posttoday

ทางสามแพร่งพิพากษา'ยิ่งลักษณ์'

25 สิงหาคม 2560

คาด 3 แนวทางพิพากษา คดี"ยิ่งลักษณ์" มีความผิดและสั่งจำคุก,มีความผิดแต่รอลงอาญาและไม่มีความผิด

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ในที่สุดการเมืองไทยก็เดินทางมาถึงกิโลเมตรที่สำคัญ เนื่องจากวันนี้ (25 ส.ค.) คนไทยทั้งประเทศจะได้รู้กันแล้วว่ามหากาพย์คดีจำนำข้าวที่มี "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นจำเลยหมายเลขหนึ่งจะมีบทสรุปออกมาเป็นอย่างไร

ณ วินาทีนี้ยังไม่มีใครอาจรู้ได้ว่าองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจำนวน 9 คนจะพิพากษายิ่งลักษณ์อย่างไร แต่หากจะให้ประเมินคำพิพากษาชี้ชะตาอนาคตยิ่งลักษณ์จะสามารถออกได้กี่หน้านั้น แน่นอนว่าคงหนีไม่พ้นหนึ่งในสามแนวทาง ดังต่อไปนี้

1.พิพากษาให้มีความผิดและสั่งจำคุก

หมายความว่ายิ่งลักษณ์มีความผิดตามที่อัยการสูงสุดทำสำนวนสั่งฟ้อง ย่อมเป็นไปได้ที่ศาลฎีกาฯ จะพิพากษาให้ยิ่งลักษณ์จำคุกทันที โดยไม่รอลงอาญา เหมือนกับการพิพากษาให้จำคุก "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีการซื้อขายที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษก
อย่างไรก็ตาม แม้ยิ่งลักษณ์จะถูกพิพากษาให้จำคุก แต่ยังมีสิทธิยื่นหลักทรัพย์เพื่อประกันตัวและยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ ซึ่งเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560  มาตรา 195 ได้บัญญัติรับรองเอาไว้

มาตรา 195  กำหนดขั้นตอนการอุทธรณ์ไว้พอสังเขปว่าต้องยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษา จากนั้นที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะตั้งองค์คณะจำนวน 9 คนเพื่อพิจารณาวินิจฉัยคำอุทธรณ์ ซึ่งจะต้องเป็นผู้พิพากษาที่ ไม่ได้เป็นผู้พิจารณาในคดีนี้มาก่อน

โดยเมื่อองค์คณะผู้พิพากษาชุดนี้มีความเห็นออกมาอย่างไร ให้ถือว่าเป็นคำวินิจฉัยของอุทธรณ์ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา หมายความว่าความเห็นขององค์คณะถือเป็นที่สุด

2.พิพากษาให้ไม่มีความผิด

เป็นคำพิพากษาที่ทีมทนายความและยิ่งลักษณ์มีความปรารถนามากที่สุด เพราะนั่นหมายความว่าข้อกล่าวหาทั้งหมดฟังไม่ขึ้น และยังเป็น การยืนยันว่าแม้โครงการรับจำนำ ข้าวจะเกิดความเสียหายและการทุจริตตามข้อเท็จจริง แต่ยิ่งลักษณ์ในฐานะนายกฯ ไม่ได้ปล่อยปละละเลยตามที่ถูกกล่าวหา

แต่กระนั้นอัยการสูงสุดในฐานะโจทก์สามารถใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ตามมาตรา 195 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เช่นเดียวกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่กำลังพิจารณาจะอุทธรณ์คำพิพากษายกฟ้องสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ ในคดีสลายการชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือไม่ในเวลานี้

