบัติ

อย่างน้อยถ้า ป.ป.ช.เลือกอุทธรณ์เพื่อให้ศาลฎีกาฯ ทบทวนเฉพาะจำเลยที่เป็นฝ่ายนโยบายจะเป็นบรรทัดฐานให้ฝ่ายนโยบายในอนาคตต้องมีความระวังในการออกคำสั่งมากขึ้น ไม่ใช่โยนภาระไปให้กับฝ่ายปฏิบัติเพียงอย่างเดียว เสมือนเป็น "ทองไม่รู้ร้อน"

ไม่เพียงเท่านี้ การอุทธรณ์ ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ ให้ทบทวนคดีในส่วนของจำเลยที่เป็นฝ่ายปฏิบัติ ย่อมกระทบในเรื่องขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยด้วย เพราะ อาจทำให้การปฏิบัติตามคำสั่งของ ผู้บังคับบัญชาจะนำมาซึ่งความ เดือดร้อนของเจ้าหน้าที่อย่างหลีกเลี่ยง ไม่ได้ด้วย

นับตั้งแต่ ป.ป.ช.ชุดนี้เข้ามาทำงานก็ถูกเพ่งเล็งอย่างหนักพอสมควร เนื่องจากกรรมการ ป.ป.ช.หลายคนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลชุดปัจจุบัน

หนำซ้ำกรรมการ ป.ป.ช.บางคนเคยมีความเคลื่อนไหวที่แสดงเจตนาต่อศาลฎีกาฯ เพื่อถอนคดีสลายการชุมนุมออกจากศาลฎีกาฯ แต่ยังดีที่เสียงข้างมากของ ป.ป.ช.ไม่เห็นด้วย จนเลิกความพยายามไปในที่สุด

เพราะฉะนั้น การอุทธรณ์ของ ป.ป.ช.แบบครึ่งๆ กลางๆ ที่ปรากฏออกมา อาจจะเป็นบรรทัดฐานที่สร้างกำแพงจนเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความปรองดองในอนาคต