posttoday

อนาคต ‘บุญทรง’ มีทางสู้...แต่เหนื่อย

30 สิงหาคม 2560

วันที่ 25 ส.ค.เป็นอีกวันที่ต้องบันทึกไว้เป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย หลังจาก บุญทรง ต้องติดคุกในคดีทุจริตระบายข้าวจีทูจี

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

วันที่ 25 ส.ค.เป็นอีกวันที่ต้องบันทึกไว้เป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย หลังจาก บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ พร้อมกับกลุ่มอดีตข้าราชการของกระทรวงพาณิชย์ ต้องติดคุกในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบจากการดำเนินโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เป็นเวลาถึง 42 ปี

การที่มีอดีตผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและอดีตข้าราชการต้องเข้าไปใช้ชีวิตในเรือนจำเป็นกรณีที่ปรากฏให้เห็นมาก่อนหน้านี้แล้วหลายครั้ง มีบางกรณีติดคุก 2 ปี หรือ 10 ปี

ทว่า สำหรับกรณีของบุญทรงนั้นถือเป็นครั้งแรกที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาให้จำคุกนานถึง 42 ปี รวมทั้งยังถูกให้ต้องร่วมรับผิดชอบในค่าเสียหายที่เกิดขึ้นอีกประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท

"ภายหลังการซื้อขายทั้ง 4 ฉบับ มีการชำระค่าข้าวด้วยแคชเชียร์เช็คภายในประเทศหลายร้อยฉบับ และรับมอบข้าวไปโดยผู้รับมอบอำนาจที่เป็นคนไทยแล้วนำไปขายต่อให้ผู้ประกอบการค้าข้าวภายในประเทศ โดยไม่มีการส่งข้าวที่ซื้อขายไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนหรือส่งออกไปประเทศอื่น

เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151" สาระสำคัญของคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ

วิเคราะห์จากคำพิพากษาแล้วมองได้ว่าเหตุที่บุญทรงต้องติดคุกถึง 42 ปี เพราะศาลเห็นว่าความผิดที่เกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นนั้นเป็นลักษณะ "ความผิดหลายกรรมต่างกัน" ไม่ใช่ลักษณะ "กรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงโทษบทหนัก"

เมื่อศาลมองการกระทำของ บุญทรงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ย่อมทำให้เวลาที่จะพิจารณากำหนดโทษสามารถนำความผิดที่เกิดในแต่ละกรรมมารวมกันได้ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมบุญทรงถึงเป็นนักการเมือง ที่ได้รับโทษจำคุกสูงสุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของ บุญทรงเวลานี้ต้องยอมรับว่ายังมีทางสู้ แม้ตามเนื้อผ้าแล้วจะเป็นหนทางสู้ที่ค่อนข้างลำบากก็ตาม ซึ่งนั่นคือ การอุทธรณ์

มาตรา 195 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ระบุสาระสำคัญของ ขั้นตอนการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกาฯ ว่า ให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษา และการวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้ดำเนินการโดย องค์คณะของศาลฎีกาจำนวน 9 คน ซึ่งต้องไม่เป็นผู้พิพากษาที่เคยพิจารณาคดีดังกล่าวมาก่อน โดยให้ถือว่า คำวินิจฉัยอุทธรณ์ขององค์คณะชุดนี้เป็นคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ ซึ่งหมายความว่า คำวินิจฉัยขององค์คณะเป็นที่สิ้นสุด

ในวันที่ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ส.ค. บุญทรงได้ดำเนินการยื่นประกันตัวต่อศาลฎีกาฯ แต่ศาลยังไม่อนุญาต เพราะเห็นว่าการยื่นประกันตัวที่กระชั้นเกินไป ซึ่งทีมทนายความกำลังหาช่องทางและหลักทรัพย์เพื่อยื่นประกันตัวอีกครั้ง

ประเด็นเรื่องประกันตัว ถ้ามองตามเนื้อหาแล้วต้องยอมรับว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่จะได้รับการประกันตัว เนื่องจากต้องไม่ลืมว่าโทษจำคุกที่ บุญทรงได้รับถึง 42 ปีนั้นค่อนข้างสูง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จำเลย หลบหนีได้ การยื่นประกันตัวเพื่อให้ ตัวเองสามารถออกจากเรือนจำมาต่อสู้ จึงเป็นเรื่องที่ทีมทนายความของ บุญทรงต้องออกแรงเยอะพอสมควร

เมื่อการยื่นประกันตัวเป็นหนทางสู้ที่ลำบากแล้ว จึงทำให้ต้องกลับมาให้น้ำหนักกับการอุทธรณ์

มาตรา 195 ค่อนข้างเป็นประโยชน์แก่จำเลยพอสมควร เพราะถูกบังคับเงื่อนไขเพียงอย่างเดียว คือ ต้องยื่นอุทธรณ์ให้ทันภายใน 30 วันเท่านั้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลย มีหลักฐานหรือใหม่หรือไม่ ซึ่งต่างจากเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ในอดีตที่กำหนดต้องมีหลักฐานใหม่ด้วย จำเลยถึงจะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ของศาลฎีกาฯ ได้

ด้วยผลของมาตรา 195 จึงป็นการเปิดโอกาสให้บุญทรงมีช่องทางสู้อีกครั้ง ทีนี้ขึ้นอยู่กับว่าบุญทรงจะใช้สิทธินี้ เพื่อต่อสู้คดีอย่างไร

1.อุทธรณ์เพื่อให้ศาลฎีกาฯ ยกฟ้อง แน่นอนว่าประเด็นนี้ที่ต้องสู้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อให้บุญทรงได้อิสรภาพคืนมา และปลดล็อกให้ตัวเองพ้นผิด เพียงแต่ในทางปฏิบัติจะยืนหยัดต่อสู้อย่างไร เพราะแม้เงื่อนไขของการอุทธรณ์ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานใหม่ แต่ในทางปฏิบัติแล้วศาลฎีกาฯ ได้ไต่สวนข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้ว โอกาสที่หาหลักฐานใหม่เพื่อมาหักล้างข้อกล่าวหาคงทำได้ยาก หรือแม้แต่จะยกข้อกฎหมายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยน คำพิพากษาก็ทำได้ลำบากไม่แพ้กัน

2.อุทธรณ์เพื่อขอลดโทษ เป็นช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะไม่ได้เป็นการขอให้เปลี่ยนคำพิพากษา แต่เป็นการขอให้ลดโทษจาก 42 ปีลงมาให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยอาจยกกล่าวอ้างขึ้นมาว่า เนื่องจากจำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน จึงน่าจะเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักแก่การพิจารณาลดโทษจำเลย เหมือนกับบรรทัดฐาน ที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจขององค์คณะผู้พิพากษา ที่เลือกมาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ จะมีความเห็นอย่างไร

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าหนทางสู้ของบุญทรงยังพอมีอยู่บ้าง แต่ก็เต็มไปด้วยความลำบากพอสมควร