posttoday

จำนำข้าวชี้ขาดสุดท้ายที่อุทธรณ์

22 สิงหาคม 2560

นับถอยหลังสู่วันที่ 25 ส.ค. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดฟังคำพิพากษาในคดีจำนำข้าวถือเป็นคดีใหญ่ที่สังคมกำลังจับตาว่าผลจะออกมาอย่างไร

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

นับถอยหลังสู่วันที่ 25 ส.ค. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดฟังคำพิพากษาในคดีจำนำข้าวที่ถือเป็นคดีใหญ่ที่สังคมกำลังจับตาว่าผลจะออกมาอย่างไร

คดีแรก กับการปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตและความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว 5 แสนล้านบาท ของอดีตนายกรัฐมนตรี

ตามที่อัยการสูงสุดเป็นโจทย์ยื่นฟ้องฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)​ โทษจำคุก 1-10 ปี

คดีที่สอง คดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยมิชอบ ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง​อดีต รมช.พาณิชย์ และพวกรวม 28 ราย

อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และ 157 รวมถึงผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542

ท่ามกลางความเป็นห่วงว่านี่จะเป็นชนวนเพิ่มดีกรีความร้อนแรงทางการเมือง ดังจะเริ่มเห็นสัญญาณการเคลื่อนไหวทั้ง​การปลุกมวลชนออกมาให้กำลังใจในวันที่ 25 ส.ค. และสาระพัดมาตรการสกัดกั้นการเคลื่อนไหวจากฝั่งรัฐบาล คสช.คู่ขนานไปกับการเรียกแกนนำมาปรับทัศนคติ

ความสำคัญของคดีนี้อยู่ตรงที่เป็นการชี้ขาดความผิดของทั้ง​ยิ่งลักษณ์และบุญทรง หลังจากต่อสู้ทางคดีกันมายาวนานหลายปี ซึ่งมีเดิมพันถึงขั้นติดคุก อันจะมีผลต่อเนื่องไปถึงกระบวนการติดตามยึดทรัพย์ผ่านคำสั่งทางปกครองที่เดินหน้าแบบคู่ขนานก่อนหน้านี้

อีกด้านหนึ่งผลพวงของคำตัดสินยังส่งต่อไปถึงทิศทางทางการเมือง ทั้งอนาคตทางการเมืองของยิ่งลักษณ์และบุญทรง ตลอดจนความน่าเชื่อถือของพรรคเพื่อไทย เจ้าของนโยบายจำนำข้าว

แต่ทั้งหมดผลของคำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในวันที่ 25 ส.ค. ที่จะออกมานั้น เป็นเพียงแค่ยกแรกที่ยังต้องรอการชี้ขาดในชั้นอุทธรณ์ต่อไป

เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 กำหนดไว้ในมาตรา 195 เปิดช่องให้สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ​ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ต่างจากก่อนหน้านี้ที่การอุทธรณ์จะต้องมีพยานหลักฐานใหม่

โดยการวินิจฉัยอุทธรณ์ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตามวรรคสี่ ให้ดำเนินการโดยองค์คณะของศาลฎีกา ซึ่งประกอบไปด้วยผู้พิพากษา ในศาลฎีกา โดยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา หรือผู้พิพากษาอาวุโส ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาไม่เคยพิจารณาคดีนั้นมาก่อน

ดังนั้น ไม่ว่าคำพิพากษาในวันที่ 25 ส.ค. จะออกมาอย่างไร กระบวนการย่อมมีแนวโน้มที่จะต้องเดินหน้าต่อไป

ทั้งในกรณีที่คำพิพากษาออกมายกฟ้องยิ่งลักษณ์ ทางฝั่งอัยการสูงสุด จะต้องพิจารณาและเป็นผู้ชี้ขาดว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ หากไม่ยื่นจะต้องมีเหตุผลที่ชี้แจงกับสังคมได้ ทำไมถึงไม่เดินหน้าคดีไปให้สุดทาง และพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้สิ้นสงสัย  

อีกด้านหนึ่งในกรณีที่หากศาลตัดสินให้ยิ่งลักษณ์ มีความผิด แน่นอนว่าทางฝั่งยิ่งลักษณ์​ย่อมต้องใช้ช่องทางสุดท้ายนี้ ยื่​นอุทธรณ์ขอต่อสู้คดีพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง 

การชี้ขาดสุดท้ายของคดีนี้ จึงน่าจะอยู่ที่​ผลคำตัดสินในขั้นตอนการอุทธรณ์ ซึ่งไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร กระบวนการพิจารณาย่อมต้องยืดเวลาออกไปอีกสักพักกว่าจะสิ้นสุดขั้นตอนทั้งหมด

​นั่นทำให้สามารถลดดีกรีความร้อนแรงของอุณหภูมิการเมืองที่กำลังคุกรุ่นให้ลดน้อยลงไปหลังจากมีความพยายามปลุกมวลชนให้ออกมาให้กำลังใจ อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ หลายระลอก

​ยังไม่รวมกับกระบวนการยึดทรัพย์ตามคำสั่งทางปกครอง ทั้งของยิ่งลักษณ์และบุญทรงที่อาจจะต้องรอคำตัดสินทางคดีอาญาสิ้นสุดก่อน เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาในภายหลังหากคำตัดสินของศาลออกมายกฟ้องจำเลย

ดังที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เคยระบุก่อนหน้านี้ว่า ต้องฟังคำสั่งศาลอยู่เหมือนกัน ซึ่งเงินที่เอาออกมาจากการอายัดไว้ 5 บัญชี มาเก็บไว้ที่กรมบังคับคดี เป็นการให้เก็บรักษาไว้แทนธนาคาร ยังไม่ได้ยึดเป็นของหลวง ถ้าจะยึดจริงต้องส่งให้กับเจ้าหนี้คือ กระทรวงการคลังเอาเข้าหลวง

ช่วงเวลาดังกล่าวย่อมทำให้จำเลยสามารถได้หายใจหายคออีกระลอก กับการรอผลคำตัดสินในชั้นอุทธรณ์

ในอีกแง่หนึ่งย่อมช่วยลดความร้อนแรงทางการเมืองที่กำลังจะคุกรุ่น อยู่ในเวลานี้ให้กลับไปสู่สถานการณ์ปกติ ​ อันจะทำให้เส้นทางที่จะเดินหน้าไปตามโรดแมปที่ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำหนดไว้เดินหน้าไปสู่เป้าหมายอย่างที่ตั้งเป้าไว้
โดยไม่มีแรงเสียดทาน​