3.พิพากษาให้มีความผิดแต่รอลงอาญา

เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่มีหลายฝ่ายวิเคราะห์กันว่ามีความเป็นไปได้พอสมควร เนื่องจากเป็นแนวคำพิพากษาที่ศาลฎีกาฯ เคยวินิจฉัยออกมาแล้วดังจะเห็นได้จากกรณีของคดีโครงการออกสลากเลขท้าย 2 ตัว และ 3 ตัว ซึ่งศาลฎีกาฯ พิพากษาให้ "วราเทพ รัตนากร" อดีต รมช.คลัง "สมใจนึก เองตระกูล" อดีตปลัดกระทรวง การคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล และ "ชัยวัฒน์ พสกภักดี" อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มีความผิดและให้ จำคุก แต่ให้รอลงอาญาคนละ 2 ปี เพราะจำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน

ดังนั้น หากมองในมุมที่ว่ายิ่งลักษณ์ไม่เคยทำผิดและถูกลงโทษในทางอาญามาก่อน ก็มีความเป็นไปได้ที่ถึงแม้ ยิ่งลักษณ์ถูกพิพากษาให้มีความผิด แต่อาจได้รับการรอลงอาญาไว้ก่อน อย่างไรก็ดี ถ้าคำพิพากษาออกมาในแนวทางนี้ขึ้นมา อัยการสูงสุดยังมีสิทธิอุทธรณ์ตามมาตรา 195 ได้เช่นกัน

หนึ่งในสามแนวทางที่ว่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อยิ่งลักษณ์เดินทางมาฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 ส.ค. เพราะถ้าไม่เป็นเช่นนั้น ศาลฎีกาฯ จะต้องเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไป 30 วัน พร้อมกับออกหมายจับ

โดยเมื่อพ้น 30 วันไปแล้ว ศาลจึงสามารถอ่านคำพิพากษาลับหลังได้ทันทีตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฉบับใหม่ยังไม่มีการประกาศใช้

นอกจากนี้ ที่สุดแล้วไม่ว่าผลของคำพิพากษาจะออกมาในรูปแบบใด จะไม่มีผลต่อการพิจารณาเรียกค่าเสียหายทางแพ่งตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

อิสรภาพกับอนาคตการเมือง

หากคำพิพากษาในวันนี้ไม่เป็นคุณแก่ยิ่งลักษณ์ นั่นย่อมหมายถึงอนาคตทางการเมืองที่ต้องดับวูบด้วยผลของคำพิพากษาและรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มาตรา 98 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 วางหลักเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร สส.ไว้ 18 ประการ โดยมีลักษณะต้องห้ามอยู่ 2 ประการที่อาจจะกระทบต่อยิ่งลักษณ์โดยตรง ได้แก่

1.เป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังโดยหมายของศาล2.เป็นบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก เพราะกระทำความผิดกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

เมื่อพิจารณาจากรัฐธรรมนูญแล้วทำให้สามารถวิเคราะห์ได้ว่าหากยิ่งลักษณ์ถูกพิพากษาจำคุกโดยต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำจริง เท่ากับว่าจะขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้สมัคร สส.ไปตลอดชีวิต จนกว่ารัฐธรรมนูญจะถูกแก้ไขเป็นอย่างอื่น

แต่มีประเด็นขบคิดหากศาลฎีกาฯ พิพากษาให้มีความผิดแต่รอลงอาญาจะมีผลอย่างไร?ถ้าดูจากมาตรา 98 ข้างต้นย่อมมีความเป็นไปได้พอสมควรที่ยิ่งลักษณ์อาจถูกตัดสิทธิการสมัคร สส.ตลอดชีวิตเช่นกัน เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติข้อยกเว้นเรื่องการรอลงอาญาเอาไว้ อีกทั้งรัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนไขไว้เพียงแค่การถูกศาลพิพากษาเป็นที่สุดในคดีทุจริตก็เพียงพอที่จะตัดสิทธิการสมัคร สส.อยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปในเรือนจำจริงๆ ทั้งตัวแต่อย่างใด

ด้วยเหตุผลของเรื่องทั้งหมด ถ้า "ยิ่งลักษณ์" ยังอยากกลับคืนสนามการเมือง คงต้องลุ้นให้ศาลฎีกาฯ ยกฟ้องเพื่อให้ตัวเองเป็นผู้บริสุทธิ์สถานเดียว