posttoday

โปรเจกต์แสนล้าน สู่ชาติพัฒนาแล้ว ฝันไกลของ 'มาเลเซีย'

24 กันยายน 2553

หลังวางแผนมาหลายปีและได้รับการตอกย้ำอีกครั้งอย่างชัดๆ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ซึ่งลั่นวาจาว่าจะเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ความเป็นชาติพัฒนาแล้วภายในปี 2020

หลังวางแผนมาหลายปีและได้รับการตอกย้ำอีกครั้งอย่างชัดๆ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ซึ่งลั่นวาจาว่าจะเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ความเป็นชาติพัฒนาแล้วภายในปี 2020

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

 

โปรเจกต์แสนล้าน สู่ชาติพัฒนาแล้ว ฝันไกลของ 'มาเลเซีย'

มาวันนี้ มาเลเซียได้แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดๆ แล้วว่าพร้อมเข้าเกียร์ลุยหน้าสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้กับแผนการล่าสุดในโครงการเปลี่ยนรูปแบบทางเศรษฐกิจ (อีทีพี) ครั้งสำคัญที่สุดของชาติ คือแผนการลงทุนมูลค่ามหาศาลกว่า 4.44 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 13.6 ล้านล้านบาท)

อภิมหาโปรเจกต์ในครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงนโยบายการส่งเสริมการลงทุนธรรมดาๆ ทว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ให้ความสำคัญครอบคลุมในแทบจะทุกภาคส่วน

โครงการลงทุนย่อยๆ กว่า 131 โครงการ กับ 12 ภาคการลงทุน ไล่ตั้งแต่ภาคพลังงานอย่างน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และปาล์มน้ำมัน รวมทั้งภาคการเกษตร การท่องเที่ยว การบริการภาคการเงิน การศึกษา ตลอดจนการลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน คือหัวใจหลักที่รัฐบาลมาเลเซียหมายมั่นปั้นมือจะให้เป็นแรงขับดันมาเลเซียไปสู่ความเป็นชาติพัฒนาแล้ว

ไม่เพียงแต่การลงทุนใน 12 ภาคข้างต้น มาเลเซียยังเตรียมความพร้อมด้วยการเร่งขยายเครือข่ายบรอดแบนด์ไปทั่วประเทศ พัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ รวมทั้งสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อไปยังสิงคโปร์

จากการคาดการณ์ของรัฐบาลมาเลเซีย หากอภิมหาโปรเจกต์ในครั้งนี้ดำเนินไปอย่างราบรื่นและเป็นไปตามแผนที่วางไว้ มาเลเซียจะสามารถสร้างตำแหน่งงานใหม่ให้เกิดขึ้นมากกว่า 3.3 ล้านตำแหน่ง

รายได้ประชาชาติของประเทศจากเดิมในปี 2009 อยู่ที่ 1.88 แสนล้านเหรียญสหรัฐ พุ่งไปอยู่ที่ 5.23 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2020

รายได้ต่อหัวของประชากรชาวมาเลเซียจากเดิมอยู่ที่ 6,700 เหรียญสหรัฐต่อปี ไปอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งจะทำให้มาเลเซียกลายเป็นประเทศที่มีรายได้สูงตามเกณฑ์ของธนาคารโลก

ขณะเดียวกันมาเลเซียก็จะกลายมาเป็นศูนย์กลางการให้บริการน้ำมันแห่งเอเชีย และจะกลายเป็นผู้ผลิตเซลล์สุริยะใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลกภายในปี 2020

ไอดริส จาลา รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ระบุถึงการตัดสินใจผุดอภิมหาโครงการขนาดยักษ์ในครั้งนี้ของมาเลเซีย ว่า มาเลเซียไม่มีเวลาที่จะปล่อยผ่านไปได้อีก เราต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางเศรษฐกิจอย่างฉับพลันและสมบูรณ์ อดีตที่เรามัวแต่พึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยกลไกเดิมๆ นั้นได้จบสิ้นลงไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม โครงการมูลค่าหลายแสนล้านที่หวังจะพลิกโฉมมาเลเซียให้กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วดังกล่าว ก็ถูกหลายฝ่ายประเมินว่าเป็นการตั้งเป้าหมายที่ “เกินตัว” และเป็นไปได้ยากหากจะไปให้ถึงฝั่งฝัน

“ความคาดหวังของรัฐบาลครั้งนี้ดูเหมือนว่าจะหื่นกระหายเกินไป ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติเลย” รามอน นาวารัตนัม ประธานศูนย์เพื่อการศึกษานโยบายสาธารณะของมาเลเซีย กล่าว

ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของมาเลเซีย ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะกีดกันนักลงทุนให้ไม่กล้าเข้ามาลงทุนในมาเลเซียก็คือ นโยบาย “ภูมิบุตร” หรือนโยบายที่รัฐบาลให้สิทธิพิเศษเฉพาะกับคนพื้นเมืองเชื้อสายมาเลย์

ที่ผ่านมา นโยบายภูมิบุตรของนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ได้สร้างความหนักใจให้กับบรรดานักลงทุนมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยชาวพื้นเมืองที่ถูกรัฐบาลอุปถัมภ์ค้ำชูและให้สิทธิพิเศษมาโดยตลอด ก็ได้กลายมาเป็นแรงงานที่ไม่มีทักษะและขาดความรู้ความสามารถ ซึ่งส่งผลกระทบในเชิงลบต่อเศรษฐกิจโดยรวม

ขณะเดียวกันเป้าหมายการลงทุนที่ตั้งไว้สูงถึง 4.44 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ก็ดูจะสวนทางกับมูลค่าการลงทุนทางตรงในมาเลเซียของปีที่ผ่านมา ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่องถึงกว่า 81% ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนหลายประเทศ ทั้งฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย รวมทั้งสิงคโปร์

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อย้อนกลับไปดูตัวเลขมูลค่าการลงทุนทางตรง10 ปีย้อนหลังของมาเลเซีย ก็จะพบว่ามูลค่าการลงทุนทางตรงของมาเลเซียโดยเฉลี่ยคิดเป็นเพียง 10% ของจีดีพี ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดของเอเชีย

ไม่เฉพาะแต่เป้าหมายด้านการลงทุนเท่านั้นที่ดูเหมือนจะห่างไกลความจริง เป้าหมายด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มาเลเซียตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องทำให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 6 ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลา 10 ปี ก็ถูกตั้งคำถามว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

เพราะเมื่อกลับไปพิจารณาอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเลเซียโดยเฉลี่ยนับตั้งแต่ปี 2000-2010 ก็กลับพบว่าอยู่ที่ร้อยละ 4.72 เท่านั้น ความพยายามที่จะรักษาระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเศรษฐกิจโลกจะยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัวให้ไม่ลดลงต่ำกว่าร้อยละ 6 จึงดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากยิ่ง

ทั้งนี้ เมื่อหันมาพิจารณาขีดความสามารถทางด้านแรงงานของมาเลเซีย ก็พบว่ายังห่างไกลมาตรฐานการเป็นประเทศพัฒนาแล้วอยู่มาก โดยมาเลเซียมีแรงงานที่มีฝีมืออยู่เพียง 25% ขณะที่สิงคโปร์และเกาหลีใต้มีอยู่ถึง 49% และ 35% ตามลำดับ ชาวมาเลเซียที่ได้รับการศึกษาในระดับสูงก็มีสัดส่วนที่น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยและสิงคโปร์

ในแง่ของการเตรียมความพร้อมไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว มาเลเซียก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านนวัตกรรม รวมทั้งการวิจัยและการพัฒนาในระดับต่ำ ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่ามาเลเซียใช้งบประมาณในการวิจัยและพัฒนาคิดเป็นเพียง 0.6% ของจีดีพี เปรียบเทียบกับเกาหลีใต้ 3.2% สิงคโปร์ 2.3% ออสเตรเลีย 2.2% จีน 1.4%

นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญในฐานะเครื่องชี้วัดความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงจากประเทศกำลังพัฒนาไปเป็นประเทศพัฒนาแล้วก็คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศจากการเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศที่เน้นการบริโภคภายในประเทศ ตลอดจนการโยกย้ายแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศจากภาคการผลิตมาสู่ภาคบริการและภาคการเงิน

มาเลเซียในฐานะประเทศที่จะก้าวไปเป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้วก็จำจะต้องเอาชนะความท้าทายดังกล่าวไปให้สำเร็จ

แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะได้ไม่คุ้มเสีย หรือถูกปรามาสว่าเป็นเพียงฝันลมๆ แล้งๆ รัฐบาลมาเลเซียก็ยังมั่นใจในศักยภาพและขีดความสามารถของประเทศตน และเตรียมเดินเครื่องโครงการลงทุนแสนล้านดังกล่าวในวันที่ 26 ต.ค.ที่จะถึงนี้

และถึงแม้จะเป็นการออกสตาร์ตที่เต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม หรือไม่ค่อยจะสวยงามเท่าใดนัก ทว่าความทะเยอทะยานที่เป็นการริเริ่มสิ่งยิ่งใหญ่เช่นนี้ ก็ต้องทำให้บรรดาประเทศเพื่อนบ้านรายรอบต้องหันมาให้ความสนใจ และนำไปปรับใช้กับการดำเนินนโยบายเพื่อปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศตนเองด้วยเหมือนกัน