posttoday

'ยิ่งลักษณ์' สู้ยิบตา

22 สิงหาคม 2560

นับจากนี้ไปเหลืออีกเพียงไม่กี่วันก็จะถึงวันที่ 25 ส.ค. ซึ่งเป็นวันฟังคำพิพากษาประวัติศาสตร์ในคดีจำนำข้าวที่มี "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยแต่เพียงผู้เดียว

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

นับจากนี้ไปเหลืออีกเพียงไม่กี่วันก็จะถึงวันที่ 25 ส.ค. ซึ่งเป็นวันฟังคำพิพากษาประวัติศาสตร์ในคดีจำนำข้าวที่มี "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยแต่เพียงผู้เดียว

ตลอดเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา ยิ่งลักษณ์ได้ต่อสู้และปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาในทุกชั้นการพิจารณา ตั้งแต่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาจนถึงศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ประเด็นสำคัญที่ยิ่งลักษณ์ยกเป็นข้อต่อสู้กับอัยการสูงสุด คือ ยิ่งลักษณ์ในฐานะนายกฯ ไม่ได้ละเลยปล่อยให้โครงการรับจำนำข้าวเกิดการทุจริตตามที่มีการกล่าวหา อันเป็นประเด็นสำคัญที่ยิ่งลักษณ์ได้ย้ำไว้ในคำแถลงปิดคดี ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

ทุกหน่วยงานร่วมบูรณาการ

การดำเนินโครงการเมื่อเป็นการดำเนินการตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา ดิฉันในฐานะนายกรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลให้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายไม่อาจดำเนินการหรือสั่งการได้โดยลำพัง จึงได้กำหนดมาตรการ หลักเกณฑ์ และวิธีการ ในการดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการเพื่อร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ เพราะการดำเนินโครงการมีความเกี่ยวข้องกับกระทรวง กรม ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจต่างๆ จำนวนมาก อีกทั้งเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบที่มีอยู่หลายฉบับ ที่ดิฉันเองในฐานะนายกรัฐมนตรีไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้โดยลำพัง

ดิฉันได้แสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งด้วยการกำหนดให้มีแนวทางในการป้องกันการทุจริต และป้องกันความเสียหายที่ดิฉันได้ให้นโยบายและสั่งการในที่ประชุม กขช.ครั้งแรก ก่อนเริ่มดำเนินโครงการให้กับคณะทำงานและฝ่ายปฏิบัติว่า "ให้เคร่งครัดในเรื่องกระบวนการของข้าวให้เกิดความสุจริต โปร่งใส และสั่งการให้มีการบูรณาการและปรับปรุงระบบกระบวนการรับจำนำข้าวให้เกิดความสุจริตและโปร่งใส นำความชอบธรรมและความชัดเจนกับทุกหน่วยงาน และเน้นย้ำว่าการดำเนินงานในส่วนที่ผ่านมามีสิ่งใดคงค้างให้นำมาปรับปรุงและแก้ไขให้เสร็จสิ้น ให้มีการดูแลในเรื่องการทุจริตไม่ให้เกิดขึ้น" ซึ่งศาลที่เคารพสามารถตรวจสอบได้จากรายงานการประชุม กขช. ครั้งที่ 1/2554

ปปช.-สตง.ไร้อำนาจสั่งรัฐบาล

ในกรณีที่ ป.ป.ช. และ สตง. มีหนังสือท้วงติงมายังรัฐบาลเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า 2 หน่วยงานดังกล่าวไม่มีภารกิจและหน้าที่ตามกฎหมายที่จะสั่งให้ฝ่ายบริหารยับยั้งการดำเนินนโยบายสาธารณะที่ได้แถลงต่อรัฐสภา นอกจากนั้น สตง. และ ป.ป.ช. ก็ไม่ได้ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ และยังใช้ข้อมูลจากการเสนอข่าวโดยไม่มีการตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง ซึ่งไม่มีกฎหมายใดๆ บังคับให้ฝ่ายบริหารต้องยับยั้งโครงการตามหนังสือของ 2 หน่วยงานดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในฐานะนายกรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลให้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา ดิฉันไม่เคยละเลยเพิกเฉยในการกำกับและติดตามการปฏิบัติตามนโยบายที่ ป.ป.ช. สตง. และหน่วยงานอื่นท้วงติง ดิฉันไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริตตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด

จำนำข้าวสร้างปัญหา

ขณะที่ อัยการสูงสุด ในฐานะโจทก์ก็แถลงปิดคดีหักล้างข้อแก้ตัวของยิ่งลักษณ์เช่นกัน ซึ่งเป็นการย้ำว่าโครงการรับจำนำข้าวมีปัญหาและไม่ได้โปร่งใสตามที่จำเลยกล่าวอ้าง

การดำเนินโครงการดังกล่าวขาดทุน ส่งผลให้มีหนี้ค้างชำระต่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นจำนวนมาก การเสื่อมคุณภาพของข้าว รวมถึงปัญหาการไม่ให้ความสำคัญจริงต่อการติดตาม เร่งรัด และกระบวนการประเมินผลโครงการนี้ รวมถึงปัญหากรณีทุจริตและความไม่โปร่งใส

ไม่ปรากฏการแก้ทุจริต

ขณะเดียวกันโครงการนี้มีปัญหาหลายประการ เช่น การขึ้นทะเบียนเกษตรกร การสวมสิทธิเกษตรกร การแจ้งข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการปลูกข้าว ปัญหาการรับมอบข้าวเปลือก โรงสีตรวจสอบคุณภาพไม่ตรงกับข้อเท็จจริง จนเกิดช่องให้มีการหมุนเวียนข้าว ปัญหาการจัดเก็บข้าวสารในโกดังที่อยู่ในความดูแลขององค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) การสับเปลี่ยนข้าว และข้าวหาย

โดยทุกปัญหาส่วนใหญ่ไม่ได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่ายิ่งลักษณ์ได้ชี้แจงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

จากคำชี้แจงและข้อกล่าวหาทั้งหมด บทสรุปจะลงเอยอย่างไร วันที่ 25 ส.ค. คนไทยทั้งประเทศจะได้รู้คำตอบ